Blog Page 63

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : พ.ร.ก. มาแล้ว​ การ​ Jump Start เพื่อเดินธุรกิจต่อไปก็จำเป็น : วันจันทร์ที่ 12 เมษายน2564

พ.ร.ก. มาแล้ว​ การ​ Jump Start เพื่อเดินธุรกิจต่อไปก็จำเป็น

ในช่วงวันที่ 10 เมษายน 2564 ได้มีการเผยแพร่ผ่านเว็บ​ไซต์​ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564″ วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ตามที่เราได้ทราบความกันแล้วเมื่อวันที่​ 23​ มีนาคม​ 2564​ ซึ่งในวันนั้นมีทั้งมติคณะรัฐมนตรี​ การแถลงข่าวของกระทรวงการคลัง​ ธนาคารแห่งประเทศไทย​ สมาคมธนาคารไทย​ สมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจ​ สภาหอการค้า​ สภาอุตสาหกรรม​ หากนับเวลาจากวันนั้นจนกฎหมายออกมาแล้ว​ จะพบว่ามีความเร่งด่วนมาก ๆ​ นอกจากนี้ในด้านสาธารณสุข​ก็ยังมีเรื่องทั้งดีและร้าย​ ที่ดีคือวัคซีน​มาเพิ่ม​ มีการตั้งคณะคุณหมอไปดูแลการที่เราจะมีวัคซีน​ทางเลือกจากภาคเอกชน (โรงพยาบาลเอกชน) ตัวเลขน่าจะไม่หนี​ 10 ล้านโดส​ ข่าวร้ายคือการแพร่ระบาด COVID-19 รอบใหม่ที่มีการพูดถึงสายพันธุ์​ที่แพร่ได้เร็ว​ ข่าวกึ่งดีกึ่งร้ายคือการเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลสนาม​ สถานการณ์​ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงคือ​ การเดินทางกลับภูมิลำเนาในเทศกาลสงกรานต์​ มาตรการในปี​ 2564​ เบากว่าปี​ 2563​ มาก ๆ​ เหตุเพราะถ้าทำแรง​ มันกระทบสูง​ ตามมาด้วยการเยียวยา​ ตามมาด้วยการใช้เงินภาครัฐ​ การก่อหนี้​ และอื่น ๆ อีกมากมาย​ ที่จะกระทบต่อการดำเนินนโยบาย​ การดำเนินธุรกิจที่มีความเปราะบางในเวลานี้​ 

ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านได้ลองดูข้อมูลท้ายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งเป็นเหตุว่าทำไมจึงต้องมีกฎหมายนี้​ มีทำไม​ มีแล้วต้องการแก้ปัญหาอะไร​ ความมุ่งหมายของสิ่งที่ออกมาบังคับใช้คืออะไร​ เพื่อให้เรา ๆ ท่าน ๆ​ เข้าอกเข้าใจการดำเนินนโยบายภาครัฐดังนี้

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม (ผู้เขียน​ : ขีดเส้นใต้คำว่ายาวนานกว่าที่คาดการณ์​ไว้เดิม)​ ส่งผลให้ความเสี่ยง ด้านเครดิตในระบบการเงินของประเทศปรับสูงขึ้นมาก

ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว (ผู้เขียน​ : ชัดเจนว่าภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) 12% น่าจะกลับมาได้ปี​ 2567 ตามการบรรยายของ​ CEO ค่ายแบงก์​สีเขียว)​ และต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ (ผู้เขียน​ : พ.ร. ก. เดิมมันปล่อยไปได้​ประมาณ​ 1.5 แสนล้านบาทจากวงเงิน​ 5 แสนล้านบาท​ มันติดขัดหลายเงื่อนไข)​ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางการเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติม แก่ผู้ประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับวัฏจักรการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก (ผู้เขียน​ : ครั้งนี้ทุกภาคส่วนทั้งสมาคมคนให้​กู้​ สมาคมคนขอกู้ ผู้คุมกติกา​ มารวมกันคิด​จนเป็นเงื่อนไขใหม่ที่น่าจะรับกันได้)​

รวมถึงมีมาตรการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ (พักทรัพย์ พักหนี้) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไข ซื้อคืนในราคาที่โอนไปและมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นกลับไปใช้ประกอบธุรกิจ (ผู้เขียน​ : ขายหลักประกันให้เจ้าหนี้ตามราคาที่ตกลงกันเพื่อหักกับหนี้​ ดอกเบี้ยก็ไม่เกิด​ เงินต้นก็ไม่ต้องส่ง จากนั้นหา​ Biz Model มาดำเนินธุรกิจโดยการขอเช่าทรัพย์สิน​ที่ตีโอนชำระหนี้ไปมาทำมาหากิน​ รักษาการจ้างงาน​ ครบกำหนดในอนาคตวันหน้าก็ไปกู้มาซื้อทรัพย์สิน​อันนี้คืนในราคาที่ตกลงกันวันนี้)​ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะ ขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้อันจะส่งผลต่อฐานะทางการเงินของสถาบันการเงิน และต่อเสถียรภาพ ทางการเงินและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง (ผู้เขียน​ : ถ้าไม่ทำก็จะมีหนี้เสียเยอะ หนี้เสียเยอะก็จะทำให้สถาบันการเงินอ่อนแอ​ คล้าย ๆ กับวิกฤติ​ปี​ 2540​ ที่สำคัญคือถ้าไม่มีโกดังมาเก็บหนี้เอาไว้​ มันก็ต้องบังคับตามสัญญาเงินกู้​ กลายเป็นทรัพย์สิน​รอการขาย​ ต้องกันสำรองการด้อยค่า​ ตามมาด้วยปัญหาอีกมากมาย​ จุดสำคัญอีกเรื่องคือ​ การถูกบังคับขายมาก ๆ​ ราคาทรัพย์สิน​จะตกลงมาก​ ไม่สะท้อนกับคุณค่า​ เป็นโอกาสให้คนมีเงิน​ ทุนต่างชาติ​ กดราคาซื้อให้ต่ำกว่าคุณ​ค่าทรัพย์สิน​ ที่เราเรียกว่าราคาโปรไฟไหม้ หรือ​ Firesale ปัญหาอีกเรื่องคือราคาที่ไม่สะท้อนนี้จะมีส่วนทำให้การประเมินราคาหลักประกันในสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วส่วนอื่น ๆ อาจถูกประเมินลดลง​ การกันสำรองต้องเพิ่ม มันก็อาจจะซ้ำเติมปัญหาให้ระบบสถาบันการเงินได้อีกด้วย)​

ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับการออก​ พ.ร.ก. ฉบับนี้เพราะเหตุของการทำเป็นเรื่องของการหารือกันแทบจะทุกขั้นตอน เช่น​ ทางฟากฝั่งคนขอกู้ก็ออกมายอมรับว่าดอกเบี้ยที่คิด​ 2% นั้นคนให้กู้คงได้ไม่คุ้มค่าความเสี่ยงในเวลานั้น​ จะคิดเพิ่มก็ได้ถ้ากู้ผ่าน​ แต่มันก็ทำไม่ได้เพราะกฎหมายมันล็อคไว้แล้ว​ สิ่งที่เป็นผลลัพธ์​ออกมาในครั้งนี้มันต่างจากกระบวนการทำแบบแล็บแห้ง​ ผลัดกันเขียน​ เวียนกันอ่าน​ ผ่านกันชม​ของชมรมคนดื้อ​ เอะอะอะไรก็ความลับ​ รู้ก็รู้ไม่จริง​ ตัวอย่างเช่น​ สูตรการชดเชยความเสียหาย​ คนเขาลือให้แซ่ดว่าบอกแล้ว​ ขอแล้วว่าอย่าไปยุ่งกับหลักประกันเก่า​ ก็ดันผูกสูตรจนเป็นเรื่อง​ เข้าใจว่าจนถึงวันนี้ก็คงยังเถียงกับตัวเองหน้ากระจกว่าฉันคิดถูก​ อันนี้ผู้เขียนรำพึงรำพันกับตัวเองนะครับ​ ไม่ได้ว่าใคร ต้องออกตัวไว้ก่อน​ เรามันชนชั้นผู้ปฏิบัติงาน​ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานเลี้ยงลูกเมีย.. 

