Blog Page 75

ข่าวเครดิตบูโร 008/2563 : “เจ ฟินเทค” เพิ่มประสิทธิภาพสินเชื่อ เจ มันนี่ เป็น Non-Bank รายแรกที่ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลแบบเรียลไทม์

“เจ ฟินเทค” เพิ่มประสิทธิภาพสินเชื่อ เจ มันนี่ เป็น Non-Bank รายแรกที่ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลแบบเรียลไทม์

วันที่ 23 ธันวาคม 2563 : บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด เดินหน้าเสริมประสิทธิภาพการให้บริการสินเชื่อเจ มันนี่ (J Money) เปิดบริการ สมัครสินเชื่อ ตรวจสอบข้อมูลเครดิต และ เครดิตสกอริ่ง โดยร่วมกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด หรือ NDID และ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสมัครและตรวจสอบข้อมูลเครดิตในเบื้องต้นของตนเองผ่านทางแอปพลิเคชัน J Money รวมทั้งสามารถยืนยันตัวตนการสมัครและยินยอมให้เปิดข้อมูลตนเอง แบบดิจิทัลได้ทันทีจากแพลตฟอร์ม JID ตามมาตรฐานของ NDID ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นไปด้วยความปลอดภัย มั่นใจได้ด้วยการจัดเก็บบนเทคโนโลยีบล็อกเชน และ ถูกต้องตามกฎหมาย

นายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัทเจมาร์ท กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เจ ฟินเทคได้พัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการสินเชื่อเจ มันนี่มาตลอด เบื้องต้นเมื่อลูกค้าต้องการขอสินเชื่อ จะต้องใช้ระยะเวลาจากที่ใช้เวลา 3-5 วัน ในกระบวนการทางเอกสารแบบอนาล็อกและการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลเครดิต แต่ด้วยความร่วมมือกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) และ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ทำให้เราพัฒนาฟีเจอร์ “e-NCB” สำหรับให้ข้อมูลเครดิต ในกระบวนการ เครดิตสกอริ่งแบบดิจิทัล “e-Scoring” ทำให้ลดเวลาในการตรวจสอบผลอนุมัติเบื้องต้น (Pre-Approval) เหลือเพียง 3 นาที ด้วยการเชื่อมต่อเข้าสู่ฐานข้อมูลเครดิตทำให้ระบบสามารถวิเคราะห์ขั้นต้น ว่าผู้ขอสินเชื่อไม่มีความเสียหายในประวัติทางการเงินใดๆ จากระบบฐานข้อมูลเครดิตบูโร โดยทำงานร่วมกับ แพลตฟอร์ม JID ของ เจ เวนเจอร์ ที่เป็นระบบ “e-KYC ” สำหรับการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัล ที่เชื่อมต่อบนโครงข่าย NDID ทำให้ลูกค้าเห็นโอกาสที่จะได้ได้รับอนุมัติวงเงินอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอลุ้นนาน
โดยหลังจากนี้เจ ฟินเทคก็ได้เร่งพัฒนาระบบการให้สินเชื่อดิจิทัลเต็มรูปแบบตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ด้วยการทำงานแบบ paperless ด้วยกระบวนการตอบรับวงเงินสินเชื่อและสัญญา ผ่านระบบ “e-Contract” ผ่านกระบวนการ “e-Signature” ทั้งนี้ระบบงานและเทคโนโลยีทั้งหมด ของ เจ มันนี่ แอปพลิเคชัน พัฒนาและดูแลโดย เจ เวนเจอร์ส ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารรายแรก (Non-Bank) ที่เปิดให้บริการสินเชื่อดิจิทัลได้แบบเรียลไทม์

