เป็นหนี้ ตกงาน สุดมือสอย.. ก็ต้องปล่อยให้ถูกฟ้อง
เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : เป็นหนี้ ตกงาน สุดมือสอย.. ก็ต้องปล่อยให้ถูกฟ้อ : วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : เวลานี้ท่านถาม เรามาตอบ ท่านจะได้เดินต่อไป : วันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2564
เวลานี้ท่านถาม เรามาตอบ ท่านจะได้เดินต่อไป
ในช่วงเวลานี้ เวลาที่ทางการแพทย์ของเรากำลังต่อสู้เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เวลาที่คนติดการพนันก็ยังไม่ยอมหยุด ยอมเลิกชั่วคราว ยังไปเล่นให้ตำรวจไล่จับ เวลาที่เรากำลังเหมือนแมวไล่จับหนูแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย เวลาที่มนุษย์พวกไม่รู้กาลเทศะก็ยังออกมาเรียกร้องโน่นนี่ ให้ร้ายกันต่อไปไม่หยุด เวลาที่มนุษย์พันธุ์ขวางโลกบ้าการเมือง 2475 ก็ยังเรียกคนมารวมตัวกัน เวลาที่ธุรกิจรายเล็กรายน้อยต้องต่อสู้ขายของให้ได้ภายใต้ข้อจำกัด เวลาที่เด็ก ๆ ไม่ได้เรียนหนังสือแบบพบเห็นต่อหน้า เวลาที่คนทำงานจำนวนไม่น้อยต้องนั่งทำงานที่บ้านผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หลังขดหลังแข็ง เวลาที่ภาครัฐต้องคิดค้นหาทางออกมาตรการกระจายเม็ดเงินผ่านระบบดิจิทัล ไปยังผู้คนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแบบที่ต้องถูกกฎหมาย ถูกฝาถูกตัว และต้องให้แบบถูกใจอีกด้วย บรรยากาศของเรา ๆ ท่าน ๆ ในเวลานี้คือต้องกลับมาสู่โหมด “อยู่ให้รอด อยู่ให้เป็น อยู่ให้ยาว เพื่อก้าวข้ามวิกฤติ จนกว่าชีพจะหาไม่”
ในขณะที่เรา ๆ ท่าน ๆ ต้องหารายได้มายังชีพ ป้องกันตัวเองแบบถ้าต้องอาบแอลกอฮอล์หลังกลับเข้าบ้าน ใส่หน้ากากจนเป็นอวัยวะที่ 33 และต้องมีกิจกรรมต่าง ๆ กับผู้คนแบบห่างกัน 1.5 – 2 เมตร จำนวนผู้คนเป็นล้านกำลังอยู่ในภวังค์มึน ๆ เมื่อระยะเวลาของการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของทางการเรื่องหนี้สินได้หมดลงไปปลายปีที่แล้ว ตอนนี้เวลานี้อยู่ในช่วงเวลาของมาตรการที่ออกมารองรับต่อเนื่อง อาการที่เกิดดังนี้
1.หนี้ยังมีเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือจะหามาจ่ายกันได้อย่างไร
2.รายได้ที่หดลงมาแบบฉับพลัน ตามภาษาเทพ ภาษาพรหมของบรรดานักวิชาการ ที่บอกว่าเรากำลังเจอภาวะ Income Shock ครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันทางการเงินน้อยลง จึงต้องออกมาตรการให้เฉพาะกับกลุ่มเป้าหมาย ถ้าเอาเป็นภาษาชาวบ้านคือ รับ-จ่ายติดลบ แถมมีหนี้มาจ่อตอนสิ้นเดือน ไม่กล้าคุยหรือกล้ารับโทรศัพท์ของคนที่ทำหน้าที่ติดตามหนี้ของธนาคารหรือสถาบันการเงิน
3.การจะเข้าไปเริ่มคุย เริ่มเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ทั้งแบบที่เป็นหนี้เสีย หนี้ NPL ไปแล้วกับปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย หนี้ NPL จะทำอย่างไร มันเกิดอาการ “กลัวกับอาย” มาก ๆ จึงมักหาคำตอบในคำถามผ่านช่องทางต่าง ๆ ก่อนดำเนินการ
