
เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ข้อคิดจากเพื่อนเก่าคนเคยผ่านปี 2540 และแนวทางของคนรุ่นต่อไป : วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ระยะเวลาและรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในเครดิตบูโร : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 5 กุมภาพันธ์ 2564
ระยะเวลาและรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในเครดิตบูโร
ในบทความนี้ผมขอนำเสนอข้อมูลแก่ท่านเรื่อง ระยะเวลาและรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในเครดิตบูโร ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของท่านที่มีบัญชีสินเชื่อไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะมีความเข้าใจผิดเป็นอย่างมากในหลายเรื่องดังต่อไปนี้
ความเชื่อที่ผิด : หากเมื่อไหร่ที่ผิดนัดชำระหนี้แล้วชื่อของเราจะเข้าไปอยู่ในเครดิตบูโร
สิ่งที่ถูกต้อง : ไม่ว่าจะเป็นการชำระตรงตามเวลา หรือมีการผิดนัดชำระ สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลตามจริงที่เกิดขึ้นเข้ามาให้กับเครดิตบูโร การส่งข้อมูลตามจริงของสมาชิกจะเป็นการส่งข้อมูลรายเดือน ส่งข้อมูลเดือนละหนึ่งครั้ง
ความเชื่อที่ผิด : ข้อมูลเดือนใหม่ล่าสุดจะเข้าไปทับข้อมูลเดือนที่ผ่านมาก่อนหน้า เช่น ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะไปทับข้อมูลเดือนมกราคม 2564 ดังนั้นถ้าเราค้างชำระเดือนมกราคม 2564 หากไปจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ข้อมูลจะไปทับของเดิม จะไม่มีใครเห็นข้อมูลเดือนมกราคม 2564 อีกต่อไป
สิ่งที่ถูกต้อง : ข้อมูลเดือนใหม่ล่าสุดจะไม่เข้าไปทับข้อมูลเดือนที่ผ่านมาก่อนหน้า เช่น ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะไม่ไปทับข้อมูลเดือนมกราคม 2564 ดังนั้น ถ้าเราค้างชำระเดือนมกราคม 2564 หากไปจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ข้อมูลจะมีสองบรรทัด คือ บรรทัดที่อยู่ด้านล่างหรือบรรทัดที่หนึ่งจะเป็นข้อมูลเดือนมกราคม 2564 ที่มีข้อมูลปรากฏว่า ค้างชำระ ข้อมูลบรรทัดบนหรือบรรทัดที่สองจะเป็นข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่มีข้อมูลปรากฏว่า ไม่ค้างชำระ คนที่ทำหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อจะเห็นข้อมูลเป็นประวัติคือเห็นทั้งสองบรรทัด สองเดือนทั้งที่ค้างชำระและไม่ค้างชำระ เขาจะอ่านข้อมูลได้ว่าเจ้าของข้อมูลรายนี้ค้างชำระเดือนมกราคม 2564 ต่อมาได้มาจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เขาจะถามต่อว่าเหตุที่ทำให้ค้างในเดือนมกราคม 2564 นั้นคืออะไร มาจากสาเหตุอะไร
ตามกฎหมายกำหนดว่า ระยะเวลาจัดเก็บไม่เกิน 3 ปีนับแต่ข้อมูลนั้นสมาชิกได้ส่งเข้ามาให้กับเครดิตบูโร เช่น สถาบันการเงินส่งข้อมูลเข้ามา 30 มกราคม 2564 ข้อมูลบรรทัดนี้จะออกจากฐานในวันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้น
