Blog Page 4

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : รู้เท่าทันป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงิน ตรวจเครดิตบูโร (แบบสรุป) ฟรี!! ผ่านแอป “ทางรัฐ” : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 18 ตุลาคม 2567

รู้เท่าทันป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงิน ตรวจเครดิตบูโร (แบบสรุป) ฟรี!! ผ่านแอป “ทางรัฐ”  

เครดิตบูโรได้พัฒนาและให้ความสำคัญการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจเครดิตบูโรอย่างต่อเนื่อง เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงินในยุคปัจจุบัน และเช็กสุขภาพการเงินของตนเอง นั่นคือ บริการตรวจเครดิตบูโร (แบบสรุป) ฟรี ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นซูเปอร์แอปของภาครัฐที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เชื่อมโยงบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ในแอปเดียว ตอบไลฟ์สไตล์ของประชาชนยุคดิจิทัลที่ต้องการยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รายงานเครดิตบูโร (แบบสรุป) นั้น จะประกอบด้วยข้อมูลจำนวนบัญชีสินเชื่อ ที่จะแสดงจำนวนบัญชีทั้งหมด บัญชีที่เปิดอยู่ บัญชีที่ปิดแล้ว วงเงินสินเชื่อรวม และยอดหนี้คงเหลือรวม อีกทั้งจะมีประเภทบัญชีสินเชื่อ ได้แก่ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล บ้าน เช่าซื้อ อื่น ๆ และยอดหนี้คงเหลือแต่ละประเภทบัญชีอีกด้วย ทั้งนี้ รายงานเครดิตบูโร (แบบสรุป) เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเจ้าของข้อมูล เพื่อตรวจสอบจำนวนบัญชีสินเชื่อ และยอดหนี้ที่ถูกจัดเก็บไว้ในเครดิตบูโรเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงต่อบุคคลใดได้ครับ

สำหรับขั้นตอนการใช้บริการตรวจเครดิตบูโร (แบบสรุป) ฟรี ท่านสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ทั้งระบบ IOS และ Android เลือก ‘สมัครสมาชิกด้วยบัตรประชาชน’ และทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) บนแอปทางรัฐก็สามารถใช้งานได้ หลังจากนั้นเลือกที่เมนู “เครดิตบูโร” ท่านก็จะได้รายงานเครดิตบูโร (แบบสรุป) ทันที

การยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิต เจ้าของข้อมูลยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตนเอง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เครดิตบูโรได้ให้ความสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินด้วยตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องการออม ภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ข่าวเครดิตบูโร 010/2567 : เสียงสะท้อนจากงาน BOT Symposium 2024

ข่าวเครดิตบูโร 010/2567

เสียงสะท้อนจากงาน BOT Symposium 2024

20 กันยายน 2567 : นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยถึงข้อมูลที่ได้รับฟังจากงานเสวนาในงาน​ BOT​ Symposium​ 2024 รู้สึกดีใจที่​ Micro Data ของลูกเป็นหนี้​ 25 ล้านกว่าคน ได้ถูกนำไปฉายภาพให้เห็นเป็นจริงว่าเวลานี้มีลูกหนี้ที่แข็งแรงจริง ๆ​ เพียง 25% ส่วนที่เหลือคือลูกหนี้ต้องทำอะไรบางประการ​ไม่อย่างนั้นก็ได้กลายเป็นลูกหนี้ที่กำลังป่วย และคนเป็นหนี้เสียหรือ​ NPL ​17%

มีข้อความสอบถามว่า​ มาตรการแก้ไขหนี้รายย่อยขณะนี้คิดว่าเพียงพอ​ เหมาะสม​ สอดคล้องกับขนาดของปัญหา​ และพอจะเห็นทางออกหรือไม่ เข้าใจว่าท่านผู้สอบถามเห็นข้อมูล​ Special Mention (SM) กระโด่ดเพิ่มขึ้น ​1.7 แสนล้านบาท​ภายใน 1 เดือน

คำตอบของคือ เงื่อนไข​ 3 ประการที่จะมีส่วนให้การแก้หนี้มีผล​บรรลุได้ ต้องให้ครบทั้ง 3 ส่วน ดังนี้

  1. ความตั้งใจจริงของลูกหนี้ในการชำระหนี้
  2. ขีดจำกัดของเจ้าหนี้
  3. ความยืดหยุ่นในกติกาการแก้หนี้ปัญหาหนี้

เพราะทุกการแก้ไขจะมีความเสียหายเกิด เช่น​ ดอกเบี้ยที่เป็นรายได้ของเจ้าหนี้จะได้ไม่เต็มจำนวน ลูกหนี้จะขาดสภาพคล่องในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเงินไม่เพียงพอพอหลังจ่ายหนี้​ กติกาติดขัด​ ไม่หยืดหยุ่น ถ้าทั้ง 3 ส่วนนั้นมีความเห็นแก่ตัว​ ไม่คิดถึงคนอื่น​ เรื่องมันก็จะไม่จบ สุดท้ายจะต้องพึ่งกระบวนการทางศาล​ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดี​ ซึ่งสิ่งที่เกิดกับลูกหนี้คือชีวิตจะเละ​ ในส่วนเจ้าหนี้ คือ หนี้สูญ​ กำไรลด​ ขาดทุน