4.กลุ่มที่พยายามเพิ่มหนี้ใหม่มากินใช้ที่ติดลบ กับกลุ่มที่พยายามเพิ่มหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่าก็ยังคงพยายามกันมากมาย แต่ก็ยากจะฝ่าด่านการพิจารณาเงินกู้ บางส่วนก็ระบายความไม่พอใจไปยังองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แบบฟัดไม่เลือกหน้าเอาให้มันสะใจ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ เมื่อไม่มีใครอนุมัติก็ด่าออกไปในทุกช่องทาง บางครั้งอาจจะลืมไปนิดว่า หนี้นั้นท่านได้แต่ใดมา หนี้นั้นท่านได้เพราะจำเป็นหรืออยากได้มเหตุแห่งการชำระหนี้ไม่ได้จนเกิดการสะดุดหยุดลงเป็นเพราะเหตุใด ไม่มีใครรู้ความจริง นอกจากตัวของลูกหนี้พูดกับตัวเองแบบไม่สะกดจิตหลอกตัวเอง เราลองหาสาเหตุว่าชีวิตและการดำเนินไปของตัวเรานั้นมันไปเลี้ยวผิดที่แยกการก่อหนี้ก้อนไหน หากเราไม่เจอต้นเหตุ เราก็ยากจะแก้ไขปัญหา หากเราไม่ยอมรับว่า “เป็นหนี้ต้อ��
มีคำถามจากผู้คนที่กำลังหาทางออกได้โพสต์ลงถาม และผู้เขียนคิดว่าน่าจะพอตอบได้ตามข้อมูลที่ส่งมาถามดังนี้ครับ
…. คือ เราผ่อนมอเตอร์ไซค์อยู่ แล้วมาช่วงโควิด-19 เราไม่ได้ผ่อนเลย 4-5 เดือน แล้วคราวนี้จะเอาเงินก้อนไปปิด ยอด 4-5 เดือนที่ติดแล้วผ่อนปกติส่วนที่เหลือ ตัดยอดค้างทิ้ง อยากทราบว่าเราจะหลุดจากการติดเครดิตบูโรล่าช้าหรือไม่
คำตอบ มีดังนี้ครับ
ท่านได้ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือหรือไม่ เพราะถ้าท่านเข้ามาตรการรับความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้ สถานะทางบัญชีของหนี้ก้อนนี้จะถูกทำให้คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงกล่าวคือ ถ้าท่านไม่ค้างหรือค้างแล้ว 30 วัน นับแต่วันเข้ามาตรการจนออกจากมาตรการ สถานะทางบัญชีท่านจะเหมือนเดิมคือท่านไม่ค้าง หรือค้างแล้ว 30 วัน ทีนี้พอออกจากมาตรการบัญชีนั้นก็จะเดินต่อตามจริง ถ้าครบกำหนดชำระแล้วไม่จ่ายก็คือค้าง ถ้าครบกำหนดแล้วมาจ่ายมันก็จะไม่ค้าง ทีนี้สมมติในทางดีว่าตอนต้นของการเข้ามาตรการท่านไม่ค้าง ตอนออกท่านก็ไม่ค้าง ท่านเอาเงินไปปิดยอดที่ไม่ได้จ่ายหรือเอาเงินก้อนไปปิดยอดที่เข้ามาตรการชะลอการชำระหนี้ที่ได้มีการตกลงกันไว้ สถานะบัญชีล่าสุดตอนที่ชำระเสร็จสิ้นคือ ปิดบัญชี ประวัติของท่านก็เป็นไปตามข้อเท็จจริง และเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการให้ความช่วยเหลือครับ
สมมติในทางร้ายคือท่านไม่ไปติดต่อเข้ามาตรการในทางใดทางหนึ่ง จำนวนวันค้างชำระของท่านก็จะไหลไปตามความจริงจากค้างไม่เกิน 30 วัน…ไล่ไปเรื่อย ๆ 60 วัน 90 วัน 120 วัน … ท่านได้ข้ามเส้นวันที่ค้างชำระในวันที่ 91 ท่านก็มีสถานะในบัญชีนั้นเป็นหนี้เสียหรือเป็นลูกหนี้ NPL เมื่อท่านเอาเงินไปปิดบัญชี มันก็จะกลายเป็นสถานะ ปิดบัญชี แต่ว่าประวัติในอดีตที่เคยเป็นคนค้างชำระ และค้างชำระจนเป็นหนี้เสีย มันก็อยู่ในรายงานข้อมูลเครดิตหรือภาษาชาวบ้านคือรายงานเครดิตบูโรครับ ข้อมูลเดือนที่ระบุว่าค้างชำระก็จะออกไปจากระบบนับจากวันที่ปิดบัญชี โดยเริ่มลบออกไปทีละเดือนใช้เวลาลบข้อมูลในแต่ละบรรทัดจนหมดสิ้นภายใน 36 เดือนข้างหน้าเช่น ท่านค้างชำระเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2563 ข้อมูลที่เข้ามาในระบบบรรทัดนี้จะออกจากระบบในเดือนเมษายน 2566 ครับ
ข้อแนะนำของผู้เขียนคือถ้าปิดหนี้ได้ก็ไปปิดเสีย ถ้าคิดว่าจะชำระหนี้ได้ยากให้รีบไปปรับโครงสร้างหนี้นะครับ ตามเกณฑ์ขั้นต่ำในเวลานี้ท่านจะได้ลดภาระค่างวดที่ผ่อนไม่น้อยกว่า 30% เช่นเดิมเคยผ่อน 9,000 บาทต่อเดือนก็จะลดลงมาที่ 6,000 บาทต่อเดือน เงินที่ลดนี้เขาจะเอาไปต่อท้ายงวดหลัง ๆ ต่อไป สัญญามันก็จะขยายเวลาออกไป คือท่านต้องเป็นหนี้นานขึ้น เว้นแต่จะมีเงินก้อนไปโปะปิดบัญชีในอนาคต
