Blog Page 177

ข้อความต้อนรับ

|

วัตถุประสงค์ในการจัดทำเว็บไซต์นี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ต่อสาธารณชนในเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับบริษัทข้อมูลเครดิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

ในอนาคตอันใกล้นี้ “บริษัทข้อมูลเครดิต” จะเป็นสิ่งคุ้นเคยในวงการธุรกิจไทย สำหรับความเป็นมานั้น เราจะพบว่าบริษัทข้อมูลเครดิตได้ตั้งขึ้นมานานนับศตวรรษในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นบทพิสูจน์อย่างดีถึงประโยชน์ที่ผู้ใช้ข้อมูลเครดิตได้รับ นอกจากนี้ บริษัทข้อมูลเครดิตยังได้เอื้อประโยชน์ในการประเมินความเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อและช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างผู้ขอสินเชื่อและผู้ให้สินเชื่อด้วย สำหรับประโยชน์ในระยะยาว บริษัทข้อมูลเครดิตยังช่วยตรวจสอบ และป้องกันความเสี่ยง รวมทั้งการฉ้อฉลในการกู้ยืมอีกด้วย

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาต่างๆ จะเป็นประโยชน์กับท่าน ในการใช้เครดิตข้อมูลเครดิตของท่านอย่างเป็นประโยชน์ และชาญฉลาดต่อไป

 

ประวัติบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

|

แนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตนั้น ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 โดยสมาคมธนาคารไทยได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยว่ามีความประสงค์ให้มีแหล่งกลางสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการให้กู้ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแหล่งกลางในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มงานทะเบียนเครดิตกลางขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2538 รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบการเงินขึ้น โดยกล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตไว้ในส่วนขององค์กรทางการเงินที่สนับสนุนการพัฒนาระบบการเงิน และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านศูนย์ข้อมูลเครดิตขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมและดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต ซึ่งคณะทำงานดังกล่าว ก็ได้ดำเนินการจนกระทั่งจะมีการลงนามในข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในประเทศสหรัฐ อเมริกา ในปี พ.ศ. 2539 แต่ในระหว่างปี พ.ศ. 2539 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทย สถาบันการเงินถูกปิดกิจการไปจำนวนมาก และวิกฤตเศษฐกิจดังกล่าวนี้ก็ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตหยุดชะงักไป จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 กระทรวงการคลังได้ยืนยันนโยบายให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อและลดภาระหนี้เสียของสถาบันการเงินต่างๆ อันเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนของสถาบันการเงินในประเทศอยู่ในขณะนั้น ในเดือนกรกฎาคม 2541 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จึงได้สั่งการให้ ธอส. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศนโยบายให้สมาคมธนาคารไทยเร่งรัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต โดยสมาคมธนาคารไทยได้จัดตั้งทีมทำงานในรูปคณะกรรมการเพื่อสานภารกิจต่อไป การดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตจึงได้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่จัดตั้งโดย ธอส. ได้จัดตั้ง บริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด ขึ้น ส่วนฝ่ายธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ได้จัดตั้ง บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ขึ้น โดยทั้งสองบริษัทก็ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลลูกค้า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้สินเชื่อ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยฝ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2542 ด้วยทุนจดทะเบียน 26 ล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์ไทย 13 แห่งที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทยเป็นผู้ถือหุ้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ได้ให้บริการข้อมูลเครดิตทั้งด้านข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา และข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้สถาบันการเงินต่างๆ ได้ใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด และ ได้ลงทุนพัฒนาระบบรายงานข้อมูลเครดิต 2 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบรายงานข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา (Consumer Credit Reporting System) พัฒนาโดย บริษัท Trans Union International หนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการข้อมูลเครดิตของโลก และ 2) ระบบรายงานข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Credit Reporting System) พัฒนาโดย บริษัท Dun & Bradstreet บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน บริษัทผู้พัฒนาระบบทั้งสองบริษัทนับว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการพัฒนาระบบ และเพิ่มศักยภาพด้านบริการข้อมูลเครดิตของบริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ทั้งนี้ เพื่อให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น เป็นความร่วมมือระยะยาวและมีความต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2543 บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับทั้ง บริษัท Trans Union International และ บริษัท Dun & Bradstreet (ผ่านบริษัทร่วมทุนในประเทศไทยชื่อ บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน)) และได้เพิ่มทุน เป็น 156 ล้านบาทและเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 โดยยังคงมีธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 13 แห่งถือหุ้นจำนวนเท่าๆ กัน ในอัตราส่วน 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% บริษัท TransUnion Inc. และบริษัท Business Online จำกัด ถือหุ้นรายละ 25% ซึ่งต่อมาได้เพิ่มทุนอีกเป็น 186 ล้านบาทในอัตราส่วนผู้ถือหุ้นที่เท่าเดิม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 บริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด ได้รวมกิจการกับบริษัทข้อมูลเครดิตอีกแห่งหนึ่ง คือ บริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 250 ล้านบาท และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 ซึ่งมีผู้ถือหุ้นของบริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และธนาคารรวมทั้งสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลังการรวมกิจการ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทยถือหุ้นในอัตราส่วนเท่าๆ กันรวมเป็น 24.50% และบริษัท Business Online จำกัด (มหาชน) บริษัท TransUnion Inc. ถือหุ้นรายละ 12.25% รวมเป็น 24.50% รวมเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มบริษัทข้อมูลเครดิตกลางเดิมถือหุ้นเท่ากับ 49% และผู้ถือหุ้นกลุ่มบริษัทข้อมูลเครดิตไทยถือหุ้น 30% ได้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 15% และบริษัท พีซีซี แคปปิตอล จำกัด 15% ส่วนที่เหลืออีก 21% ถือหุ้นโดยสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือหุ้นในอัตราส่วน 9% 6% และ 6% ตามลำดับ