ข่าวเครดิตบูโร 009/2567 : ฐานข้อมูล​สถิติที่ไม่มีตัวตน (no privacy) ของเครดิตบูโร ณ เดือนกรกฎา​คม​ 2567​

ข่าวเครดิตบูโร 009/2567

ฐานข้อมูล​สถิติที่ไม่มีตัวตน (no privacy) ของเครดิตบูโร ณ เดือนกรกฎา​คม​ 2567

19 กันยายน 2567 : นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยถึง ข้อมูล​เดือนกรกฎา​คม​ 2567​ จากฐานข้อมูล​สถิติที่ไม่มีตัวตน (no privacy) หรือเดือนที่ 7 ของปีที่ลูกหนี้ยังอยู่ในสภาพมีหลุมรายได้และภูเขาหนี้ ดังนี้

  1. ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในฐานข้อมูล​สถิติ​เครดิตบูโร​เท่ากับ​ 13.6 ล้านล้านบาท แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนมิถุนายน​ 2567 เลย​ที่พอจะเพิ่มได้บ้างคือ​ Nano​ finance +4.7% Month on month (MoM)
  2. NPL ขยับเพิ่มจาก​ 1.16 ล้านล้านบาท เป็น​ 1.19 ล้านล้านบาท​ คิดเป็น​ 8.7% ของหนี้รวม​ ซึ่งเคยประมาณ​การ​ณ์ว่าคงจะไปถึง​ 1.2 ล้านล้านบาทไม่ช้าไม่นาน​ กล่าวคือไหลต่อแต่ไม่แบบฉับพลัน

  1. กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษหรือ Special Mention (SM) ซึ่งหมายถึงหนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน ที่น่าสนใจ​คือ ​ในเดือนมิถุนายน​ 2567​ ปรับลดลงมาจากไตรมาสก่อนอย่างมากจนเหลือ​ 5 แสนล้านบาทแต่ผ่านไป​ 1 เดือนเข้าเดือนกรกฎา​คมมันกลับกระโด่ดขึ้นมาเป็น​ 6.7 แสนล้านบาท​ เพิ่มขึ้น​ 1.7 แสนล้านบาท​ ดูจากตารางด้านล่างจะพบว่า สินเชื่อบ้านเพิ่มจาก​ 1.43 แสนล้านบาทเป็น​ 1.69 แสนล้านบาทโตขึ้น​ 18% สินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มจาก​ 8.5 หมื่นล้านบาทเป็น​ 1.13 แสนล้านบาทโตขึ้น​ 33% สินเชื่อธุรกิจกู้​จาก​ 2.6 หมื่นล้านบาทมาเป็น​ 4.4 หมื่นล้านบาท​โตขึ้น​ 69% สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิตยังคงนิ่ง ๆ และลดลง

ข่าวเครดิตบูโร 004/2567 : ปรับโครงสร้างหนี้ เมษายน พุ่ง 9 หมื่นล้านบาท​ 1.3 แสนบัญชี

ข่าวเครดิตบูโร 004/2567

ปรับโครงสร้างหนี้ เมษายน พุ่ง 9 หมื่นล้านบาท​ 1.3 แสนบัญชี

23 มิถุนายน 2567 :  นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างหนี้ของครัวเรือนไทยที่ผ่านมาว่าข้อมูล​ว่าด้วยเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน​ ป้องกันอะไร​ ป้องกันจากการตกชั้นจากบัญชีสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ​ SM​ หรือบัญชีหนี้ที่กำลังจะเสียกลายไปเป็นหนี้เสียหรือ​ NPLs​ นั่นเอง