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร กล่าวว่า “สำหรับความร่วมมือกับบริษัท เจ ฟินเทค ในครั้งนี้นับว่าเป็นอีกก้าวของการขยายการให้บริการด้านข้อมูลเครดิตให้สอดคล้องไปกับรูปแบบการใช้ชีวิตทางการเงินในยุคนี้ เนื่องจากปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่สังคมดิจิทัล มีการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งเครดิตบูโรเองก็ได้พัฒนาทั้งระบบประมวลผล การรายงานผลข้อมูล และการให้บริการให้มีคุณภาพและทันสมัย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และหลากหลายช่องทาง โดยการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้จะช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของบุคคล ป้องกันความเสี่ยง รวมทั้งการฉ้อฉลในการกู้ยืมอีกด้วย
และมั่นใจได้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองดูแลและรักษาความลับด้วยระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล”

นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด หรือ NDID กล่าวว่า “เพื่อรองรับการเติบโตของการทำธุรกรรมดิจิทัลในประเทศไทย สิ่งสำคัญที่ทั้งฝั่งของผู้ทำธุรกรรม และผู้ให้บริการ ต้องการคือ ความมั่นใจว่าบุคคลที่ทำธุรกรรมนั้นคือบุคคลนั้นอย่างแท้จริง อันเป็นก้าวแรกของความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมดิจิทัล ซึ่ง NDID เองเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล บริการ NDID มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐาน และความน่าเชื่อถือของการทำธุรกรรมดิจิทัล และสามารถนำไปต่อยอดไปสู่ขั้นตอนอื่นๆ ได้อย่างมั่นใจในความปลอดภัย NDID Platform มีความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใสตรวจสอบได้ เนื่องจากดำเนินงานอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชนอีกทั้งเรายังได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในหลายภาคส่วนในการให้บริการ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมและรองรับการเติบโตของการทำธุรกรรมดิจิทัลได้เป็นอย่างดี”

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือบริษัทเจมาร์ท ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม JID เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล กล่าวว่า “JID เป็น บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลที่มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามมาตรฐานของ NDID โดยการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลนั้น เป็นการพิสูจน์ตัวตนเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีธนาคาร การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงิน การเปิดบัญชีหลักทรัพย์ออนไลน์ กองทุนออนไลน์ และประกันภัย เป็นต้น การยืนยันตัวตนด้วยแอปพลิเคชัน JID นั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ ช่วยให้ผู้ใช้งานมีความสะดวก ลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มั่นใจในความปลอดภัยอีกขั้นตอน ด้วยระบบเปรียบเทียบใบหน้าเทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric) จากข้อมูลทางกายภาพเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตน และมั่นใจในความโปร่งใสด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน”

สำหรับบริการ สมัครสินเชื่อ ตรวจสอบข้อมูลเครดิตและเครดิตสกอริ่ง โดย J Money มีขั้นตอนการทำงานง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชัน J Money โดยลูกค้าลงทะเบียนและเลือกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ จากนั้นกรอกข้อมูลพื้นฐานบุคคลในการสมัครสินเชื่อ และให้ความยินยอมในเปิดข้อมูลเครดิตของตนกับเครดิตบูโรแบบ e-NCB และเลือกว่าจะยืนยันตัวตนดิจิทัล ด้วยแอปพลิเคชัน JID (e-KYC) จากนั้นระบบจะส่งข้อความแจ้งให้ทราบถึงผลลัพธ์ และโอกาสอนุมัติวงเงินต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน J Money ได้ทั้งทางระบบ Android และ iOS

*ภาพดังกล่าวถูกบันทึกก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

 

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร

E-mail: ilovebureau@ncb.co.th / website: www.ncb.co.th / facebook: www.facebook.com/ilovebureau

เช็กก่อนเซ็น “ค้ำ” ถ้าไม่อยากเป็นหนี้หมดตัว!

เช็กก่อนเซ็น “ค้ำ” ถ้าไม่อยากเป็นหนี้หมดตัว!