จุดที่ผู้เขียนได้รับข้อมูลมาจากฟากฝั่งผู้ประกอบการในฐานะไปทำงานเป็นกรรมการในคณะกรรมการของสำนักงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริม​ สนับสนุน​ ช่วยเหลือ​ และแก้ไขปัญหาของ SME​s ก็พบว่า​ในการดำเนินตามกระบวนการ​ พักทรัพย์​ พักหนี้​นั้น​ เมื่อดำเนินการไปแล้ว​ อาจต้องรบกวนเงินกู้เพิ่มเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการ Jump Start ธุรกิจให้กลับมาให้บริการได้อีกครั้ง​ เพราะสภาพคล่องของผู้ประกอบการในช่วงตั้งแต่เมษายน​ 2563​ จนถึงเวลานี้​เมษายน​ 2564​ อาจจะเหือดแห้ง​ หรือหมดไป​ หรือมีไม่พอ​ การเพิ่มการจ้างงาน​ การปรับปรุงบางสิ่งอย่างอาจจำเป็น​ ดังนั้นถ้าได้​ Soft​ Loan มาอุดหนุน​อีกสักส่วนหนึ่งก็น่าจะช่วยทำให้การลุกขึ้นมาขยับเนื้อขยับตัว​ มันคล่องมากขึ้น​ เครื่องยนต์​ดับ ๆ ติด ๆ ไปหนึ่งปี จะทำให้มันเดินก็ต้องใส่ไฟกระตุ้น​ อะไรประมาณนั้น​ ขออย่าได้ติดขัดเรื่องหลักประกันเพิ่ม เพราะผู้เขียนเชื่อว่า​อัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้าน (Loan to Value หรือ LTV) ของทรัพย์สิน​ที่ตีเข้าโกดังพักทรัพย์​ พักหนี้​ น่าจะยังพอมีส่วนที่จะจัดสรรให้ได้บ้าง (มี​ room) ตามควรแก่กรณีก็ถือโอกาสนี้ขอความเมตตาจากสถาบันการเงินให้การช่วยเหลือ​ สนับสนุน​ธุรกิจ​ ที่กำลังเผชิญคลื่นลมทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงให้อยู่รอด​ปลอดภัย​ สามารถ​ตั้งลำได้ เพื่อจะได้กลับมาจ่ายดอกเบี้ยจ่ายเงินต้นให้กับท่านได้ในอนาคตนะครับ

ขอบคุณ​ที่ติดตามครับ​ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย​ ปี 2564​ หากล่วงเกินหรือผิดพลาดประการใดขอได้ให้อภัยด้วยนะครับ​ 

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหน : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 2 เมษายน 2564

ตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหน

บทความนี้ ผมจะมาอัพเดทว่า เครดิตบูโรได้ดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิตได้อย่างรวดเร็ว หลากหลายช่องทาง  อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองและเพื่อป้องกันภัยการเงินในยุคปัจจุบัน รวมทั้งการรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการออมเงินและรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องภาระหนี้ การบริหารจัดการหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้ครับ

 ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร แบบรอรับรายงานได้เลย

วันจันทร์-ศุกร์ ได้ที่

1) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่) อาคาร 2 ชั้น 2 เวลา 9.00-16.30 น.

2) เครดิตบูโรคาเฟ่  อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (โซนธนาคาร) เวลา 9.00-18.00 น.

3) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร  BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) เวลา 9.00-18.00 น.

4) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ภายในสถานี) เวลา 9.00-18.00 น. 

ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-18.00 น. ได้ที่

5) Bureau Lab (บูโรแล็บ) BTS หมอชิต (ภายในสถานี) มีบริการตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รับรายงานทางอีเมล…ได้ทันทีอีกด้วย

6) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร  ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม 

 และเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 18.00 น. ในห้างสรรพสินค้า ได้ที่

7) CITI (เดอะมอลล์ บางกะปิ)

8) UOB (ห้างเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต บางใหญ่)

  ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน แบบรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit report) ทางอีเมล  สะดวก รวดเร็ว ได้แก่

1) ผ่านโมบายแอปธนาคารเกียรตินาคินภัทร “KKP e-Banking” รับรายงานทางอีเมลได้ทันที 

2) โมบายแอปธนาคารทีทีบี “ttb touchรับรายงานทางอีเมลภายใน 3 วัน และ

3) โมบายแอปธนาคารกรุงไทย “Krungthai Next” รับรายงานทางอีเมลภายใน 1 วัน* (ท่านจะได้รับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่เครดิตบูโรกำหนด)

กรณีอยู่ต่างจังหวัด สามารถยื่นขอรายงานข้อมูลเครดิต แบบส่งรายงานกลับไปให้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายใน 7 วันทำการ ได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่ 

1) เคาน์เตอร์ธนาคาร (ทุกสาขา) กรุงศรี กรุงไทย ธอส. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธ.ก.ส.

2) ใช้บัตร ATM ที่ตู้ธนาคารกรุงไทย ไทยพาณิชย์

3) ใช้โมบายแอปพลิเคชัน  สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนธนาคารมือถือกรุงไทย ทีทีบี เกียรตินาคินภัทร

4) ใช้บริการธนาคารออนไลน์กรุงศรี กรุงไทย

5) ที่ทำการไปรษณีย์ เฉพาะสาขาที่ให้บริการ

ตรวจเครดิตบูโรของท่านเป็นประจำ ท่านจะมีคำถามกับตัวเองเสมอว่าทำไมเรามีบัตร มีหนี้มาก บ่อยเข้า ท่านจะลดละเลิกสิ่งที่ไม่จำเป็น ลดการใช้บัตรเครดิตซื้อของที่ไม่จำเป็น ดังคำเตือนที่ว่า จ่ายขั้นต่ำเป็นประจำ จะนำปัญหาหนี้สินอย่างมากมาสู่เรา ไม่ช้าไม่นาน งานเข้าแน่นอน…..ขอบคุณครับ

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : คำถามยอดฮิตกับเครดิตบูโร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 19 มีนาคม 2564

คำถามยอดฮิตกับเครดิตบูโร

ในช่วงที่ผ่านมา มีข้อสอบถาม ข้อสงสัย ข้อข้องใจ ผ่านสื่อออนไลน์ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับเครดิตบูโร ผมพบว่าคำถามที่คาใจมากที่สุดคือ “ทำไมฉันถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ ด้วยเหตุผลที่ธนาคารบอกว่า ติดเครดิตบูโร ทั้ง ๆ ที่ฉันก็จัดการเคลียร์รายการที่ฉันเคยค้างชำระในอดีตไปแล้ว และปัจจุบันฉันก็ไม่ได้มีปัญหาแบบนั้นอีกแล้ว” ผมเห็นว่าเพื่อให้ชัดเจนและใคร ๆ สามารถนำไปพูดอธิบายต่อไปได้ จึงได้ทำเป็นคำตอบดังนี้นะครับ

1. ธนาคารนั้นสามารถปฏิเสธไม่ให้สินเชื่อกับคนที่มาขอได้ หากธนาคารพิจารณาแล้วว่าคนที่มาขอมีเรื่องอะไรก็ตามที่ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ เช่น กำหนดว่าคนขอสินเชื่อต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน หากเอกสารหลักฐานคนขอยื่นไปบอกว่า 17,000 บาทต่อเดือน แต่ธนาคารไปตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเงินค่าล่วงเวลาหรือค่าโอที จำนวน 4,000 บาทและธนาคารไม่นับให้เป็นรายได้เพราะไม่แน่นอนว่าจะได้ทุกเดือนก็เท่ากับว่าคนที่ยื่นขอสินเชื่อมีรายได้เพียง 13,000 บาทต่อเดือน ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะอนุมัติสินเชื่อได้ เรื่องของเรื่องคือคำว่า “รายได้” ระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกันและก็ไม่ถามกัน ไม่บอกกันคิดว่าอีกฝ่ายเข้าใจ เมื่อไม่อนุมัติแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่ได้ประโยชน์ก็เลยไม่อยากคุยกันต่อ สุดท้ายคือไม่พอใจ โกรธ เคียดแค้น ชิงชังกัน และก็ไปเล่าต่อความไม่พอใจในมุมของตนให้กับใครต่อใครจนกลายเป็นความเข้าใจผิด