  1. ในอดีตตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของ​ covid-19 หรือในระหว่างเกิด​วิกฤติ​ covid-19​ ในกรณีที่​บัญชีสินเชื่อใดก็ตามเริ่มออกอาการค้างชำระ​ อาจจะเป็น​ 1, 2, หรือ​ 3 งวด​ หากแต่ยังไม่เกิน​ 90 วัน​ มีการเลี้ยงงวดการชำระหนี้แบบไปๆ มาๆ​ กลับมาเป็นหนี้ปกติก็ไม่ได้​ แต่ก็ไม่กลายไปเป็นหนี้เสียให้รู้แล้ว​รู้รอด​ การที่ลูกหนี้ร้องขอผ่อนผันและเจ้าหนี้ก็ยอม​ ตกลงกันทำสิ่งที่เรียกว่า​ การปรับโครงสร้างหนี้หรือ​ DR หรือ​ Debt Restructure จะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของการตกชั้น
  2. ในช่วงการระบาดของ​ covid-19 ฝั่งเจ้าหนี้ก็เห็นสัญญาณ​การค้างชำระ​ ฝั่งคนกำกับดูแลก็ได้กลิ่นควันไฟ​ ตามคำขวัญ​ “จับควันให้ไว​ ดับไฟให้ทัน​ ป้องกันอย่าให้ลาม” พร้อมกับประเด็นว่าการให้สินเชื่อควรจะมีข้อมูลไหมว่า​ บัญชีสินเชื่อของลูกหนี้​ บัญชีไหนมีการทำ​ DR บ้าง​ ทางคนให้กู้ก็บอกว่าถ้าไม่รู้ชัดเจน​ จะเกิดความระแวง​ ระมัดระวัง​มาก​ ตั้งการ์ด​สูง​ คนมาขอกู้ก็จะถูกปฎิเสธ​ ควรจะมีการติดรหัสบอกว่า​ บัญชี​นี้มีการทำ​ DR ฝั่งคนกำกับดูแลก็บอกว่า​ ถ้าคนให้กู้รู้ชัดจากรหัสก็อาจจะรีบปฎิเส​ธการให้สินเชื่อ​ ที่สุดก็คือไม่มีการติดรหัส​ DR แต่ให้เจ้าหนี้รายงานตรงกับผู้กำกับดูแล​

ดังนั้นข้อมูล​ว่ามีการทำ​ DR มากน้อย​ เพิ่มขึ้น/ลดลงในช่วงก่อน​ ระหว่าง​ covid-19 ​ระบาดจึงมีที่เดียว​ ณ​ ริมฝั่งเจ้าพระยา​ มีข้อเรียกร้องจากผมมาตลอดว่าควรเปิดเผย​ โปร่งใส​ ชัดเจนว่า​ ในสถานการณ์​แต่ละช่วงมีการทำ​ DR ประมาณ​ไหน​ สังคมจะได้เห็นแนวโน้มความหนักเบาและความรุนแรงของปัญหา​

  1. ต่อมาเมื่อมีนโยบาย มาตรการแก้หนี้ยั่งยืน การให้กู้อย่างรับผิดชอบ​ ทางการผู้กำกับดูแลได้ตัดสินใจว่า​ บัญชีสินเชื่อใดก็ตามถ้ามีการลงนามในข้อตกลง ข้อสัญญาการปรับโคร​งสร้างหนี้​ขณะที่ปกติหรือเริ่มค้างชำระ​ แต่การค้างยังไม่เกิน​ 90 วัน​ ตั้งแต่​ 1 เมษายน​ 2567​ เป็นต้นไป​

บัญชีสินเชื่อนั้นจะมีการติดรหัสการมีสถานะเป็น​ DR เพื่อให้สถาบันการเงิน​ที่รับใบสมัครสินเชื่อมาแล้วตรวจเครดิตบูโร​ของคนที่มายื่นขอกู้จะเห็นความชัดเจนว่าเจ้าของบัญชีสินเชื่อนั้น​ สถานะปัจจุบัน​เป็นอย่างไร​ มีศักย​ภาพ​ในการชำระหนี้ประมาณ​ไหน​ ควรจะได้สินเชื่อไหม

  1. ในเดือนเมษายน​ 2567 ตามกติกาใหม่​ โปร่งใสมากขึ้น​ จากข้อมู​ลสถิติที่ไม่มีตัวตนพบว่า มีการทำ​ DR เกือบ​ 9 หมื่นล้านบาท​ 1.29 แสนบัญชีสินเชื่อ P-Loan ทำ​ DR. 3.8 หมื่นล้านบาท​ 5.7 หมื่นบัญชี ขณะที่ สินเชื่อบ้าน​ ทำ​ DR 2.9 หมื่นล้านบาท​ เกือบ​ 2 หมื่นบัญชี​ ข้อมูล​รายละเอียดตามตารางด้านล่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือสถาบันการเงิน​ของรัฐทำ​ DR​ 6.5 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมด​เกือบ​ 9 หมื่น​ล้าน​บาท​ มีจำนวนบัญชีสูงถึง​ 6.9 หมื่นบัญชี​ รายละเอียด​ตามตารางข้อมูล​สถิติ