คำถามคือ ทำไมต้องเก็บข้อมูลเป็นรายเดือน ไม่ทับกัน เก็บต่อเนื่องเป็นขนมชั้น 36 ชั้นหรือ 36 เดือน หรือ 3 ปี เหตุผลที่เก็บเพื่อให้คนที่วิเคราะห์สินเชื่อเห็นข้อมูลในช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่เกิน 3 ปี เขาก็จะวิเคราะห์ได้ว่าคนนี้มีพฤติกรรม นิสัยใจคอ ในการชำระหนี้อย่างไร จ่ายครบจ่ายตรงใช่ไหม มีการค้างชำระหรือไม่เดือนไหน เกิดการค้างชำระนานแล้วหรือเพิ่งเกิดขึ้น เกิดบ่อยหรือไม่หรือเกิดเพียงครั้งเดียว พอมีการค้างชำระแล้วเดือนต่อมามีการนำเงินมาจ่ายจนทำให้เป็นปกติหรือไม่ ท้ายสุดคือ เพื่อตั้งคำถามกับเจ้าของข้อมูลว่าเพราะอะไรถึงได้เกิดการค้างชำระ จุดนี้เขาเรียกว่า การวิเคราะห์ความตั้งใจในการชำระหนี้หรือ willingness to pay analysis นั่นเอง ข้อวิเคราะห์นี้จะนำไปพิจารณาร่วมกับข้อมูลการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้หรือ Ability to pay analysis และข้อมูลเรื่องหลักประกัน
สำหรับมาตรฐานสากลในการเก็บข้อมูลในเครดิตบูโรนั้นคือเครดิตบูโรเก็บข้อมูลที่ได้รับจากสมาชิกสถาบันการเงิน 3 ปีขึ้นไปหรือขั้นต่ำควรเก็บข้อมูลไว้ 3 ปี ธนาคารโลกจะมีการสำรวจและจัดทำเป็นรายงานเผยแพร่ทั่วโลกว่าในจำนวน 189 ประเทศมีประเทศใดเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลาเท่าใด….เอธิโอเปียประเทศที่ยากจน ด้อยพัฒนาเขาเก็บข้อมูล 3 ปี ประเทศไทยเราได้ตัดสินใจในอดีตแล้วว่าเก็บไม่เกิน 3 ปี … ขอบคุณครับ
เอาตัวรอดให้พ้นวิกฤติด้วยแผนการออมเงินสุดชิคไม่เหมือนใคร
เอาตัวรอดให้พ้นวิกฤติด้วยแผนการออมเงินสุดชิคไม่เหมือนใคร
วิกฤติครั้งนี้หนักยิ่งนัก รายรับที่มีก็เริ่มหดหาย รายจ่ายก็ผุดเพิ่มขึ้นมาตลอดเวลา หากใครที่ไม่มีเงินออมสำรองฉุกเฉินถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ได้เลยล่ะค่ะ แต่สำหรับใครที่กำลังคิดจะเริ่มต้นวางแผนการออมก็สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้นะคะ ด้วยแผนการออมเงินจากทั้ง 4 แผนนี้ค่ะ
แผนที่ 0
แผนแรกสำหรับมือใหม่หัดออมคือการศึกษาเรื่องของการวางแผนรายจ่าย และการลงทุนให้พร้อม เพื่อสร้างคลังความรู้ทางการเงินของเรา หรือแบบที่เรียกเข้าใจง่าย ๆ คือการเรียนรู้ทฤษฎี ก่อนจะเริ่มต้นวางแผนการเงินไม่ให้เกิดสะดุด หรือผิดพลาดนั่นเองค่ะ
แผนเริ่มต้น
เมื่อศึกษาวิธีการออมเงิน หรือการวางแผนการเงินมาในระดับหนึ่ง ก็ถึงขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ แน่นอนว่าช่วงเริ่มต้น เราไม่ควรวางแผนการเงินที่ฟุ้งมากจนเกินไป ควรเริ่มจากการวางแผนการเงินในระยะสั้น ๆ ภายใน 1 ปี เช่น ต้องการออมเงิน 1 แสนบาทภายใน 1 ปี หรือต้องการออมเงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ 1 ครั้งต่อปี
แผนระยะกลาง
เวลาผ่านไปการวางแผนการเงินของเราจะเริ่มชำนาญมากยิ่งขึ้น จากที่วางแผนระยะสั้น ก็เพิ่มระดับด้วยการวางแผนระยะกลาง เช่น วางแผนการเงินในช่วง 10 ปีข้างหน้าว่ามีเป้าหมายทางการเงินในเรื่องใด เช่น ต้องการซื้อบ้าน ซื้อรถ ทำธุรกิจ เพื่อที่จะทำให้แผนการเงินที่วางไว้ไปถึงเป้าหมายอย่างราบรื่น
แผนระยะยาว
ช่วงชีวิตของทุกคนจะต้องมีวันเกษียณ แม้ว่าจะเป็นมือใหม่หัดออม แต่ภาพในวัยหลังเกษียณก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เราควรมองหาการออม การลงทุนระยะยาวเพื่อใช้ในยามหลังเกษียณ เช่น กองทุน หุ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาว
สุดท้ายนี้ทุกการวางแผนการออมเงินสิ่งสำคัญคือการสร้างวินัยทางการเงินขึ้นมาด้วยตนเอง สำหรับใครที่กำลังเริ่มต้นวางแผนการเงิน ขอให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นการออมเงินที่ดีนะคะ
โสดอย่างมีสไตล์ วิธีวางแผนการเงินคนโสดแบบปัง ๆ ไม่ง้อคู่
โสดอย่างมีสไตล์ วิธีวางแผนการเงินคนโสดแบบปัง ๆ ไม่ง้อคู่
ยุคนี้ใคร ๆ ก็เริ่มครองตัวเป็นโสดกันเยอะมากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นได้จากสถิติคนโสดเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ มากมายที่อาจทำให้ใครหลาย ๆ คน เลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียวมากกว่าการสร้างครอบครัว หรือชีวิตคู่ แน่นอนว่าข้อดีของการเป็นโสดมีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต หน้าที่การเงิน รวมไปถึงเรื่องการเงินที่ไม่ต้องห่วงหน้าห่วงหลัง
ฉะนั้น เพื่อให้เราได้ใช้ใช้ชีวิตโสดอย่างมีความสุข และมีสไตล์ ต้องมีวิธีการวางแผนการเงินแบบปัง ๆ ที่มีเพียงแค่คนโสดเท่านั้นจะทำได้กันค่ะ
- เช็กลิสต์รายจ่ายในชีวิตประจำวัน
แม้ว่าจะไม่มีภาระเรื่องอื่น ๆ ติดตัว แต่เราก็ยังคงมีภาระรายจ่ายส่วนตัวที่ต้องจ่ายอยู่ ฉะนั้นทุกครั้งที่จะมีการใช้จ่ายอะไรออกไป ควรมีการเช็กลิสต์รายจ่ายเหล่านั้นให้ชัดเจน เพื่อสามารถนำมาจัดเรียง วางแผนรายรับ รายจ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
- ตั้งเป้าหมายระยะยาว
หากคิดจะเป็นโสดไปตลอดชีวิต คุณควรที่จะมีการวางแผนชีวิต และเป้าหมายการเงินในระยะยาวให้ชัดเจน มองระยะยาวไปจนถึงหลังเกษียณ โดยนำภาพรวมรายจ่ายประจำวันของเรามาเป็นตัวตั้งเพื่อวางแผนการใช้จ่ายในอนาคต ประมาณการรายจ่ายที่คาดว่าจะต้องใช้ และค้นหาทางที่จะเก็บออมเงินเพื่อไปต่อยอดลงทุนให้เงินงอกเงยต่อไป
- อย่าปล่อยให้เงินนอนนิ่ง
ในยุคนี้การปล่อยให้เงินนอนนิ่งเฉย ๆ ในบัญชีเงินฝาก ไม่ช่วยให้เงินของเรางอกเงยเพิ่มขึ้นนะคะ ยิ่งคนโสดอย่างเราด้วยแล้ว ควรจะต้องมองหาการลงทุนเพื่อช่วยให้เงินก้อนของเราสร้างผลตอบแทน หรือกำไรให้ได้กลับมาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เช่น กองทุน หุ้น ทองคำ เป็นต้น
- หมั่นสำรวจหนี้สินอยู่เสมอ
เพื่อสำรวจภาระค่าใช้จ่ายว่าเรามีค่าใช้จ่ายไหนที่ค้างคาอยู่บ้าง เพื่อจัดการชำระให้เสร็จสิ้น หรือเพื่อจัดลำดับความสำคัญของภาระค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างอิสระทางการเงินสำหรับคนโสด
- เก็บเงินเพื่อยามฉุกเฉิน
เพราะคนโสดคือการยืนหนึ่งตัวคนเดียว หากเกิดปัญหา หรือเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินด่วน เราก็จะสามารถนำเงินในส่วนนี้มาใช้จ่ายได้ก่อน โดยไม่ต้องเดือดร้อน หรือเป็นภาระทางการเงินในส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ค่ะ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางการวางแผนการเงินเพียงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งคนโสดสามารถนำไปปรับให้แผนการเงินมีความเหมาะสมกับตัวเองได้ หากเรามีการจัดการวางแผนการเงินที่ดี ก็รับรองได้ว่าคุณจะเป็นคนโสดอย่างมีสไตล์ที่สุดแน่นอนค่ะ
การเงินต้องรอด วางแผนการเงินให้อยู่หมัดพ้นวิกฤติแต่ละเดือน
การเงินต้องรอด วางแผนการเงินให้อยู่หมัดพ้นวิกฤติแต่ละเดือน
วิกฤติหนักแค่ไหน แต่การเงินปีนี้ต้องรอด!