หลังจากการรวมกิจการเป็นต้นมา บริษัทได้พัฒนาระบบการประมวลผลและการรายงานผลข้อมูลเครดิตให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้นบริษัทยังได้พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลให้มีความถูกต้องและทันสมัย โดยเพิ่มศักยภาพทางด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยบริษัทได้กำหนดเป้าหมายที่จะทำการขอใบรับรองเกี่ยวกับระบบบริหารการจัดการความปลอดภัยด้านสารสนเทศ (Information Security Management System – ISMS) ตามมาตราฐานของ ISO 27001 ภายในปี 2550 นอกจากนั้น บริษัทได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลเครดิต ตลอดจนบทบาทของบริษัทข้อมูลเครดิตให้มากยิ่งขึ้น โดยบริษัทได้ยึดถือหลักการในการปกป้องและรักษาความลับของข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนคำนึงถือการดูแลและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน

คณะกรรมการบริษัทฯ

|

คณะกรรมการบริษัทฯ

ดร.กุลยา ตันติเตมิท ประธานกรรมการ
นายกมลภพ วีระพละ รองประธานกรรมการ
นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ กรรมการ
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการ
นางสาวสุธีรา ศรีไพบูลย์ กรรมการ
นายฮอย วิง วิงโก้ หว่อง กรรมการ
นายมินทร์ อิงค์ธเนศ กรรมการ
นายจเร เจียรธนะกานนท์ กรรมการ
นายจงรัก รัตนเพียร กรรมการ
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการอิสระ
ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการอิสระ
พลตำรวจเอกเจตน์ มงคลหัตถี ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท
นายธีระ อภัยวงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท
นายสิริยศ ศรีสุขสวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท
นายทวีศักดิ์ ฟุ้งเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท

ฝ่ายบริหาร

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่
ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ผู้อำนวยการใหญ่

จรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต

|

  • บริษัทฯ จะให้บริการข้อมูลเครดิตด้วยความซื่อสัตย์ ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของผู้ขอสินเชื่อและผู้ให้สินเชื่อ
  • บริษัทฯ จะดำเนินการให้มีความปลอดภัยสูงสุดในกระบวนการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลในฐานข้อมูลเครดิตของบริษัทฯ
  • บริษัทฯ จะให้บริการข้อมูลเครดิต เฉพาะแก่สมาชิก ผู้ใช้บริการ หรือเจ้าของข้อมูล ที่บริษัทฯ เห็นว่าเป็นผู้มีความจำเป็นโดยสุจริตตามกฎหมาย ในการใช้ข้อมูลเครดิตนั้น
  • บริษัทฯ จะให้คำปรึกษาแก่ผู้บริโภคที่มีข้อหารือเกี่ยวกับข้อมูลของตนที่บริษัทฯ ได้จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลเครดิตของบริษัทฯ
  • บริษัทฯ จะส่งเสริมให้มีการใช้ข้อมูลเครดิตเพื่อให้มีการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้บริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ โดยผ่านความร่วมมือกับองค์กรต่างๆที่เหมาะสม

นโยบายในการกำกับดูแลกิจการ

|

คณะกรรมการบริษัทฯ มีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้บริษัทฯ เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องการดำเนินธุรกิจ การกำกับดูแลกิจการ และการบริหารจัดการที่ดีเลิศ โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้มีส่วนได้เสีย

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการ โดยครอบคลุมหลักการสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. สิทธิของผู้ถือหุ้น และสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทตระหนักถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ที่จะให้แต่ละกลุ่มได้รับสิทธินั้นอย่างเต็มที่บนหลักการของความเป็นธรรม โดยการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายและระเบียบต่างๆ รวมทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้อง และจะดูแลให้มั่นใจว่าสิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครอง และปฏิบัติด้วยดี ดังนี้

ผู้ถือหุ้น : บริษัทมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานให้มีผลประกอบการที่ดี โดยมีกำไรที่เหมาะสม พร้อมทั้งรักษาความเป็นองค์กรหลักในการให้บริการข้อมูลเครดิตที่มีคุณภาพ เพื่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน

พนักงาน : บริษัทมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต เพื่อให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพและสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งจัดให้พนักงานมีสวัสดิการที่เหมาะสมตามสถานภาพของบริษัท

เจ้าของข้อมูล : บริษัทมุ่งมั่นที่จะคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามกฎหมาย และมีส่วนช่วยในการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน รวมทั้งการให้ความรู้ในการใช้ข้อมูลเครดิตให้เกิดประโยชน์ทางการเงินแก่เจ้าของข้อมูล