5.ข้อมูล​ในตารางถือเป็นหมุดหมายสำคัญในเรื่องความได้ผลสำเร็จ​ของการเร่งปรับโครงสร้าง​หนี้​ก่อนไหลเป็นหนี้เสีย​ ยอดสะสมในเดือนต่อๆ ไปตั้งแต่ความจริงปรากฏจะบอกได้ว่า​ มาตรการ​ 2 ต้อง​ 1 ไม่​ ที่กำหนดมาว่า​ เจ้าหนี้เมื่อปล่อย​กู้ไปแล้วต่อมาลูกหนี้ไม่ไหว​ เริ่มค้าง​ ต้องยื่นข้อเสนอทำ​ DR​ อย่างน้อยหนึ่งครั้ง​ และถ้าไหลไปเป็นหนี้เสียจริง​ ต้องให้โอกาสลูกหนี้ทำ​ TDR (Troubled Debt Restructuring: TDR) อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง​ รวมทั้งต้องไม่ขายหนี้บัญชี​ดังกล่าวออกไปให้กับ​ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) อย่างน้อย​ 60 วัน​ มาตรการนี้ไม่ใช่ขอความร่วมมือแบบในอดีต​ แต่เป็นมาตรการบังคับตามกฎหมาย​

  1. การทำ​ DR แบบยื่นข้อเสนอแบบเจ้าหนี้ต้องเสนอลูกหนี้​ มันมาพร้อมกับความเข้มของมาตรฐานการบัญชีที่ระบุว่า​ ในกรณีที่​มีข้อบ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญที่เรียกว่า​ SICR (Significant Increase in Credit Risk: SICR) เกิดขึ้นเช่น​ บัญชีสินเชื่อนั้นๆ ค้างเกิน​ 31 วั น​ จะต้องถือว่าบัญชีนั้นเป็น​ SM​ พอเป็นแล้วจะกลับมาเป็นปกติได้ก็ต้องทำ​ DR พอได้ทำสัญญาหรือข้อตกลงแล้ว​ ตัวลูกหนี้ก็ต้องหาเงินมาชำระหนี้ตามเงื่อนไข​ DR ติดต่อกันไปอย่างน้อย​ 3 งวด​ สถานะจึงจะกลับมาเป็นบัญชีปกติได้​

กติกาที่เปิดเผยข้อมูล​ครบถ้วน​ ทันสมัยมากขึ้น​ การเข้มมาตรฐานทางบัญชีมากขึ้น​ การเข้มข้นการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ​ การระบุการประเมิน​ พิสูจน์​ทราบความมีศักย​ภาพ​ในการหารายได้มาชำระหนี้ตามตารางที่กำหนดขึ้น​ ในเวลานี้​ ในปีพ.ศ. นี้​ ท่านผู้อ่านคิดว่า​ อัตราการเติบโตของสินเชื่อ​ อัตราการอนุมัติสินเชื่อ​ ความเข้มข้น​ ยืดหยุ่น​ ความเจือจาง​ในนโยบายสินเชื่อจะไปในทิศทางไหน​

สุดท้าย​ ความตั้งใจของเราที่ต้องการให้หนี้ครัวเรือน​ไทยมาอยู่ในระดับ​ 80% ของ​ GDP จะเป็นไปได้ในเร็ววันไหม​ ถ้าตัวเศษคือหนี้ครัวเรือน​มันวิ่ง​ด้วยอัตราการโต 3-4% ขณะที่ตัวส่วนคือ​ GDP มันวิ่งด้วยความเร็วในการโต​ 2-3%

เรากำลังกดตัวไหนให้วิ่งช้า​ เรากำลังปั๊มตัวไหนให้วิ่งเร็ว​ หากแต่ว่าถ้าเราๆ ท่านๆ ถูกวัดด้วยมาตรฐาน​การประเมินศักยภาพ​ ความสามารถ​ในการหารายได้​ ความสามารถ​ในการชำระหนี้​ ตัวเราๆ ท่านๆ ถ้าไปยื่นขอกู้เวลานี้​ กติกาตอนนี้​ ท่านคิดว่าท่านจะได้คำตอบแบบไหน

ข่าวเครดิตบูโร 003/2567 : รายงานสินเชื่อบ้านไตรมาสที่​ 1/2567 จากข้อมู​ลสถิติของเครดิตบูโร

ข่าวเครดิตบูโร 003/2567

รายงานสินเชื่อบ้านไตรมาสที่​ 1/2567 จากข้อมู​ลสถิติของเครดิตบูโร

15 พฤษภาคม 2567 :  นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า รายงานสินเชื่อบ้าน จากข้อมู​ลสถิติของเครดิตบูโร ในไตรมาสที่​ 1/2567  ข้อมู​ลที่สมาชิก​สถาบันการเงิน​ส่งเข้ามาในระบบของเครดิตบูโร ดังนี้​

ภาพรวมในการยื่นขอสินเชื่อบ้านจะพบว่ามีการถูกปฎิเสธสูงมาก​ เรียกได้ว่า​ 100 ใบ สมัครผ่านการพิจารณา​เบื้องต้น​ 50 ใบ​  เหตุเพราะมีการตรวจประเมินรายได้เข้มข้น​ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขอกู้มีศักยภาพ คือ ต้องมีรายได้แน่นอน​ มั่นคง​ เพียงพอ​ สม่ำเสมอ​ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์​ว่าลูกหนี้จะต้องมีความสามารถ​ในการชำระหนี้ตามตารางการชำระหนี้ได้ตลอด ​ ลำดับถัดไปคือ ตรวจเครดิตบูโร​ว่ามีภาระหนี้มากแค่ไหน​ มีประวัติการค้างชำระหรือไม่​ เพื่อประเมินความตั้งใจในการชำระหนี้​