เซ็น “ค้ำประกัน” โดยไม่เช็กเอกสารให้ดี ระวังใบแจ้งหนี้มาจอดอยู่ที่หน้าบ้านโดยไม่รู้ตัววววว

การค้ำประกัน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญในการพิจารณาขอสินเชื่อของสถาบันการเงิน แต่เกิดเพลี่ยงพล้ำเซ็นโดยไม่เช็กรายละเอียดให้ดี ก็อาจทำให้ท่านเป็นผู้รับภาระหนี้แทนได้นั่นเองค่ะ

1. อ่านรายละเอียดสัญญาให้ชัดเจนว่าผู้กู้มีหลักทรัพย์เพียงพอต่อการชำระหนี้

2. เซ็นสัญญาโดยมีลายลักษณ์อักษรชัดเจน และห้ามเซ็นสัญญาที่บอกว่า “ให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนได้”

3. ผู้ค้ำประกันจะต้องไม่รับผิดแทนลูกหนี้ หากไม่ได้ระบุในสัญญา

4. ข้อตกลงจะเป็นโมฆะ เมื่อหนี้ของผู้กู้สร้างภาระให้เกินสมควร

5. ผู้ค้ำประกันห้ามชำระดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หากเจ้าหนี้ไม่แจ้งหนังสือให้ชำระแทนลูกหนี้ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ลูกหนี้ผิดชำระหนี้

6. หากชำระหนี้แทนลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันสามารถฟ้องลูกหนี้เรียกค่าเสียหายตามวงเงินที่ชำระหนี้แทน รวมถึงค่าเสียหายอื่น ๆ ได้

แหล่งอ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/890040

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ป้องกันดี มีวินัย ปลอดภัยทุกคน : วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2563

ป้องกันดี มีวินัย ปลอดภัยทุกคน

เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเรากำลังเข้าสู่โหมดเตรียมตัวเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านจากปีเก่า 2563 สู่ปีใหม่ 2564 บนความคาดหวังว่าเครื่องมือที่จะมาต่อสู้กับโรคระบาดที่เรียกว่า วัคซีน จะมาทำให้ชีวิตได้กลับไปดำเนินแบบปกติเหมือนดังเดิม

มีบางครอบครัววางแผนไปท่องเที่ยวมีบางกิจการวางแผนจัดงานปีใหม่

มีบางกิจการวางแผนจัด outing

มีบางกิจการกำลังคิดทำบุญบริษัท

มีกลุ่มสายบุญคิดเรื่องสวดมนต์ข้ามปี

มีกล่มคิดดีจะออกไปทำค่ายอาสาพัฒนา

มีกลุ่มคิดต่างทางการเมืองจะทำการชุมนุมแสดงออกทางสัญลักษณ์

และยังมีใครต่อใครคิดเรื่องการจัดกิจกรรมที่จะมีการรวมตัวของผู้คน เช่น ห้างสรรพสินค้าจัดงานเฉลิมฉลองพร้อมการขายของ ลานเบียร์กะว่าจะมีคนมาดื่มกินตามบรรยากาศเย็นๆ ร้านอาหารก็กะว่าคนจะมากินเลี้ยงกันคึกคักปลายปี

เหตุเพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ไม่มีนิสัยอยู่แบบโดดเดี่ยว ชอบอยู่กันเป็นหมู่คณะ มีการดำเนินชีวิตแบบมีส่วนร่วมกัน หากแต่โรคภัยที่เข้ามา จะพบว่า มันมาขัดขวางการดำเนินชีวิต ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ แน่นอนว่าคำแนะนำ

1. อยู่ห่างๆ กัน

2. ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ

3. ใส่หน้ากากป้องกัน

แต่พอข่าวออกมาในช่วงวันหยุด ข่าวหยุดโลกของกรณีสมุทรสาคร บวกกับการโหมกระพือของสื่อบนออนไลน์ การกระจายของข่าวก็ออกไปอย่างรวดเร็ว ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่มีความวิตกกังวล ซึ่งกังวลว่า1. มันเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในวงกว้าง

2. การแพร่กระจายจะเป็นอย่างไร

3. มาตรการที่ภาครัฐออกมาในระดับพื้นที่ จะส่งผลมาถึงความเป็นอยู่ในเมืองหลวงกี่มากน้อย

4. ครอบครัว กิจการ หน้าที่การงาน จะต้องเข้าสู่โหมดเตรียมพร้อมระดับสีแดงเหมือนตอนเมษายน อีกหรือไม่