สมาชิก: บริษัทมุ่งมั่นที่จะให้บริการข้อมูลเครดิตที่มีประสิทธิภาพ ตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย: บริษัทมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย ในการสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบสถาบันการเงิน และการส่งเสริมให้เจ้าของข้อมูลมีวินัยทางการเงินตามเป้าหมายที่กฎหมายกำหนด

สังคม : บริษัทมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการดำเนินงานบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม สนับสนุนช่วยเหลือ และเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสมและขีดความสามารถที่บริษัทมีอยู่

2. ความโปร่งใสในการดำเนินงาน และการเก็บรักษาความลับส่วนบุคคล

บริษัทจะดำเนินการด้วยความความโปร่งใส โดยเปิดเผย ชัดเจน สามารถอธิบาย และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายในการรักษาความลับส่วนบุคคล ดังนี้

2.1.บริษัทถือว่าข้อมูลเครดิตของเจ้าของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลใดๆ ที่บริษัทได้รับจากสมาชิกจะถือเป็นความลับ พึงได้รับการปกป้องคุ้มครองและจัดเก็บในระบบข้อมูลเครดิตอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

2.2.บริษัทจะมีส่วนในการสนับสนุนการให้สินเชื่อ โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันแก่สถาบันการเงินเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าของข้อมูลได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อและบริการอื่นๆ ของสถาบันการเงินอย่างเท่าเทียมกัน

2.3.บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลเครดิตของเจ้าของข้อมูลได้เฉพาะกรณีที่ได้มีการปฏิบัติครบถ้วนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เว้นแต่จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

3. โครงสร้าง บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ และความเป็นอิสระ ของคณะกรรมการ

บริษัทตระหนักถึงหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสีย

3.1.คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นมาเป็นผู้กำกับแนวทางดำเนินการของบริษัท

3.2.กรรมการมีหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของบริษัท และกำกับควบคุมดูแล ให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการเพิ่มมูลค่าให้แก่กิจการและผู้มีส่วนได้เสีย

3.3.คณะกรรมการกำหนดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ และตามความจำเป็นโดยมีการกำหนดวาระการประชุมไว้ล่วงหน้าตลอดทั้งปี

3.4.คณะกรรมการจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง และระมัดระวัง โดยในการประชุมคณะกรรมการบริษัท กรรมการสามารถอภิปราย ซักถาม และแสดงความคิดเห็นตลอดจนใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจได้อย่างอิสระ เว้นแต่เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์

3.5.คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ในการเปิดเผยสารสนเทศ ทั้งที่เป็นสารสนเทศทางการเงินและที่ไม่ใช่ทางการเงินอย่างเพียงพอ เชื่อถือได้ และทันเวลา ตามที่กำหนดโดยกฎหมาย ข้อบังคับของบริษัท และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

3.6.คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดให้มีการทำรายงานทางการเงินของบริษัทให้ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง เชื่อถือได้และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป

3.7.คณะกรรมการบริษัทจะจัดให้มีคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ เพื่อช่วยกลั่นกรองงาน ศึกษาในรายละเอียด ติดตามหรือกำกับดูแลในเรื่องสำคัญตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย โดย ให้มีองค์ประกอบ บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และความจำเป็นของบริษัท เช่น คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน เป็นต้น

4.การควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง

บริษัทจะดำเนินการให้มีระบบการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้บริษัทมีการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศระเบียบ และกฎเกณฑ์ของทางการ และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

5.การมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

บริษัทตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และพร้อมให้ความร่วมมือ สนับสนุน ช่วยเหลือสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมตามกำลังความสามารถ

6.จรรยาบรรณและจริยธรรมของกรรมการ

กรรมการของบริษัทจะปฏิบัติหน้าที่ โดยมีจรรยาบรรณและจริยธรรม โดยมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

6.1.กรรมการจะยึดมั่นในหลักการของความซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรม โดยเฉพาะต่อผู้มีส่วนได้เสียและเจ้าของข้อมูลไว้เป็นประการสำคัญ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

6.2.กรรมการจะดำเนินการให้มีความปลอดภัยสูงสุดในกระบวนการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลในฐานข้อมูลเครดิต

6.3.กรรมการจะดำเนินการป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งทางผลประโยชน์

6.4.กรรมการจะปฏิบัติตนเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ ความชำนาญ และความระมัดระวังรอบคอบ

6.5.กรรมการจะดำเนินการให้มีโครงการ หรือแนวทางในการต่อต้านการทุจริต การคอร์รัปชั่น รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมและปลูกฝังให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

7. จรรยาบรรณและจริยธรรมของผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง

ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างทุกคนมีแนวทางในการประพฤติหน้าที่ โดยมีจรรยาบรรณและจริยธรรม ในเรื่องต่างๆ ดังนี้

7.1. ข้อพึงปฎิบัติในเรื่องส่วนตัวที่อาจกระทบกระเทือนถึงบริษัท

7.1.1.การวางตัว : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง พึงรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งตนให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เป็นการกระทบกระเทือนหรือเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงหรือผลประโยชน์ของบริษัท หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีที่วิญญูชนพึงจะปฏิบัติ