บัญชีที่เปิดใหม่ของสินเชื่อบ้านในแต่ละปีจำนวนเท่าไหร่​ และคนวัยไหนเป็นผู้ได้สินเชื่อ​  จากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่คือ​ Gen Y​  สัดส่วนสูงขึ้นทุก ๆ ปี​ ที่สำคัญคือ​ วงเงินสินเชื่อบ้านระดับที่ไม่เกิน​ 3 ล้านบาท​

เมื่อเราดูตารางการเปิดบัญชี​ใหม่ของสินเชื่อบ้านในแต่ละปีก็จะพบว่า​ปี​ 2018​ หรือ​ ปี 2561 มีจำนวนเกินกว่า​ 4.3 แสนบัญชี​ ปีก่อนสถานการณ์โควิดอยู่ที่ระดับ​ 3.7​ แสนบัญชี​  ปีที่แล้วอยู่ที่​ 3.3 แสนบัญชี​  ในไตรมาสแรกของปี 2567 ได้เพียง 5.9 หมื่นบัญชี​ พบว่าน้อยลงตามลำดับ ​ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขายได้ยาก​ กู้ไม่ผ่าน​ ปริมาณเหลือมาก​ อยากให้ลดเงื่อนไข เช่น​ LTV​ หลังที่สองหลังที่สาม​ เป็นต้น

สถานการณ์​ในภาพรวมของสินเชื่อบ้าน​ เส้นสีดำที่พุ่งขึ้น คือหนี้บ้านที่เคยเป็น​ NPLs แล้วมีการนำมาปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (หนี้ทำ​ TDR)​ ภาพมันบอกว่าปรับกันมาก​ เส้นสีแดงคือหนี้เสีย​ ไตรมาสนี้มีการยกตัวขึ้นมาอยู่ที่​  2.0 แสนล้านบาทเติบโต​ 18%YoY (Year on Year) สัดส่วนในหนี้เสียรวม (1.09 ล้านล้านบาท) ประมาณ​ 20% ​ เส้นสีเหลืองคือหนี้บ้านที่เริ่มค้างชำระแต่ยังไม่เลย​ 90 วัน​ เรียกหนี้ตรงนี้ว่าหนี้กำลังจะเสียหรือ​ (Special Mention Loan: SM)  มันมาหยุดที่​ 1.8 แสนล้านบาทเติบโต​ 15% YoY ดีขึ้นกว่า​ Q4/2566 ที่เติบโต​ 31% YoY ที่สำคัญคือ​ 1.2 แสนล้านบาทอยู่ในความดูแลขอแบงก์​ภาครัฐ​ การปรับโครงสร้างหนี้จะมีความยืดหยุ่น​ ผ่อนปรน​ ไม่ขึงตึงเท่าทางฝั่งเอกชน ​ สามารถจะดูเป็นยอดเงิน จำนวนบัญชี หรือเป็น​เปอร์เซ็นต์ได้ตามเหมาะสม

จากภาพแสดงกราฟแท่งสีแดง คือหนี้ที่ค้างเกิน​ 90 วันหรือหนี้เสียของสินเชื่อบ้าน​ แท่งสีเหลืองคือหนี้กำลังจะเสียหรือ​ SM สินเชื่อบ้าน​ กราฟแทงด้านซ้ายคือจำนวนบัญชีแยกตามช่วงวัยของ​ Generation ในแต่ละไตรมาส​ เช่น ไตรมาส​ 1 ปี​ 2567​ Gen Y ถือสัญญาสินเชื่อบ้านที่เป็น​ NPL เท่ากับ​ 83,281 สัญญา​ คิดเป็นเงิน​ 1.24 แสนล้านบาท​ ในกรณีของ​ SM​ บ้านที่อยู่ในมือคน​ Gen Y​ ช่วงเวลาเดียวกันนี้​มีจำนวน​ 76,276 สัญญา​ คิดเป็นเงิน​ 1.18 แสนล้านบาท​ คน​ Gen Y​ เป็นหนี้เสียบ้านกว่า​ 50% ของหนี้เสียบ้านทั้งหมด​(1.24/2.0แสนล้านบาท) และก็กว่า​ 50% อีกเหมือนกันที่คน​ Gen Y​ เป็นหนี้กำลังจะเสียส่วนใหญ่ (1.18/1.8แสนล้านบาท)

ข่าวเครดิตบูโร 002/2567 : ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกเครดิตบูโร

ข่าวเครดิตบูโร 002/2567

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกเครดิตบูโร

 7 พฤษภาคม 2567 :  นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยถึง  ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกเครดิตบูโรที่ถูกต้อง มีดังนี้  

  1. การเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร​นั้นเป็นเรื่องความสมัครใจของกิจการนิติบุคคล​ที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อซึ่งอาจจะเป็นบัตรเครดิต​ สินเชื่อส่วนบุคคล​ สินเชื่อบ้าน​ สินเชื่อธุรกิจ​ เช่าซื้อ​ หรือสินเชื่อเกษตร เป็นต้น
  1. นิติบุคคล​ดังกล่าวจะต้องเป็นสถาบันการเงิน​ตามคำนิยามของกฎหมายการประกอบธุรกิจข้อมูล​เครดิต​ ตัวอย่างเช่น​ ธนาคารพาณิชย์​ ธนาคารของรัฐ​ บริษัทบัตรเครดิต​ บริษัทเช่าซื้อรถยนต์​ รถจักรยานยนต์​ เช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า​ อุปกรณ์​การเกษตร​ เป็นต้น
  1. หน้าที่ของสถาบั​นการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร​ตามกฎหมายโดยไม่ต้องขอความยินยอม คือ​ การส่งข้อมูล​บัญชีสินเชื่อที่มีประวัติการชำระหนี้ของสินเชื่อประเภทนั้นๆ​ ว่ามียอดคงค้างเท่าไหร่​ กู้เดี่ยวกู้ร่วม​ เปิดบัญชีเมื่อไหร่​ ชำระครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่​ การผ่อนชำระแต่ละเดือนมีสถานะอย่างไร​ เป็นปกติ​ หรือค้างชำระ​ เป็นต้น​ โดยข้อมูล​นั้นจะต้องมีความถูกต้อง​ ครบถ้วน​ ทันสมัย​ พร้อมใช้งาน​ ที่สำคัญในกรณีที่พบว่าข้อมูล​อาจไม่ถูกต้อง​ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง​ กฎหมายกำหนดให้สมาชิกต้องเป็นคนเข้าไปแก้ไขให้ตรงกับข​อเท็จจริง​ เครดิตบูโร​ถูกสั่งห้ามไม่ให้แก้ไขข้อมูล​ใดๆ​ เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เช่น​ ศาลสั่งให้แก้​ คณะกรรมการ​คุ้มครอง​ข้อมูล​เครดิต​สั่งให้แก้ เป็นต้น​ และเมื่อส่งข้อมูล​เข้าระบบแล้ว​ ในครั้งแรกของการส่งข้อมูล​ จะต้องมีหนังสือแจ้งว่าในฐานะสมาชิกได้ส่งข้อมูล​อะไรให้กับเครดิตบูโร​ ตลอดจนเมื่อสิ้นปีก็ต้องส่งข้อมูล​อีกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ส่งข้อมูล​อะไรให้กับเครดิตบูโร​การที่กฎหมายวางหลักให้การส่งข้อมูล​เป็นหน้าที่ของสมาชิกก็เพราะว่า​ ข้อเท็จจริง​ทั้งหมดคนที่รู้คือเจ้าหนี้กับลูกหนี้​ บุคคล​ที่สามที่ดูแลข้อมูล​จะใช้วิธีการควบคุมคุณภาพข้อมูลตามมาตร​ฐานสากลมากลั่นกรอง​ สอบทานก่อนนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ​ ที่เราเรียกกันว่า​ กระบวนการควบคุมดูแล​คุณภาพข้อมูล​ เช่น​ บัญชีนี้ถูกส่งมาว่าปิดบัญชี​แล้วแต่ทำไมยังมียอดหนี้คงค้าง​ อย่างนี้ก็จะถูกสกัดออกไป เป็นต้น
  1. การลาออกจากการเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร​ การลาออกก็เป็นไปด้วยความสมัครใจเช่นกัน​ อาจจะมีหลายสาเหตุ เช่น​ ธุรกรรมน้อยไม่คุ้มกับการเป็นสมาชิก​ หยุดหรือเลิกกิจการ​ ถูกควบรวมกิจการ​ ไม่คิดว่าข้อมูล​เครดิตที่ตนเองเรียกดูได้ภายใต้ความยินยอมในการวิเคราะห์สินเชื่อนั้นนั้นมีคุณค่าเพียงพอ​ หรือข้อมูล​ที่สมาชิกนำส่งนั้นมีปัญหามากต้องใช้เวลาแก้ไข​ จนส่งข้อมูล​ไม่ทันตามกำหนดเวลา​ มีการปรับเปลี่ยนระบบงานจนทำให้การส่งข้อมูล​ล่าช้า​ ส่งไม่ทันตามกำหนด​ได้​ เป็นต้น​ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลทางธุรกิจ​ เหตุผลทางการบริหารจัดการข้อมูล​ อันนี้แล้วแต่ประเด็นสำคัญ​ของสมาชิกเป็นสำคัญ