หากได้ถามกันให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าอะไรคืออะไรแล้วเรื่องแย่ ๆ แบบนี้ก็จะไม่เกิด ท่านที่ยื่นขอสินเชื่อถามได้นะครับเรื่องหลักเกณฑ์การอนุมัติ ท่านที่พิจารณาก็ขอให้รอบคอบและระมัดระวัง ประเภทดึงเข้ามาก่อนได้-ไม่ได้เดี๋ยวค่อยไปหาทางเอา จวนตัวก็ผลักไปหาแพะหรือใครก็ได้ที่ไม่ใช่เรา ผมรับรองได้ว่าไม่ช้าไม่นาน คนที่ทำเรื่องแย่ ๆ แบบนี้ได้หางานใหม่แน่ ๆ เพราะสถาบันการเงินเขาไม่ส่งเสริมคนที่ทำแบบนี้

2. ธนาคารหรือสถาบันการเงิน หากปฏิเสธแล้วอ้างว่าเป็นเรื่องของเครดิตบูโรแล้ว จะต้องออกเป็นหนังสือที่เรียกว่า “หนังสือแจ้งเหตุผลการปฏิเสธสินเชื่อ” จะบอกโดยวาจา โดย SMS ไม่ได้ หากใคร หรือธนาคารใดทำแล้วอาจถูกลงโทษปรับจนกว่าจะออกเป็นหนังสือ ปัจจุบันคนที่ไปขอสินเชื่อ เมื่อถูกปฏิเสธก็มักจะแค่ไม่พอใจ บ่น โวยวาย หรือเงียบ ต่อไปหากสิทธิของเขาได้รับรู้กันไปมาก ๆ รวมทั้งหากมีมาแจ้งที่เครดิตบูโรแล้ว รับรองว่าจะติดตามให้อย่างใกล้ชิดครับ

3. ท่านที่ไปขอกู้ หากว่าในอดีตเคยค้างชำระแล้วต่อมาได้ติดต่อชำระหนี้ที่ค้างจนครบแล้ว ปัจจุบันไม่มีการค้างและบัญชีเป็นปกติ ท่านต้องสำรวจตรวจสอบว่า

ประเด็นที่หนึ่ง ที่ค้างชำระในอดีตนั้นค้างติดต่อกันกี่เดือน 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือนหรือมากว่า 3 เดือน เพราะหากเคยค้างติดกันเกิน 3 เดือนหรือค้างเกิน 90 วันแล้วถือว่าครั้งหนึ่งท่านได้เป็นหนี้เสียหรือท่านได้เคยเป็น NPL มาแล้ว อันนี้ค่อนข้างจะเป็นปัญหา เพราะการเป็นคนเคยค้างชำระนั้นต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมจึงมีการค้างชำระ เพราะอะไร แล้วจะมีอะไรให้คนที่กำลังจะพิจารณาปัจจุบันเชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะไม่กลับมาเกิดกับธนาคารเขาในอนาคตหากเขาอนุมัติเงินกู้ให้

ประเด็นที่สอง คือนับจากวันที่ได้ชำระหนี้สินที่ค้างนั้นจนกลับมาเป็นปกติแล้วเทียบกับเวลาในปัจจุบันแล้วเป็นระยะเวลานานหรือยัง 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 18 เดือนหรือ 24 เดือน สิ่งนี้จะบ่งบอกว่าที่เคยพลาดนั้นเป็นเหตุที่ไม่ได้มาจากนิสัยใจคอแต่เป็นเรื่องจำเป็น เช่น วิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อุบัติเหตุเจอภัยไฟไหม้ หมุนไม่ทันจริง ๆ ไม่ได้มีเจตนาจะเบี้ยว และในช่วงเวลาที่เกิดการค้างชำระหนี้กับปัจจุบันก็จ่ายครบจ่ายตรงมาโดยตลอด หากธนาคารมีเกณฑ์ว่าในขณะปัจจุบันที่พิจารณาย้อนหลังลงไป 12 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้คนที่มาขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติว่าค้างชำระหนี้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น เคยค้างเมื่อพฤศจิกายน 2562 ต่อมาชำระในเดือนธันวาคม 2562 และนับจากนั้นจนถึง มกราคม 2564 เป็นเวลา 14 เดือน จ่ายหนี้ตรงมาตลอด หากเป็นแบบนี้ ลูกค้าท่านนี้ท่านก็ผ่านเกณฑ์ข้อนี้แม้ว่าจะเป็นคนเคยค้างชำระหนี้