7.1.2.การใช้สิทธิทางการเมือง : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง พึงใช้สิทธิทางการเมืองตามบทบัญญัติแห่งกฏหมายและหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดๆ

7.1.3.การก่อหนี้ : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง พึงละเว้นการก่อหนี้ที่เกินกำลังความสามารถ

7.2.การมีวินัย : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง พึงประพฤติปฎิบัติตามนโยบาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ที่บริษัทกำหนด มีความเคร่งครัดในเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในระบบข้อมูลสารสนเทศ

7.3.การรักษาทรัพย์สินของบริษัท : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง พึงถนอมรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินทั้งปวงของบริษัท รวมถึงบรรดาสิทธิทุกชนิดทุกประเภท ตลอดจนความรู้ เทคนิค วิชาการ ข้อมูลและความลับทั้งปวง พึงใช้ทรัพย์สินทั้งปวงเพื่อประโยชน์แก่บริษัทอย่างเต็มที่และไม่นำเอาทรัพย์สินของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือบุคคลอื่นโดยมิชอบ

7.4.การรักษาข้อมูลความลับและการไม่แสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง ต้องไม่อาศัยหน้าที่การงานหรือการได้รับข้อมูลความลับจากการปฏิบัติหน้าที่ทั้งของบริษัท ของเจ้าของข้อมูล ของสมาชิก เพื่อแสวงหาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยตามเงื่อนไขของกฏหมาย

7.5.การปฎิบัติตนในฐานะตัวแทนบริษัท : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างเมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนบริษัทเพื่อการใด พึงหลีกเลี่ยงการรับผลประโยชน์อื่น นอกเหนือจากเบี้ยประชุมและบำเหน็จต่างๆที่ได้รับตามระเบียบ ข้อบังคับของกิจการหรือจากการนั้น และต้องพิจารณาถึงความสมเหตุผล และความเหมาะสม หรือความเป็นสัดส่วนจากการรับผลประโยชน์ที่ว่านั้นตามควรแก่กรณี

7.6.การอุทิศตน และอุทิศเวลา : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างพึงอุทิศตนและอุทิศเวลา ทุ่มเทการปฎิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ

7.7.การปฏิบัติหน้าที่และการมีจิตใจในการให้บริการ : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างพึงปฎิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตใจ ชอบด้วยเหตุผล มีประสิทธิภาพ และพึงให้บริการแก่เจ้าของข้อมูล สมาชิกและผู้ทำธุรกิจกับบริษัทอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

7.8.การวางตัวและการรักษาความสัมพันธ์ต่อเจ้าของข้อมูล สมาชิกและผู้ทำธุรกิจกับบริษัท

7.8.1การไม่เรียกรับผลประโยชน์ตอบแทน การรับสินจ้าง การรับของขวัญ : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างพึงระมัดระวัง และพิจารณาอย่างรอบคอบ ครบถ้วนว่าการได้รับผลประโยชน์ตอบแทน การรับสินจ้าง การรับของขวัญ นั้นสมกับเหตุผล และเป็นปกติวิสัยหรือไม่ มีความชอบธรรมที่ควรรับหรือไม่ เพียงใด โดยยึดหลักการพิจารณาเยี่ยงวิญญูชนผู้ประกอบวิชาชีพ

7.8.2.การเกี่ยวข้องทางการเงินหรือทรัพย์สิน : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างต้องไม่ยุ่งเกี่ยวในทางการเงินหรือทรัพย์สินของเจ้าของข้อมูล สมาชิกและผู้ทำธุรกิจกับบริษัทอย่างเด็ดขาด เว้นแต่จะเป็นการทำธุรกรรมตามปกติ

7.9.การปฏิบัติตนต่อผู้บังคับบัญชา : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างพึงเชื่อฟังและปฎิบัติตามคำสั่งโดยชอบของผู้บังคับบัญชา มีทัศนคติที่ดีต่อผู้บังคับบัญชาและปรับตนเองให้ทำงานร่วมกับผู้บังคับบัญชาได้

7.10.การปฏิบัติตนต่อผู้ใต้บังคับบัญชา : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างพึงรับฟัง เหตุผล ข้อมูล ข้อเท็จจริง จากผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างรอบด้าน ให้คำแนะนำ ในทางอันเป็นประโยชน์ทั้งต่อการทำงานและการปฎิบัติตนของผู้ใต้บังคับบัญชา ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีการพัฒนาตามศักยภาพอย่างเต็มที่

7.11.การปฏิบัติตนต่อพนักงานด้วยกัน : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างพึงสร้างเสริมและรักษาบรรยากาศแห่งความสามัคคี ความเข้าใจและความมีน้ำใจซึ่งกันและกัน

7.12.แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหา : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างพึงระลึกเสมอว่า จรรยาบรรณที่กำหนดไว้นี้ ไม่สามารถครอบคลุมถึงทุกเรื่อง ทุกกรณีที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นในทางปฏิบัติหากเกิดปัญหาหรือข้อสงสัยในประเด็นใดให้ทุกฝ่ายปรึกษาผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหรือหาแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป

7.13.การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น : ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง พึงจัดให้มีและดำเนินการตาม โครงการ หรือแนวทางในการต่อต้านการทุจริต การคอร์รัปชั่น รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมและปลูกฝังให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการกำกับดูแลกิจการฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2557 เป็นต้นไป โดยการอนุมัติของคณะกรรมการบริษัท ในการประชุมครั้งที่ 6/2557 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557