เอวังก็มีด้วยประการทั้งปวงดังนี้ครับ
คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : ทำไมต้องตรวจเครดิตบูโรของตัวเราเอง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 22 มกราคม 2564
ทำไมต้องตรวจเครดิตบูโรของตัวเราเอง
บทความนี้ ผมอยากจะสื่อสารข้อมูลของเครดิตบูโรในเรื่องช่องทางที่ผู้คนมีหนี้สินกับธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อรถยนต์ สถาบันการเงินต่าง ๆ จะได้ทราบว่า การจะไปตรวจเครดิตบูโรของตัวเราเองนั้น มันมีเหตุผลอะไรที่ต้องทำ มันได้ประโยชน์อะไร และเรา ๆ ท่าน ๆ จะไปหารายงานเครดิตบูโรของตัวเราเองได้ที่ไหนบ้าง
คำถาม : ทำไมเราต้องตรวจเครดิตบูโรของตนเอง
คำตอบ : เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลด้านที่เราเป็นหนี้ธนาคาร สถาบันการเงินนั้นมีความถูกต้อง เอกสารต้องรายงานยอดหนี้ของเราทั้งหมดและรายบัญชีนั้นมีความถูกต้อง บัญชีไหนปิดไปแล้วก็ต้องมียอดหนี้เป็น 0 บาท บัญชีไหนจ่ายตรงตามเงื่อนไขก็ต้องระบุว่าไม่ค้างชำระหรือค้างไม่เกิน 30 วัน เรื่องต่อมาคือ เราต้องป้องกันการฉ้อฉลแอบอ้างเอกสารส่วนตัวของเรา เช่น ปลอมแปลงสำเนาบัตรประชาชน เอกสารทางการเงินของตัวเราที่เรามักรับรองสำเนาบ่อย ๆ ไปสมัครสินเชื่อ ไปสมัครบัตรเครดิตหรือไปกู้เงินโดยใช้ชื่อเราเป็นผู้กู้ หากเราไม่ตรวจรายงานเครดิตบูโรของตัวเราเองบ้าง บางกรณีเรื่องจะลุกลามใหญ่โตเวลาที่เราจะไปกู้เงินก็พบว่ามีบัญชีแปลกปลอมเข้ามาในประวัติของเรา ส่วนใหญ่ของคนที่เจอจะมีประวัติการค้างชำระเพียบ มีการกู้เงินไปหลายบัญชีหลายแห่งมาก
ประการต่อมา คือ การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อต่าง ๆ จากสถาบันการเงินคือรู้จักตัวเราเองก่อนไปคุยกันในรายละเอียดกับคนให้กู้ รู้ตัวเองว่าประวัติการก่อหนี้ และการชำระหนี้ในอดีตตนเองเป็นอย่างไร
คำถาม : จะไปตรวจเครดิตบูโรได้ที่ไหนบ้างในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
คำตอบ : ที่ผ่านมา เครดิตบูโรได้ดำเนินการพัฒนาและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของข้อมูลในการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิตได้อย่างรวดเร็ว หลากหลายช่องทาง อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองและเพื่อป้องกันภัยการเงินในยุคปัจจุบัน ดังนี้ครับ
1.ตรวจที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร แบบรอรับรายงานได้เลย วันจันทร์-ศุกร์ ได้ที่ 1) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่) อาคาร 2 ชั้น 2 2) เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (โซนธนาคาร) 3) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) 4) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ภายในสถานี) หรือทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ได้ที่ 5) Bureau Lab (บูโรแล็บ) BTS หมอชิต (ภายในสถานี) 6) ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม และเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ในห้างสรรพสินค้า ได้ที่ 7) CITI (เดอะมอลล์ บางกะปิ) 8) UOB (ห้างเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต บางใหญ่)