เมื่อมีการลาออกจริงจากการเป็นสมาชิกเครดิตบูโร​  สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ​ เครดิตบูโร​จะดำเนินการลบข้อมูล​ทั้งหมดที่มีอยู่ของบัญชีสินเชื่อที่มีการนำส่งเข้ามา เคยส่งเข้ามา​ 3 เดือนย้อนหลังก็ลบทิ้งทั้งสามเดือน​ การลบทำลายคือจะไม่มีข้อมูลบัญชีสินเชื่อนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่ออะไรก็ตาม​ นั่นคือ ลบบัญชีที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้สมาชิกสถาบันการเงิน​ที่ลาออกนั้นออกจากระบบฐานข้อมูล​ในวันที่การลาออกมีผลบังคับ​  นั่นคือ การที่สถาบันการเงินจะ​เข้ามาเป็นสมาชิกก็จะมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ​ ความสามารถ​ในการส่งข้อมูล​ การดูแลความถูกต้องของข้อมูล​ การรักษาความลับและสิทธิของลูกหนี้ผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ​ ส่วนการลาออกก็เป็นสิทธิ​ของสถาบันการเงินเช่นกัน​ ไม่มีการบังคับกัน​ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย​ตามมาตรฐานสากล​ หรือเข้ามาเป็นเพราะเห็นประโยชน์​ มีความสามารถเข้ามาได้​ ผ่านเกณฑ์​การประเมิน​ ส่งข้อมูล​ได้​ และเมื่อเห็นว่าไม่มีความจำเป็นก็ลาออกไปได้  เครดิตบูโรมีหน้าที่ดำเนินการตามที่กฎหมาย กติกาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

คอลัมน์เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : สิทธิของเจ้าของข้อมูล ตรวจเครดิตบูโร…ฟรี  เมื่อสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อโดยอ้างว่าเป็นเพราะเครดิตบูโร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 27 กันยายน 2567

สิทธิของเจ้าของข้อมูล ตรวจเครดิตบูโร…ฟรี  เมื่อสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อโดยอ้างว่าเป็นเพราะเครดิตบูโร

สิทธิของเจ้าของข้อมูล ตรวจเครดิตบูโร…ฟรี  เมื่อสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อโดยอ้างว่าเป็นเพราะเครดิตบูโร   บทความครั้งนี้ ผมจะขอกล่าวถึงกรณีที่ท่านไปยื่นขอสินเชื่อ แล้วปรากฏว่าสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร มีเหตุให้ต้องปฏิเสธการให้สินเชื่อ โดยมีการอ้างว่าเป็นเพราะเครดิตบูโร

ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ได้กำหนดการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของข้อมูลหรือตัวท่านที่คุ้มครองดูแลประชาชน ดังนั้นเมื่อท่านถูกปฏิเสธ/ไม่ให้สินเชื่อ โดยมีการอ้างว่าเป็นเพราะ “เครดิตบูโร” เพียงนำหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกมาแสดงหลักฐาน พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของตนเอง สามารถตรวจเครดิตบูโร ฟรี! ภายใน 30 วันนับจากวันที่ในหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อ ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ดังนี้ 1.วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00-16.30 น. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9)   2.วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี)   3.วันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00-18.00 น. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1  

สำหรับกรณีขอตรวจสอบกรณีถูกปฏิเสธสินเชื่อผ่านทางไปรษณีย์ เพียงท่านกรอกแบบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์เครดิตบูโร www.ncb.co.th) ให้ครบถ้วน พร้อมหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิก และสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงนามสำเนาถูกต้อง ส่งมาที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ส่วนบริการเจ้าของข้อมูล เลขที่ 33/4 อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2  ถนนพระราม 9 ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โดยเครดิตบูโรจะจัดส่งรายงานข้อมูลเครดิตให้ตามที่อยู่ในบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือที่อยู่ที่ทางบริษัทจะสามารถตรวจสอบได้  

ทั้งนี้ การพิจารณาสินเชื่อเป็นดุลยพินิจของสถาบันการเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ หรือ นโยบายสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินในขณะนั้น ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ข้อมูลเครดิตเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งในการนำไปประกอบการพิจารณาสินเชื่อเท่านั้น นอกเหนือจากข้อมูลจากแหล่งอื่น ที่สถาบันการเงินใช้ประกอบการพิจารณา เช่น รายได้ รายจ่าย อาชีพ ประวัติการออม อายุงาน หรือ หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติหรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร บุคคลใดอ้างกับท่านแจ้งเรื่องได้ที่ consumer@ncb.co.th

ข่าวเครดิตบูโร 008/2567 : “สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ” สหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งแรกในเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯ ร่วมมือ “เครดิตบูโร” ในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์  