5. แล้วปีหน้า เราจะไปกันอย่างไร ไอ้แผนที่วางไว้เดิมมันคงต้องเปลี่ยน เพราะสมมติฐานมันต้องใส่ปัจจัย โอกาสที่จะต้องเจอการระบาดเฟสสองเข้าไปในการเตรียมความพร้อมของแผนปีหน้าเริ่มมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

ผู้เขียนมีภาพหนึ่งที่ได้รับมา เป็นข้อมูลที่ดีมาก ในการแก้ไขความตื่นตระหนกให้กลับมาเป็นความตระหนักรู้ รู้ว่า “เพียงเราสวมหน้ากาก มันจะไม่ลำบากเท่าติดเชื้อ” หรือถ้าเราสามารถจัดให้มีระบบทำงานจากที่บ้านได้ (Work from Home) มันจะลดความเสี่ยงอะไรลงไปมากมาย ภาพที่ทำให้เราต้องตื่นรู้เกี่ยวกับการแพร่กระจายและการติดต่อ ตลอดจนแนวทางที่พี่ๆ ด้านสาธารณสุข?กำลังขับเคี่ยวกันนั้นจะทำให้เราๆ ท่านๆ รู้ว่าเราควรต้องทำตัวอย่างไร ดูภาพประกอบด้านล่างนะครับ

สิ่งสำคัญคือเราต้องประเมินตัวเรา ครอบครัวเรา คนรอบข้าง พนักงานกิจการเรา ว่ามีความเสี่ยงอยู่ในวงกลมที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 เหตุเพราะทางสาธารณสุข เขาใช้หลักการนี้ในการ ตรวจ การติดตาม การแยกแยะคัดกรอง การนำมากักตัว และการรักษาฟื้นฟู

ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ยามนี้เราต้องช่วยกันโดยเรียงลำดับความสำคัญดังนี้

1. ตั้งสติ สำรวจตรวจสอบตัวเองและคนใกล้ชิดว่าเตรียมความพร้อม และจัดให้มีข้าวของหรือมาตรการป้องกันตัวเองให้พอ

2. รับฟัง รับรู้สิ่งใดมา ไม่ต้องรีบแชร์ออกไป ดูให้ชัด เอาให้ชัดว่า ข่าวนั้นมีที่มา มีความน่าเชื่อถือประมาณไหน ไม่ต้องแข่งโอลิมปิกในการเป็นผู้นำสารที่รวดเร็ว ด้วยกลัวว่าตนเองจะไม่ได้รับคำชมในกลุ่มไลน์

3. ติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เป็นทางการของคุณหมอ อย่าไปฟังเรื่องที่พวกนักการเมืองมาแถลง เชื่อพวกหมออย่าไปเชื่อพวกเขานะครับ

ผลกระทบทางธุรกิจ ทางเศรษฐกิจคงมีมาแน่ แม้เราจะมีโครงการคนละครึ่งมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน อย่าลืมว่าเรายังมีประเด็นปัญหา ค่าเงินบาทที่แข็ง เงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ การที่ SME ยังต้องการสภาพคล่องแต่ติดขัดที่ยังกระจายผ่านท่อที่วางแผนไว้มันตีบตัน ตัวเลขหนี้เสียมีเพิ่มแน่ ขอเพียงอย่าก้าวกระโดดแบบถล่มทลาย และปริมาณการปรับโครงสร้างหนี้มันทำได้อย่างมีพลัง ส่วนใหญ่คงจะรอดไปได้แม้จะเป็นแบบทุลักทุเลก็ตาม

มาตรการล้างมือ ใส่หน้ากาก จะหยุดเชื้อ หยุดเชื่อข่าวลือ จะช่วยชาติได้จริงๆ ป้องกันได้ดี มีวินัย ปลอดภัยทุกคนครับ