แต่วิธีที่จะทำให้การเงินรอดวิกฤตินอกจากจะต้องประหยัดแล้ว ต้องวางแผนการเงินด้วยค่ะ
ในช่วงนี้ถ้าหากพูดถึงเรื่องการเงิน คงจะมีอาการเจ็บจี๊ด ๆ ที่หัวใจกันอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะแค่เริ่มต้นปีมาได้ไม่นาน รายรับที่ได้มากลับร่อยหรอ เหลือใช้น้อยลงในทุกวัน แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังในการออมเงินไปค่ะ เพราะยังมีเวลาอีกหลายเดือนที่จะช่วยให้คุณจัดการวางแผนการเงินจนได้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ลองเริ่มเช็กลิสต์เป้าหมายของตัวเองกันตั้งแต่วันนี้ แล้วสำรวจความต้องการในอันใกล้ของตัวเองว่าต้องการประสบความสำเร็จในเรื่องใดมากที่สุด จากนั้นมาเริ่มวางแผนการเงินให้อยู่หมัดตามแต่ละไตรมาสกันค่ะ
ไตรมาสที่ 1 – มกราคม – มีนาคม
สำรวจภาระหนี้สิน และวางแผนการยื่นภาษีประจำปี
ในช่วง 3 เดือนแรกของปีควรเป็นการวางเป้าหมายการเงินของแต่ละปี และจัดสรรการเงินที่มีของตัวเองให้เข้าที่เข้าทาง เช็กลิสต์ภาระหนี้สินว่าตลอดทั้งปีจะมีรายจ่ายอะไรบ้าง และนอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาของการเตรียมพร้อมยื่นภาษีประจำปีอีกด้วย อย่าลืมเช็กตัวเองกันนะคะว่ารายได้สุทธิของเราอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องยื่นภาษี หรือจ่ายภาษีกันหรือเปล่า
ไตรมาสที่ 2 – เมษายน – มิถุนายน
วางแผนเงินออม สำรองรายจ่ายฉุกเฉิน
เมื่อเริ่มเข้าสู่ในช่วงเดือนที่ 4 หรือไตรมาสที่ 2 ควรเริ่มออมเงินสำหรับเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน 6-12 เท่าของรายจ่าย เพื่อใช้ในยามคับขัน หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยอาจจะนำไปเปิดเป็นบัญชีเงินฝากแยกเงินในส่วนนี้โดยเฉพาะ หรือนำไปเพิ่มมูลค่าเพื่อให้เงินเติบโตขึ้น
ไตรมาสที่ 3 – กรกฎาคม – กันยายน
วางแผนการลงทุน และเกษียณในระยะยาว
แม้ว่าช่วงอายุสำหรับบางคนอาจจะยังดูห่างไกลเกินกว่าคำว่าเกษียณอายุ แต่เราก็ไม่ควรละเลยในเรื่องนี้ไปค่ะ เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 หลังจากวางแผนเงินสำรองฉุกเฉินเป็นที่เรียบร้อยก็เป็นเวลาของการวางแผนการลงทุน และเกษียณอย่างจริงจังกันบ้าง นำเงินออมที่มีมาลงทุนเพื่อให้งอกเงยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลงทุนรูปแบบประกันชีวิต กองทุนรวม หุ้น ซึ่งการลงทุนทั้งหมดที่กล่าวมาควรมีการศึกษาให้ละเอียดชัดเจนก่อนการลงทุนด้วยนะคะ
ไตรมาสที่ 4 – ตุลาคม – ธันวาคม
วางแผนการลดหย่อนภาษี และสรุปการเงินภาพรวมของชีวิต
3 เดือนสุดท้ายก่อนหมดปี ควรเป็นการสรุปภาพรวมทั้งหมดของรายรับ-รายจ่ายที่เข้าออกตลอดในแต่ละปี และเป็นการตรวจสอบ วางแผนลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมก่อนนำไปยื่นในรอบปีถัดไป แต่ถ้าสำหรับใครที่มั่นใจว่าตัวเองไม่ต้องยื่นภาษีอย่างแน่นอน ให้ถือว่าช่วงนี้เป็นอีกช่วงในการวางแผนการลงทุนต่อไปได้ด้วยเช่นกันค่ะ