ข่าวเครดิตบูโร 008/2567

“สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ” สหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งแรกในเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯ ร่วมมือ “เครดิตบูโร” ในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์  

 25 กันยายน 2567 : สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด (สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ) และ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพิเศษแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกของสหกรณ์“ นับเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งแรกในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร โดยเครดิตบูโรให้การสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกของสหกรณ์ในการแก้ปัญหาหนี้สิน ส่งเสริมการปรับพฤติกรรมในการจำกัดหนี้ และจำกัดการขอสินเชื่อ เพื่อให้การบริหารจัดการภาระหนี้สินของตนเองมีความเหมาะสม สนับสนุนช่วยเหลือข้าราชการครู เพื่อเสริมแกร่งความรู้ทางการเงิน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำโครงการดังกล่าว

นายสุวิทย์ สุพัฒนานนท์ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ กล่าวว่า “สหกรณ์ฯ เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ รายแรกในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เห็นความสำคัญของการลงนามในครั้งนี้  โดยปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกรวม 11,351 คน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 มีสินทรัพย์จำนวน 10,779,404,238.39 บาท มีสมาชิกที่เป็นลูกหนี้สหกรณ์ 6,751 คิดเป็นร้อยละ 59.47 ของสมาชิกทั้งหมด คิดเป็นมูลหนี้รวม 10,287,457,876.14 บาท โดยสหกรณ์ฯ ได้เปิดโครงการปรับโครงสร้างหนี้แก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ ฯ ตั้งแต่ช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 436 ราย มูลหนี้ที่ช่วยเหลือกว่า 11.31 ล้านบาท คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 63 เป็นผู้รับผิดชอบโครงการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่มีภาระหนักในการดำรงชีวิต เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ในการดำรงชีวิตเพิ่มจากเดิม ซึ่งสหกรณ์ช่วยเหลือ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงให้ต่ำกว่าเงินกู้ประเภททั่วไป โครงการปรับโครงสร้างหนี้ดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ 4.00 – 4.50 และขยายวงเงินการผ่อนชำระต่อเดือนลดลง ทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” 

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า “นับเป็นเรื่องยินดีอย่างยิ่งที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการเล็งเห็นสำคัญในการเข้าร่วมในโครงการนี้ โดยเครดิตบูโรยินดีช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว อีกทั้งเป็นการส่งเสริม กำกับให้สมาชิกของสหกรณ์ฯ ปรับพฤติกรรมในการจำกัดหนี้เพิ่ม และจำกัดการขอสินเชื่อด้วยตนเอง เพื่อให้การบริหารจัดการภาระหนี้สินของตนเองให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามศักยภาพที่สามารถชำระหนี้ได้  รวมทั้งมีเป้าหมายขยายผลการสนับสนุนช่วยเหลือไปยังภูมิภาคการศึกษาหรือสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นต่อไป”

ทั้งนี้ โครงการพิเศษแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกของสหกรณ์นั้น เครดิตบูโรจะสนับสนุนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยจัดทำบริการเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ผู้ประสงค์เข้าโครงการรวมภาระหนี้สินจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ทั้งหมดของสมาชิกที่มีปัญหาวิกฤติและแสดงเจตนารมณ์ไม่ก่อหนี้เพิ่มโดยสมัครใจไว้ในรายงานข้อมูลเครดิตของตนเองก่อนได้รับเงินกู้ช่วยเหลือในการรวมหนี้สิน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการก่อหนี้สินในช่วงเข้ารับการแก้ไขปัญหาโดยผู้ให้สินเชื่อที่ร่วมโครงการปัจจุบัน จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หลุดพ้นวงจรหนี้ ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีสุขภาพทางการเงินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน หากสหกรณ์ออมทรัพย์อื่น ๆ ที่สนใจโครงการดังกล่าว  สามารถขอคำแนะนำการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ได้ที่อีเมล consumer@ncb.co.th

(ในภาพ) นายสุวิทย์ สุพัฒนานนท์ (ซ้าย) ประธานกรรมการ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด นายสุรพล  โอภาสเสถียร  (ขวา) ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกันในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพิเศษแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกของสหกรณ์“ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

(ในภาพนายสุวิทย์ สุพัฒนานนท์ (กลาง) ประธานกรรมการ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด นายสุรพล  โอภาสเสถียร  (ที่ 2 จากขวาผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด นางวีระนงค์ ฉ่ำทรัพย์ (ขวาสุด) ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส  บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด  นางสาวสุนิษา ยามี (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด และ นายจำลอง น้อยวานิช (ซ้ายสุด) รองประธานกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการฝ่ายการเงินและสินเชื่อ และกรรมการและเลขานุการฝ่ายบริหารทั่วไป สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกันในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“โครงการพิเศษแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกของสหกรณ์ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ณ ห้องประชุม ชั้น อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

เรื่องน่าอ่าน