นายกุลิศ สมบัติศิริ
ประธานกรรมการบริษัท

นโยบายป้องกันความลับส่วนบุคคล

|

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มุ่งมั่นที่จะปกป้องคุ้มครองข้อมูลเครดิตของผู้บริโภคและนิติบุคคล ซึ่งบริษัทได้รับจากสมาชิกและเก็บไว้ในระบบข้อมูลของเรา

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ให้สินเชื่อและลุกค้าสินเชื่อ ช่วยให้ผู้ให้สินเชื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าสินเชื่อเพียงพอที่จะพิจารณาการให้สินเชื่อ ในทางกลับกัน สิ่งนี้ช่วยใหู้ลูกค้าสินเชื่อทุกรายได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อและบริการอื่นๆ ของสถาบันผู้ให้สินเชื่ออย่างเท่าเทียมกัน

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ถือว่าข้อมูลเครดิตของลูกค้าสินเชื่อเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลใดๆ ที่เราได้รับจากสมาชิกจะถือเป็นความลับ

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด จะเปิดเผยข้อมูลเครดิตของลูกค้าสินเชื่อ เฉพาะที่ได้ให้ความยินยอมต่อสมาชิกตามกฎหมาย เพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาให้สินเชื่อเท่านั้น และบริษัทจะไม่เปิดเผยข้อมูลเครดิตของลูกค้าสินเชื่อต่อบุคคลที่สามใดๆ เว้นแต่จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ

|

1.วัตถุประสงค์

เพื่อกำหนด อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ในการกำกับดูแลและตรวจสอบการบริหารงาน การควบคุมภายในและการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งการจัดทำรายงานทางการเงิน ให้เป็นไปตามนโยบายบัญชีและกฎระเบียบอย่างมีระบบและต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อก่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามนโยบายการตรวจสอบ และกำกับดูแลกิจการที่ดี

2.องค์ประกอบ

คณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ของบริษัทมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

2.1.มีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการไม่น้อยกว่า 2 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท

2.2.คณะกรรมการตรวจสอบอาจแต่งตั้งให้พนักงานบริษัท คนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบก็ได้

2.3.คณะกรรมการตรวจสอบ อาจแต่งตั้งให้พนักงานบริษัทหรือบุคคลภายนอกเป็นที่ปรึกษาได้ 1 คน

3.คุณสมบัติ

กรรมการตรวจสอบ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

3.1.ต้องเป็นกรรมการของบริษัท

3.2.สามารถปฏิบัติหน้าที่และแสดงความเห็นหรือรายงานผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของบริษัทได้โดยอิสระและเที่ยงธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องของบุคคลดังกล่าว

3.3.เป็นผู้ที่สามารถอุทิศเวลาและความคิดเห็นอย่างเพียงพอในการปฏิบัติงานในฐานะกรรมการตรวจสอบ

3.4.มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท มีความเข้าใจหลักการบริหารที่ดี สามารถวิเคราะห์ปัญหา มีวิจารณญาณและทักษะในการตัดสินใจที่ดี

3.5.คณะกรรมการตรวจสอบ อย่างน้อย 1 คน ต้องมีความรู้ความเข้าใจหรือมีประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถสอบทานความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงินได้ และมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงโดยรวม

4.วาระการดำรงตำแหน่ง

4.1.การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และเมื่อพ้นตำแหน่งแล้วอาจได้รับการแต่งตั้งได้อีก

4.2.กรณีมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบวาระ ควรแจ้งต่อคณะกรรมการบริษัทล่วงหน้า 1 เดือน พร้อมเหตุผล เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท ได้พิจารณาแต่งตั้งบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทดแทน

4.3.กรรมการตรวจสอบจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัท ครบวาระ ลาออก หรือคณะกรรมการบริษัทมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง หรือขาดคุณสมบัติในการปฏิบัติงานในฐานะกรรมการตรวจสอบตามที่กฏหมายกำหนด

4.4.ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ ว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากการออกตามวาระ ให้คณะกรรมการบริษัท แต่งตั้งกรรมการอื่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นกรรมการตรวจสอบแทนตำแหน่งที่ว่างลงให้ครบถ้วนภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีจำนวนกรรมการตรวจสอบไม่ครบ

5.อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ

คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้

5.1.สอบทานรายงานทางการเงินของบริษัท ให้ ครบถ้วนถูกต้องตามควร และน่าเชื่อถือ

5.2.ทบทวนการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีของบริษัท พิจารณาคัดเลือก เสนอแต่งตั้งและเสนอค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีต่อคณะกรรมการบริษัทฯ

5.3.กำหนดและทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ และกฎบัตรการตรวจสอบภายใน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ

5.4.พิจารณาและอนุมัติแผนการตรวจสอบภายใน นโยบาย วิธีการ และกระบวนการตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดทำและเปิดเผยคะแนนเครดิต คู่มือการปฏิบัติงานฝ่ายตรวจสอบภายใน งบประมาณและบุคลากรของฝ่ายตรวจสอบภายใน