เมื่อได้ลองเริ่มจัดการวางแผนการเงินแล้ว ประการต่อมาถือการลงมือทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองวางไว้ในแต่ละปี จะเป็นเป้าหมายเล็ก หรือใหญ่ แต่ถ้าหากมีการเริ่มลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ขอให้มั่นใจได้ว่าความสำเร็จรออยู่ไม่ไกลค่ะ
วางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ ให้ใช้ชีวิตแบบมีวินัยทางการเงิน
วางแผนการเงินฉบับฟรีแลนซ์ ให้ใช้ชีวิตแบบมีวินัยทางการเงิน
เมื่อเอ่ยถึงฟรีแลนซ์ ภาพที่หลาย ๆ คนคิดคงมีแต่ภาพความอิสระ ความฟรีสไตล์ในการใช้ชีวิต แต่ถ้ามองในอีกมุม สิ่งที่ฟรีแลนซ์ต่างจากพนักงานบริษัทคือความสม่ำเสมอของรายได้ ที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าในแต่ละเดือนจะมีรายรับเข้ามาจำนวนเท่าไหร่ ฉะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่คาดฝัน เงินเก็บสำรองไม่มี มาลองจัดสรรการเงินฟรีแลนซ์ อย่างมีสไตล์ง่าย ๆ แค่ 4 ข้อนี้กันค่ะ
- ติดอาวุธ สร้างวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด
หากใครทำฟรีแลนซ์จะเข้าใจในเรื่องของรายรับ-รายจ่าย ที่ไม่แน่นอนเป็นอย่างดี ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การติดอาวุธ สร้างวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด ยิ่งหากเราให้ตนเองมีวินัยมากเท่าไหร่ ก็ช่วยให้เราสามารถจัดสรรการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ
- สร้างบัญชีสำรองฉุกเฉินให้ตนเอง
ฟรีแลนซ์มีความอิสระในการทำงานสูงก็จริง แต่อย่าลืมว่าการทำงานฟรีแลนซ์ก็มีความไม่มั่นคงอยู่เช่นกัน ฉะนั้นเพื่อให้ชีวิตฟรีแลนซ์ได้อย่างฟรีสไตล์ เมื่อมีรายรับเข้ามาควรสร้างบัญชีสำรองฉุกเฉิน จัดสรรการเงินของตนเองให้เป็นสัดส่วน เผื่อการเกิดเหตุไม่คาดฝันในอนาคต
- เปลี่ยนความไม่มั่นคงให้มั่นคงด้วยการสร้างพอร์ตการลงทุน
หลายคนอาจมองว่าฟรีแลนซ์ไม่มีความมั่นคงแต่จริง ๆ แล้วความมั่นคงสร้างได้ถ้ามีพอร์ตการลงทุนที่ดีค่ะ ยิ่งอาชีพฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่เงินมาไวไปไว เราจึงจำเป็นที่จะต้องจัดพอร์ตการลงทุนสร้างความมั่นคงกับชีวิตโดยเร็วที่สุด ด้วยการศึกษาข้อมูลการลงทุน เลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับอาชีพฟรีแลนซ์ เพื่อสร้างผลตอบแทน และกำไรไว้ใช้ในอนาคตค่ะ
- หาหลักประกันในชีวิตให้แน่นอน
เพราะฟรีแลนซ์ไม่มีหลักประกันที่มั่นคงแน่นอน ไม่มีสวัสดิการจากบริษัทเหมือนกับพนักงานประจำ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างหลักประกัน ความมั่นคงในชีวิต อาจจะเป็นการซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เพื่อมาลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตค่ะ
สุดท้ายนี้เรื่องของการวางแผน หรือการจัดสรรทางการเงินเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ควรทำ เพราะถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญทางการเงิน เพียงแค่ต้องรู้จักวิธี และการจัดสรรที่ดีอย่างเป็นระบบ
สร้างวินัยทางการเงินแต่ละช่วงวัยให้ปัง ครบ จบ ใน 1 เดียว
สร้างวินัยทางการเงินแต่ละช่วงวัยให้ปัง ครบ จบ ใน 1 เดียว