นั่นเป็นเพราะลูกค้าสะสมประวัติที่ชำระตรงยาวนานตั้งแต่พฤศจิกายน 2562 มาจนถึงวันที่ถูกพิจารณาคือ มกราคม 2564 จึงเชื่อว่าคน ๆ นี้ไม่มีลักษณะที่ผิดนัดชำระหนี้บ่อย ผิดนัดชำระหนี้นานเป็นประจำ เรื่องแบบนี้เราหากเป็นคนไปขอกู้ควรจะขอความชัดเจนในเรื่องหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนก่อน ผมยืนยันว่าถามได้ไม่ใช่เรื่องอะไรที่สอบถามกันไม่ได้

มาถึงตรงนี้ หากท่านเป็นผมแล้วมีท่านหนึ่งถามเข้ามาว่า “ตอนนี้ ปัจจุบันนี้ ผมยังมีหนี้ค้างชำระอยู่ 50,000 บาท ยังไม่ได้จ่ายและค้างชำระหนี้มาตั้งนานแล้วเกือบปีหรือ 12 เดือนที่ผ่านมาไม่จ่าย มีเจ้าหน้าที่ธนาคารมาติดต่อผมว่า หากผมเอาเงินไปจ่ายธนาคารเก่าที่ค้างอยู่ทั้งหมดในเดือนนี้เลย 50,000 บาทกับดอกเบี้ยต่าง ๆ แล้ว ผมจะขอกู้เงินกับธนาคารใหม่ได้ในวงเงินใหม่ 500,000 บาท ผมจะกู้ได้ไหมครับช่วยตอบหน่อย”

หากท่านเป็นผม หากท่านเป็นคนฝากเงินธนาคารที่กำลังให้กู้ใหม่ หากท่านเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารที่กำลังพิจารณา หรือท่านเป็นชายคนที่กำลังวางแผนจ่าย 50,000 บาทแล้วรับใหม่ 500,000บาท หรือท่านเป็นท่านนี่แหละในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านครับ ท่านว่าชายไทยผู้ถามท่านนี้สมควรจะได้เงินกู้ไหม หากสมมติว่าท่านผู้อ่านเป็นคนมีอำนาจอนุมัติสินเชื่อแต่เพียงผู้เดียว

ข่าวเครดิตบูโร 002/2564 : กรุงไทยจับมือเครดิตบูโร เปิดตัวบริการตรวจเครดิตสกอริ่ง ผ่าน Krungthai NEXT รู้ผลภายใน 24 ชม.

ข่าวเครดิตบูโร 002/2564

ข่าวประชาสัมพันธ์

กรุงไทยจับมือเครดิตบูโร เปิดตัวบริการตรวจเครดิตสกอริ่งผ่าน Krungthai NEXT รู้ผลภายใน 24 ชม.

8 เมษายน 2564 : ธนาคารกรุงไทยร่วมกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จํากัด (เครดิตบูโร) ขยายช่องทางบริการตรวจข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่งผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT อำนวยความสะดวกให้ลูกค้ารับรายงานได้ทางอีเมลภายใน 24 ชั่วโมงนับจากทำรายการและชำระเงินสำเร็จ  สะดวกรวดเร็วกว่าการเลือกรับเอกสารผ่านทางไปรษณีย์  ที่ต้องรอภายใน  7 วันทำการ  ทำให้ลูกค้ารู้สถานะหนี้  มีวินัยทางการเงินและสามารถวางแผนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร 

E-mail: ilovebureau@ncb.co.th / website: www.ncb.co.th / facebook: www.facebook.com/ilovebureau

เรื่องน่าอ่าน