2.รับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมล แบบสะดวก รวดเร็ว 1) ผ่านโมบายแอป “KKP e-Banking” รับรายงานทางอีเมลได้ทันที 2) โมบายแอป “ttb touch” รับรายงานทางอีเมลภายใน 3 วัน และ 3) โมบายแอป “Krungthai Next” รับรายงานทางอีเมลภายใน 1 วัน* (ท่านจะได้รับรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่เครดิตบูโรกำหนด)
3.กรณีอยู่ต่างจังหวัด สามารถยื่นขอรายงานข้อมูลเครดิต แบบส่งรายงานกลับไปให้ทางไปรษณีย์ ลงทะเบียน ภายใน 7 วันทำการ ได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่ 1) เคาน์เตอร์ธนาคาร (ทุกสาขา) กรุงศรี กรุงไทย ธอส. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธ.ก.ส. 2) ใช้บัตร ATM ที่ตู้ธนาคารกรุงไทย ไทยพาณิชย์ 3) ใช้โมบายแอปพลิเคชัน สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนธนาคารมือถือกรุงไทย ทีทีบี เกียรตินาคินภัทร 4) ใช้บริการธนาคารออนไลน์กรุงศรี กรุงไทย 5) ที่ทำการไปรษณีย์ เฉพาะสาขาที่ให้บริการ
ตรวจเครดิตบูโรของท่านเป็นประจำ ท่านจะมีคำถามกับตัวเองเสมอว่าทำไมเรามีบัตร มีหนี้มาก บ่อยเข้า ท่านจะลดละเลิกสิ่งที่ไม่จำเป็น ลดการใช้บัตรเครดิตซื้อของที่ไม่จำเป็น ดังคำเตือนที่ว่า จ่ายขั้นต่ำเป็นประจำ จะนำปัญหาหนี้สินอย่างมากมาสู่เรา ไม่ช้าไม่นาน งานเข้าแน่นอน…..ขอบคุณครับ
เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ระบาดใหม่ครั้งนี้ กับมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยมาได้ตรงกับสถานการณ์ : วันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2564
ระบาดใหม่ครั้งนี้ กับมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยมาได้ตรงกับสถานการณ์
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 ต่อเนื่องมาถึงเดือนใหม่ปีใหม่ และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่ทางการแพทย์ไทยจะสามารถจัดการควบคุมได้ การจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดครั้งนี้จะดำเนินไปกับการเปิดให้สถานประกอบการ ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้คนยังคงดำเนินชีวิตแบบมีเงื่อนไขบางอย่างทางสาธารณสุข เพื่อประคองระบบเศรษฐกิจให้เดินไปได้แบบทุลักทุเลและซื้อเวลากันไป เพื่อให้อาวุธที่ดีที่สุดได้มีการใช้อย่างเต็มที่ซึ่งนั่นก็คือวัคซีน และการมีภูมิคุ้มกันหมู่
สิ่งที่เป็นความท้าทายในช่วงเวลานี้คือ
1.จะประคองให้การจ้างงานยังเดินต่อไปได้อย่างไร
2.คนที่โดนผลกระทบจนเป็นคนเสมือนคนว่างงานคือทำงานไม่เต็มเวลา ถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำงานไม่เต็มศักยภาพทำงานไม่เกิน 35-40 ชม.ต่อสัปดาห์ จะมีจำนวนเพิ่มจากหลักล้านคนเป็นหลายล้านคน
3.ปัญหาการชำระหนี้ อย่าลืมว่าในช่วงเวลานี้คนส่วนใหญ่ที่รายได้ลดแต่มีหนี้สินจะมีอาการ “หนี้ยังมีเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือไม่รู้จะจ่ายอย่างไร”
4.หากข้อ 1 และ 2 ข้างต้นมีปัญหาแล้วมาประกอบกับข้อ 3 ก็จะนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีของเจ้าหนี้ตามกลไกรักษาสิทธิตามกฎหมาย
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้ผ่านชุมชนพันทิปจะเห็นเจ้าของกระทู้หลายรายเข้ามาขอความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น