5.5.ให้การสนับสนุนและดูแลความเป็นอิสระของฝ่ายตรวจสอบภายใน

5.6.พิจารณาและให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง ถอดถอน โยกย้าย เปลี่ยนตำแหน่ง หรือการเลิกจ้าง หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายใน และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ

5.7.พิจารณาและอนุมัติในการรับ และการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของพนักงานหรือลูกจ้างของฝ่ายตรวจสอบภายใน

5.8.ดูแลการจัดให้มีผู้ตรวจสอบภายนอกด้านสารสนเทศ หรือที่ปรึกษาจากภายนอก เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานตรวจสอบ หรือให้คำแนะนำ ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการบริษัท

5.9.ดูแลให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) และกระบวนการตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ที่เพียงพอ เหมาะสม และมีประสิทธิผล

5.10.พิจารณาและติดตามผลการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงของผู้สอบบัญชี และผู้ตรวจสอบภายใน ดูแลให้มีการปรับปรุงแก้ไขตามที่ผู้ตรวจสอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ตรวจสอบอิสระทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้ตรวจสอบภายในให้ความเห็น ข้อแนะนำ และข้อสังเกต

5.11.ดูแลให้บริษัทฯปฏิบัติตามข้อกำหนดของทางการและกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท

5.12.จัดทำรายงานประจำปี ของคณะกรรมการตรวจสอบ ลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบ และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท

5.13.สามารถเชิญฝ่ายจัดการ หัวหน้าหน่วยงาน หรือพนักงานบริษัท ฯ ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูล หรือให้ความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ หรือขอให้จัดส่งข้อมูล เอกสารที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร

5.14.หากพบหรือมีข้อสงสัยว่ามีรายการหรือการกระทำดังต่อไปนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงิน และ ผลการดำเนินงานของบริษัท ให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควร

(1) รายการที่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

(2) การทุจริต หรือมีสิ่งผิดปกติหรือมีความบกพร่องที่สำคัญในระบบการควบคุมภายใน

(3) การฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท

5.15.ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัท มอบหมาย

6.การประชุม

6.1.คณะกรรมการตรวจสอบ จะต้องจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยไตรมาสละหนึ่งครั้ง

6.2.ต้องมีกรรมการเข้าร่วมในการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะครบเป็นองค์ประชุม

6.3.มติที่ประชุมจะกระทำโดยได้รับเสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุมครบองค์ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมกา รตรวจสอบเป็นผู้ชี้ขาด

6.4.ในระหว่างการสรรหากรรมการตรวจสอบทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ให้กรรมการตรวจสอบฯ ที่เหลืออยู่จำนวนอย่างน้อย 2 คน สามารถดำเนินการประชุมและปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบได้ คณะกรรมการตรวจสอบ สามารถเชิญผู้เกี่ยวข้องได้แก่ กรรมการบริษัท ผู้บริหาร หรือพนักงาน ของบริษัท และ/ หรือบริษัทในกลุ่ม ผู้สอบบัญชี ให้เข้าร่วมประชุม หารือ ชี้แจง หรือตอบข้อซักถามได้

7.การรายงาน

7.1.ให้คณะกรรมการตรวจสอบ รายงานผลการประชุมและ/หรือการปฏิบัติหน้าที่ต่อคณะกรรมการบริษัท อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง

7.2.ในการจัดทำรายงานประจำปีของคณะกรรมการตรวจสอบควรระบุถึงเจตนารมณ์ วัตถุประสงค์ ความรับผิดชอบ และภารกิจหรือกิจกรรมของคณะกรรมการตรวจสอบที่ได้ดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา ให้คำแนะนำเพื่อการปรับปรุงต่อคณะกรรมการบริษัทฯ รวมทั้งการแสดงความเห็นต่อระบบควบคุมภายในและรายงานทางการเงิน

8.โครงสร้างองค์กร


คณะกรรมการตรวจสอบได้เห็นชอบกับร่างแก้ไขกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 และให้การแก้ไขกฎบัตรฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2559 โดยการอนุมัติของคณะกรรมการบริษัท ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 21มีนาคม 2559

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
ประธานกรรมการบริษัท

กฏบัตรการตรวจสอบภายใน

|

กฎบัตรนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับมีความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ขอบเขตการปฏิบัติงาน อำนาจ บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “บริษัท”) ซึ่งได้รับความเห็นชอบและได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทแล้ว ตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 และวันที่ 21 มีนาคม 2559 ตามลำดับ ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบภายใน

เพื่อสนับสนุนให้บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เพียงพอ เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของบริษัทแก่สมาชิก คู่ค้า ผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และหน่วยงานราชการ ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

2. ขอบเขตของการตรวจสอบภายใน

ให้มีการดำเนินการตรวจสอบโดยรวมถึง

2.1 สอบทานและประเมินความเพียงพอและความมีประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายในของบริษัท

2.2 สอบทานความเชื่อถือได้ของข้อมูลทางบัญชีและรายงานทางการเงิน วิธีการบันทึกบัญชี และมาตรฐานการบัญชี

2.3 ประเมินความถูกต้องเชื่อถือได้และความเพียงพอของระบบงานต่างๆ และระบบสารสนเทศรวมถึงความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ให้มีการควบคุมภายในที่รัดกุม เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