เรื่องของการเงินเป็นเรื่องที่คนในแต่ละช่วงวัยจะต้องเจออยู่แล้วตลอดเวลา เพียงแค่ว่าในช่วงวัยนั้น ๆ เราจะให้ความสำคัญมากน้อยเพียงใด มีวิธีการรับมือทางการเงินได้ดีแค่ไหน ซึ่งหากเรามีการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีไว้ในแต่ละช่วงวัยตั้งแต่เนิ่น ๆ ในภายภาคหน้าอนาคตเราก็จะมีวิธีรับมือกับเหตุไม่คาดฝันได้ค่ะ
ดังนั้นเพื่อเตรียมรับมือ สร้างวินัยทางการเงินในแต่ละวัยได้อย่างแข็งแกร่งควรมีแนวทาง วิธีการสร้างวินัยแต่ละช่วงวัยดังนี้ค่ะ
วัยเด็ก
ถือว่าเป็นช่วงวัยเริ่มต้นของการได้รับเงินจากพ่อแม่ แต่จะเป็นเงินจำนวนน้อย ๆ ฉะนั้นวิธีการสร้างวินัยทางการเงินของช่วงวัยนี้คือหมั่นสร้างนิสัยการออมโดยให้เริ่มหยอดกระปุกวันละ 5 บาท หรือ 10 บาท และควรให้ทำเป็นประจำทุกวันเพื่อให้เด็ก ๆ ซึมซับพฤติกรรมการออมไปในอนาคตค่ะ
วัยนักเรียน
ขยับขึ้นมาอีกระดับ วัยนักเรียนถือเป็นช่วงที่ได้ค่าขนมจากพ่อแม่เพิ่มขึ้น ทำให้เราสามารถมีวิธีการจัดสรร การออมเงินได้เพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งวิธีในการสร้างวินัยทางการเงินของช่วงวัยนี้ที่แนะนำคือการเริ่มต้นออม 1 ใน 3 ของรายรับที่พ่อแม่ให้ เพื่อสร้างความกระตุ้นในการสร้างวินัยทางการเงินของตนเองค่ะ
วัยจบใหม่
จบใหม่ให้ไม่เจ็บ คือต้องมองภาพรวมของทางการเงินให้อย่างละเอียดมากยิ่งขึ้นค่ะ เพราะช่วงวัยนี้เป็นวัยที่กำลังเริ่มต้นทำงาน เมื่อได้เงินเดือนมาก็ทำให้อยากใช้จ่าย จนบางครั้งก็หมดไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น การสร้างวินัยทางการเงินในช่วงวัยนี้ควรเน้นหลักไปที่การคิด คำนวณเรื่องของการใช้จ่ายให้ดีค่ะ มองภาพรวมให้ละเอียดว่าสิ่งที่เรากำลังจะซื้อนั่นเป็นสิ่งที่จำเป็น หรือเป็นสิ่งของตามเทรนด์ ตามกระแสเพียงเท่านั้น หากตัดหรือลดความต้องการลงได้ เราจะมีเงินเก็บอย่างแน่นอน
วัยทำงาน
พอถึงจุดที่เริ่มต้นทำงานมาได้ระยะหนึ่ง การเงินของคนในวัยนี้คือการสร้างความมั่นคงของตนเองในชีวิต อยากได้หลักประกันที่มั่นคง ฉะนั้นการสร้างวินัยทางการเงินสำหรับคนในวัยนี้คือการสร้างพอร์ตการลงทุนของตนเอง เริ่มนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย และได้ผลตอบแทนกลับมาเพื่อวางแผนชีวิตอนาคตต่อไป
วัยเกษียณ
วินัยทางการเงินของคนในช่วงวัยนี้ คือประเมินรายรับ-รายจ่ายทั้งหมดที่ตนเองมี เพื่อนำมาจัดสรรได้อย่างชัดเจน และเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเรา แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมว่าช่วงวัยเกษียณ เราไม่มีรายรับเข้ามามากเมื่อเทียบกับวัยทำงาน ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะต้องมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง วางแผนจัดสรรการเงินให้ดี เพื่อป้องกันความผิดพลาดในรายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้
วินัยทางการเงินไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก หรือไกลเกินเอื้อมในช่วงชีวิตของคนแต่ละวัย หากเพียงแต่เราควรจะต้องหมั่นฝึกฝน หมั่นออมเงิน เพื่อสร้างวินัยทางการเงินอยู่เป็นประจำและสม่ำเสมอนั่นเองค่ะ