กรณีที่ 1 …ถูกพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยได้รับจดหมายแจ้งจากบริษัทตัวแทนดำเนินการแทนธนาคารเจ้าหนี้
คือ เราได้รับจดหมายดังกล่าวข้างต้นก่อนเป็นลำดับแรก ต่อมาได้รับเอกสารเป็น หนังสือแจ้งข้อมูลเครดิตที่รายงานบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
โดยในหนังสือเป็นการสรุปการใช้จ่าย การชำระหนี้ที่ผ่านมา (ภาษาชาวบ้านคือใบเรียกเก็บหนี้รายเดือนที่เจ้าหนี้ส่งมาให้ลูกหนี้) วันที่เริ่มต้นผิดนัดชำระ และสถานะบัญชี ซึ่งส่งมาในนามจดหมายจากธนาคารแห่งหนึ่งค่ะ
เราจึงอยากรู้ว่า การส่งจดหมายมาแบบนี้ คือ สัญญาณก่อนจะดำเนินคดีจริง ๆใช่ไหมคะ
กรณีต่อมาคือ… เคยถูกโทรทวงหนี้ และเจรจา ไต่ถามบอกกล่าวถึงทางออกในการปรับโครงสร้างหนี้ มีหลายแบบตั้งแต่ชำระหนเดียวแล้วได้รับส่วนลดในการเป็นหนี้ ปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ เราก็รับฟังและชี้แจงตามความจริง คือ เราตกงาน ถ้ามีงานก็จะมีเงินคืน ไม่ได้หนีไปไหน ตอนนี้หางานอยู่ ก็ดูเหมือนเขาจะเข้าใจ แต่ในที่สุดก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายอะแหละ ซึ่งเราก็ทำใจว่าถ้าเกิดคดีความขึ้นมาจริง ๆ เราไม่รู้ว่าต้องทำไงบ้างเลยมาขอคำแนะนำจากคนที่อาจเคยมีประสบการณ์เป็นหนี้บัตรเครดิตค่ะ
ภาพสะท้อนสิ่งนี้มันไม่ได้มีจำนวนคนสองคน พันสองพันคน แต่มีเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนลูกหนี้ จำนวนที่เป็นหนี้ก็มากน้อยต่างกันไป
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะได้เล็งเห็นประเด็นนี้ และมีข้อมูลจากภาคสนาม ในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือรอบใหม่จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 จึงออกแบบในลักษณะ เฉพาะเจาะจง ตอบโจทย์ของแต่ละกลุ่มลูกหนี้ ขอร้องกึ่งกดดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับรายได้ที่ถูกกระทบของลูกหนี้เป็นสำคัญ ท่านผู้อ่านลองคิดภาพ คนที่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิตมีหนี้ 100 บาท ในแต่ละรอบบัญชีต้องชำระขั้นต่ำ 3-5 บาทหรือ 3-5% แต่จำนวนหนี้ต้นเงินไม่ลด ซึ่งจะถูกคิดดอกเบี้ยที่ 16-18% ดังนั้นลูกหนี้จะรู้สึกว่าการจ่ายหนี้แบบเลี้ยงงวด มันคือจ่ายดอกต้นอยู่ครบ เงินที่จ่ายไม่เข้าต้น แถมดอกเบี้ยก็แพง โอกาสผิดนัดชำระสูงมาก การที่ ธปท. กำหนดเป็นทางออกว่า ถ้าจะมีการปรับใหม่ว่า คนที่เป็นลูกหนี้ตัดยอดหนี้บัตรเครดิตเดิมทั้งหมดหรือบางส่วนมาแปลงเป็นหนี้ที่ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment loan) โดยยอดเงินที่ผ่อนชำระจะมีทั้งส่วนที่จ่ายดอกเบี้ย และส่วนที่เข้าต้น แบบลดต้นลดดอกเบี้ย ผสมกับลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 12% ก็จะก่อให้เกิดการประหยัดดอกเบี้ย ในขณะที่ระยะเวลาในการผ่อนก็ยาวได้ถึง 48 งวดหรือ ไม่เกิน 4ปี ก็น่าจะเป็นทางออกได้อีกกรณีหนึ่ง
ในส่วนของลูกหนี้ที่มีการฟ้องร้อง ศาลท่านก็มีกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องหรือมันก็คือการปรับโครงสร้างหนี้แบบมีตัวกลางที่ทั้งสองฝ่ายเกรงใจ เพื่อให้การเจรจามันไม่เกิดการเอาเปรียบเกินไป ขณะที่กรมบังคับคดีก็มีมาตรการมาช่วยการไกล่เกลี่ยก่อนการบังคับคดีแบบในที่แตกต่างจากสถานการณ์ปกติมาช่วยคนที่ลำบากเดือดร้อนอีกทางหนึ่ง