2.4 สอบทานความเพียงพอและเหมาะสมของการบันทึก การใช้ และการดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของบริษัท

2.5 สอบทานการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

2.6 สอบทานและประเมินการควบคุมภายในของระบบการปฏิบัติงานของหน่วยงานภายในบริษัท ให้ปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับของบริษัท รวมทั้งปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคุณภาพของการปฏิบัติงานภายในบริษัท

2.7 สังเกตการณ์ ตรวจสอบ สอบทาน หรือสอบสวนงานต่างๆที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ หรือผู้จัดการใหญ่ในการหาข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงาน หรือ ประเด็นทุจริตต่างๆ

2.8 ให้คำปรึกษา แนะนำหรือข้อคิดเห็น ตลอดจนแนวปฏิบัติงานเพื่อให้มีระบบการควบคุมภายในที่รัดกุมและเหมาะสม

3. มาตรฐานการตรวจสอบภายใน

การปฏิบัติงานของหน่วยงานตรวจสอบภายในต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพตรวจสอบภายในของสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย

4. อำนาจในการตรวจสอบภายใน

4.1 ผู้ตรวจสอบภายในมีสิทธิที่จะขอเข้าทำการตรวจสอบทรัพย์สินและกิจกรรมต่างๆของบริษัท รวมทั้งการขอตรวจสอบหนังสือ บัญชี และเอกสารประกอบการบันทึกบัญชี จดหมายโต้ตอบ และรายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของหน่วยงานรับตรวจ

4.2 ผู้ตรวจสอบภายในมีสิทธิขอให้ผู้รับตรวจให้ข้อมูล เอกสาร และคำชี้แจงในเรื่องที่ทำการตรวจสอบ โดยผู้บริหารและพนักงานของหน่วยงานรับตรวจจะต้องให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกต่อการตรวจสอบอย่างเต็มที่

5. ความเป็นอิสระ

5.1 หน่วยงานตรวจสอบภายในมีความเป็นอิสระ โดยผู้ตรวจสอบภายในรายงานตรงต่อหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน และหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

5.2 กิจกรรมการตรวจสอบต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นอิสระ ทั้งในด้านขอบเขตของการตรวจสอบ ขั้นตอน ระยะเวลา เนื้อหาของรายงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานตรวจสอบเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายและเป็นไปตามแผนการตรวจสอบที่วางไว้

5.3 ผู้ตรวจสอบภายในและหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานอื่นของบริษัทที่มิใช่งานเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระและความเที่ยงธรรมของผู้ตรวจสอบภายใน

5.4 ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องเปิดเผยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจมีขึ้นจากการปฏิบัติงานตรวจสอบต่อหัวหน้าตรวจสอบภายใน

5.5 หากความเป็นอิสระถูกกระทบทั้งโดยข้อเท็จจริง หรือโดยพฤติกรรมที่แสดงให้เห็น ผู้ตรวจสอบภายในต้องเปิดเผยรายละเอียดของผลกระทบต่อหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

ทั้งนี้ ผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารทุกระดับมีหน้าที่ในการช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานตรวจสอบภายในบรรลุตามหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และจะต้องไม่สั่งการหรือกระทำการใดๆอันจะเป็นการขัดขวางหรือลดทอนความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายใน

6. การรายงานผลการตรวจสอบ

หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน เสนอรายงานผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และส่งสำเนาให้ผู้จัดการใหญ่

7. สายการบังคับบัญชา

7.1 หน่วยงานตรวจสอบภายในขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

7.2 คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง ถอดถอน โยกย้าย เปลี่ยนตำแหน่ง หรือการเลิกจ้าง หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ

7.3 คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้พิจารณาและอนุมัติในการรับ และการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของหรือลูกจ้างของฝ่ายตรวจสอบภายใน โดยหัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายในเป็นผู้ให้ความเห็น และหากคณะกรรมการตรวจสอบอนุมัติแล้วให้นำเสนอผู้จัดการใหญ่ของบริษัทเพื่อดำเนินการ

8. หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานตรวจสอบภายใน

8.1 ผู้ตรวจสอบภายในมีหน้าที่ในการตรวจสอบตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพตรวจสอบภายใน

8.2 จัดทำแผนงานตรวจสอบภายในประจำปี นำเสนอคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาอนุมัติภายในเดือนสุดท้ายรอบปีบัญชีของบริษัท

8.3 ตรวจสอบ ประเมินผล และติดตามดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ของบริษัทให้เป็นไปตามนโยบาย ระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งข้อกำหนดของกฎหมาย

8.4 สอบทานและรายงานความเชื่อถือได้และความครบถ้วนของข้อมูลทางการเงิน และมิใช่ทางการเงิน (Finance and Non Finance) ของบริษัท

8.5 ตรวจสอบระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงทุกขั้นตอนการปฏิบัติงานของแต่ละ หน่วยงาน เพื่อให้มีความมั่นใจว่ามีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม รัดกุม และเพียงพอที่จะบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และเป็นไปตามกระบวนการการกำกับดูแลกิจการที่ดี

8.6 ตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเป็นการตรวจสอบการควบคุมทั่วไปของระบบ (IT General Controls) และตรวจสอบการควบคุมเฉพาะระบบงาน (IT Application Controls)