ท่านรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ภาครัฐไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ทำให้ผลกระทบอาจไม่เท่ากับปีก่อน แต่ ธปท. และธนาคารพาณิชย์ก็หารือกันเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มภาคแรงงาน เพราะโดนลดชั่วโมงการทำงานจากโรงงานปิดชั่วคราว
แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้ลูกหนี้ได้เข้าใจว่าหากเข้าโครงการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ลูกหนี้จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นหลังหมดมาตรการพักหนี้แล้ว เพราะหนี้ที่พักหรือดอกเบี้ยยังเดินอยู่ไม่ได้หายไปไหนซึ่งมันจะทำให้ไปเพิ่มภาระเป็นค่างวดที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละงวดหรือไปเพิ่มภาระงวดการชำระช่วงท้ายสัญญาได้
ธปท. จึงอยากเห็นการปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า การชะลอการชำระหนี้ หรือพักการชำระหนี้สองสามงวดในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับรายได้จะช่วยลูกหนี้ได้ยั่งยืนกว่า แต่ก็ยอมรับว่าขึ้นอยู่กับตัวลูกหนี้ที่บางกลุ่มอาจต้องจำเป็นช่วยชะลอหรือพักหนี้ไปก่อน ในระยะต่อไปก็ต้องมาดูกันว่าจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ข้อมูลจากฝั่งเจ้าหนี้จะทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ
หนี้ยังมีเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือจะจ่ายได้อย่างไร ใจเราไม่อยากค้าง ไม่เคยคิดจะหนีหน้าหรือหนีหนี้ แต่ชีวีต้องรอดก่อน ขอท่าน (เจ้าหนี้) อย่าใจร้อน หากใช้ค้อน (กฎหมาย) ทุบเอา.. มันก็หมดกัน เราจะต้องซื้อเวลาและเดินหน้ากันไปอย่างทุลักทุเลครับในเวลานี้
โดนปฏิเสธสินเชื่อ เพราะติด Blacklist ติดบูโร ใช่จริงหรือ?
ขอสินเชื่อ แต่ไมผ่านเพราะโดนอ้างว่า ติด Blacklist ติดบูโร ใช่จริงหรือ ?
ในกรณีที่ท่านยื่นพิจารณาขอสินเชื่อ แต่โดนสถาบันการเงินหรือธนาคารปฏิเสธกลับมา โดยมีคำกล่าวอ้างที่ว่า ท่านติด Blacklist จากเครดิตบูโร ทำให้ยื่นขอสินเชื่อไม่ผ่าน ซึ่งต้องบอกว่าคำกล่าวนี้ ไม่เป็นความจริงค่ะ
เพราะในความเป็นจริงเครดิตบูโรไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติหรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อใคร และเครดิตบูโรไม่เคยมีหน้าที่จัดทำ และขึ้นบัญชี Blacklist ให้กับใครในฐานข้อมูล ทั้งในรายงานข้อมูลเครดิตก็ไม่มีคำว่า Blacklist อีกด้วยค่ะ
เครดิตบูโรมีหน้าที่เพียงจัดเก็บรักษา รวบรวม และประมวลผลตามที่สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกจัดส่งให้เท่านั้น
ฉะนั้นแล้วการที่ท่านโดนปฏิเสธสินเชื่อ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครดิตบูโร แต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น รายได้เกณฑ์ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนด หรือข้อมูลที่ปรากฏในเครดิตบูโร ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่ขอกู้ ซึ่งอาจเป็นผลจากท่านมีประวัติกาชำระหนี้ที่ไม่ดี หรือผิดนัดชำระกับสถาบันการเงิน
ข้อมูลในเครดิตบูโรคลาดเคลื่อน จะขอแก้ไขได้อย่างไร?