8.7 ให้คำปรึกษา คำแนะนำ สอบทาน และ เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลกิจการที่ดี แก่ผู้บริหาร และหน่วยงานรับตรวจ

8.8 รายงานข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญทั้งหมดที่ตรวจพบอย่างครบถ้วน แก่คณะกรรมการตรวจสอบ และผู้จัดการใหญ่

8.9 ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการตามข้อแนะนำจากการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ผู้สอบบัญชี ผู้ตรวจการธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานราชการที่กำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้นำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล

8.10 จัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อฝ่ายจัดการเพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน นับจากวันที่ตรวจสอบแล้วเสร็จ และสรุปเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทราบเป็นประจำทุกครั้งที่มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ

8.11 ในกรณีที่ผลการตรวจสอบพบว่ามีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในต้องรายงานผลการตรวจสอบให้ผู้จัดการใหญ่และคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาโดยพลัน

8.12 ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชี ผู้ตรวจการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการอื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรายงานสรุปสิ่งที่ได้ดำเนินการไปให้ผู้จัดการใหญ่ทราบ

8.13 ปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบภายใน

8.14 หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ

8.15 ปฏิบัติงานตรวจสอบอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริษัทหรือผู้จัดการใหญ่

8.16 กำหนดและทบทวนนโยบาย วิธีการ และกระบวนการตรวจสอบการปฎิบัติงานเกี่ยวกับ การจัดทำและเปิดเผยคะแนนเครดิต และคู่มือการปฏิบัติงานฝ่ายตรวจสอบภายใน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาอนุมัติ

9. การพัฒนาคุณภาพบุคลากร

9.1 ผู้ตรวจสอบภายในควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากองค์กรให้ได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ และความสามารถ โดยการให้เข้าร่วมในการพัฒนาและอบรมทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

9.2 หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพงานตรวจสอบ โดยมีแบบสอบถามให้หน่วยงานรับตรวจแสดงความเห็นหลังจากปิดการตรวจสอบทุกครั้ง

10. จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบภายใน

ผู้ตรวจสอบภายในพึงยึดถือปฏิบัติและดำรงไว้ซึ่งหลักจรรยาบรรณ เพื่อรักษาชื่อเสียง และส่งเสริมเกียรติคุณของผู้ตรวจสอบภายในและสาขาวิชาชีพของตน ดังต่อไปนี้

10.1 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร

10.2 มีความเที่ยงธรรม ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ

10.3 มีสำนึกรับผิดชอบ เอาใจใส่ มุ่งมั่นและทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ

10.4 เก็บรักษาความลับของข้อมูลที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน ไม่เปิดเผยข้อมูลหรือรายงานผลการตรวจสอบแก่บุคคลภายนอก หรือบุคคลภายในบริษัทที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานที่ตรวจสอบ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากกรรมการตรวจสอบ และไม่ใช้ข้อมูลที่ได้มาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือขัดต่อวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

10.5 ไม่รับสิ่งของหรือผลตอบแทนใดๆ และไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นอิสระหรือไม่เที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่

10.6 ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง

10.7 ไม่กระทำการใดๆ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมใดๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อวิชาชีพการตรวจสอบภายใน ต่อตนเองหรือบริษัท

10.8 พึงเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จอย่างมีคุณภาพ

10.9 มีความภักดีต่อบริษัท และให้ความร่วมมือในกิจกรรมทั้งปวงของบริษัท

10.10 ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พนักงานของหน่วยงานอื่นๆ ในการถือปฏิบัติโดยเคร่ง ครัดตามกฎระเบียบของบริษัท ตลอดจนหลักจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบภายในที่กำหนดโดยสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทยซึ่งให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎบัตรนี้

ให้หน่วยงานตรวจสอบภายในพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎบัตรเป็นประจำทุกปี หากเห็นสมควรเปลี่ยนแปลง ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณา กฎบัตรนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป โดยการอนุมัติของคณะกรรมการบริษัท ในการประชุมครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
ประธานกรรมการบริษัท

วิสัยทัศน์/พันธกิจ/ค่านิยม – Vision/Mission/Value

วิสัยทัศน์

เป็นบริษัทข้อมูลเครดิตชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย และเป็นองค์กรหลักในการทำให้บริการข้อมูลเครดิต ที่มีคุณภาพสำหรับสถาบันการเงิน และส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน เพื่อสร้างเสริมเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ

พันธกิจ

  1. คุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูล และให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงิน
  2. พัฒนาระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และสนับสนุนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน
  3. รักษามาตรฐานคุณภาพข้อมูลเครดิตให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และทันสมัย
  4. มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเครดิตที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
  5. มีการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่อง
  6. พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ และความเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต

ค่านิยม

  1. เป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลเครดิตให้แก่ประชาชน
  2. มีประสิทธิภาพ และจิตสำนึกที่ดีในการให้บริการ
  3. รักษาความลับและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
  4. ซื่อตรง โปร่งใส และเคร่งครัดในกฎระเบียบ
  5. มีระบบข้อมูลเครดิตที่มาตรฐาน และกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
  6. เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และทันสมัย
  7. ทำงานเป็นทีม
  8. พัฒนาพนักงานให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า

เรื่องน่าอ่าน