เมื่อข้อมูลเครดิตของท่านไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนจากความจริง ต้องการแก้ไขข้อมูลสามารถทำตามได้ ดังนี้ค่ะ
1. ติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงิน
ท่านควรติดต่อกับสถาบันการเงินของเจ้าของบัญชี เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง หากข้อมูลไม่ถูกต้อง สถาบันการเงินจะแจ้งให้ทางเครดิตบูโรแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง และแจ้งผลแก่เจ้าของบัญชีทราบภายใน 30 วัน
2. ติดต่อศูนย์ตรวจเครดิตบูโร
สำหรับท่านใดที่ต้องการแก้ไขข้อมูลเครดิตผ่านทางศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สามารถทำได้ 2 วิธีดังนี้
วิธีที่ 1 ยื่นคำขอผ่านที่ทำการไปรษณีย์
– Download แบบคำขอได้ที่ https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/form_download
– ส่งเอกสารคำขอพร้อมหลักฐานมาทางไปรษณีย์ ถึง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ส่วนรับเรื่องร้องเรียน เลขที่ 33/4 อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระราม 9 ชั้น 2 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
วิธีที่ 2 ยื่นคำขอ ณ ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง
โดยกรอกแบบคำขอแก้ไขข้อมูลพร้อมยื่นเอกสาร ดังนี้
– สำเนาบัตรประจำตัวประะชาชน
– สำเนารายงานเครดิตบูโรที่ต้องการแก้ไข
– หลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งสถาบันการเงินของผู้ส่งข้อมูลให้ตรวจสอบความถูกต้อง
จากนั้นจะแจ้งผลการตรวจสอบให้เจ้าของข้อมูลทราบภายใน 30 วัน นับจากวันที่ยื่นคำขอ
หากข้อมูลไม่ถูกต้องจริง และสถาบันการเงินได้แก้ไขแล้ว เครดิตบูโรจะส่งข้อมูลเครดิตฉบับที่แก้ไขแล้วให้กับเจ้าของข้อมูล
แต่ถ้ามีการยืนยันแล้วว่าข้อมูลถูกต้อง ไม่สามารถทำการแก้ไขข้อมูลได้ เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ขอให้เครดิตบูโรบันทึกโต้แย้งไว้ในระบบข้อมูลเครดิตและสามารถยื่นอุทธรณ์ ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตเพื่อพิจารณาได้นั่นเองค่ะ
รับมือกับความไม่มั่นคงกับเคล็ดลับ 5 รู้ ที่จะเปลี่ยนแผนการเงินให้ปังขึ้นกว่าเดิม
การเงินเริ่มสะดุด แผนชีวิตเริ่มไม่มั่นคง อาจเป็นเพราะเราไม่มีวินัยทางการเงินที่ดีพอ แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ เรามีวิธีการรับมือกับความไม่มั่นคงทางการเงินง่าย ๆ กับเคล็ดลับ 5 รู้ มาฝากกันค่ะ
1. รู้เก็บไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
จัดสรรรายได้ของตนเอง แบ่งสัดส่วนรายจ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มสังเกตจากการทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายประจำวันเพื่อให้รับทราบสถานะการเงินของตนเองอยู่ตลอดเวลา
2. รู้ออมเพื่อสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือเหตุไม่คาดฝัน
เหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้สถานะทางการเงินสั่นคลอนจึงควรมีการเก็บออมเพื่อใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน
3. รู้หาการลงทุนเพื่อเงินงอกเงยในอนาคต
มองหาช่องหาทางการลงทุนเพื่อให้เงินของเรางอกเงยเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับชีวิตในระยะยาวไปจนถึงเกษียณอายุ
4. รู้จักตรวจสอบสวัสดิการ และประกันสุขภาพเพิ่มความคุ้มครองชีวิต
หมั่นตรวจสอบ หรือหาสวัสดิการเพื่อมารองรับแผนความมั่นคงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ
5. รู้จักหาเงินจากแหล่งรายได้เสริม
เมื่อรู้ว่ารายรับสวนทางกับรายจ่าย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหารายได้เสริมเพื่อมารับมือกับสถานะการเงินของตนเอง