ขอขอบคุณ ที่ติดตามครับ

New Year New Plan วางแผนการเงินรับปีใหม่อย่างไร ให้แผนไม่ล่ม

New Year New Plan วางแผนการเงินรับปีใหม่อย่างไร ให้แผนไม่ล่ม

เริ่มต้นปีใหม่มาทั้งที จะให้แผนการเงินล่มเลยทันทีก็ไม่ได้ใช่ไหมคะ  เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงมีภาพจินตนาการ ความคิดที่อยากจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งปีอยู่มากมาย รวมไปถึงรายจ่าย หนี้สินที่มีอยู่ ถ้าหากไม่มีการวางแผนที่ดี รับรองได้ว่า ภาพจินตนาการที่วาดฝันไว้ได้ล่มอย่างแน่นอนค่ะ

ฉะนั้นเพื่อให้ความคิดทุกอย่างที่วางแผนไว้ไม่ล่ม มาลองดู New Plan ที่ควรวางแผนการเงินในช่วงต้นปีนี้กันค่ะ

– Checklist หนี้สินที่มี

ก่อนวางแผนการเงินใดใด สิ่งที่สำคัญคือการสำรวจหนี้สินที่มี ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินเก่าในปีก่อน หรือหนี้สินใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการสำรวจหนี้สินเช่นนี้จะช่วยให้เรามีวิธีการจัดการรายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ให้กระทบกับค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ

– กำหนดแผนการเงินคร่าว ๆ ในแต่ละเดือน

วางแผนการเงินตลอดปีให้ไม่ล่ม ต้องมีการกำหนดเป้าหมายการเงินในแต่ละเดือนอย่างคร่าว ๆ ไว้ล่วงหน้า ว่าในเดือนนั้น ๆ ของเราจะใช้จ่ายไปกับอะไร เช่น ช่วง 3 เดือนแรกวางแผนเรื่องภาษี ช่วงกลางปีวางแผนการลงทุน และสุขภาพ เป็นต้น

– แบ่งรายจ่ายเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน

เช่น รายจ่ายสำหรับใช้ส่วนตัว รายจ่ายสำหรับที่พักอาศัย รายจ่ายสำหรับค่าอาหาร รายจ่ายสำหรับการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งวิธีการแบ่งเงินให้เป็นสัดส่วนจะช่วยให้เราสามารถจัดการรายจ่ายได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ทำให้เรามองเห็นภาพรวมของรายจ่ายทั้งหมด สามารถลดรายจ่ายไม่จำเป็นลงไปได้ ค่ะ

– อัปเดตพอร์ตการลงทุนสม่ำเสมอ

ปีหน้าฟ้าใหม่ไม่รู้จะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไร การนำเงินไปลงทุน หรืออัปเดตพอร์ตการลงทุนที่มีอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่งค่ะ เพราะถือเป็นการเช็กว่าพอร์ตของเรามีความเหมาะสมหรือไม่ มีความเสี่ยงในการขาดทุนมากน้อยเพียงใด เพื่อที่เงินที่เรานำไปลงทุนได้จะได้งอกเงย ได้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสมตลอดทั้งปี

– หมั่นติดตามความคืบหน้าของตนเองอยู่ตลอดเวลา

สิ่งสำคัญของการวางแผนการเงินคือการคอยติดตาม และอัปเดตสิ่งที่ทำอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยให้เรามีพลังและแรงบันดาลใจในการทำสิ่งนั้น ๆ ต่อไป อาจจะเริ่มจากเช็กตนเองในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์ว่ามีการใช้จ่ายไปเท่าไร่ มีข้อผิดพลาด หรือข้อควรปรับปรุงอะไร เพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาแผนการเงินของตนเองให้ดียิ่งขึ้นไปนั่นเองค่ะ

การทำ New Plan วางแผนการเงินประจำปี ถือเป็นการสร้างพลัง และแรงบันดาลใจที่ดีในการก้าวไปสู่เป้าหมายอิสรภาพทางการเงินที่วางแผน แต่ท้ายที่สุดแผนทุกแผนที่สร้างจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่มีวินัยอย่างแน่นอนค่ะ

4 นิสัยเสี่ยงการเงิน ไม่จัดการให้ดี ระวังล้มเหลวทางการเงินตั้งแต่ต้นปี

4 นิสัยเสี่ยงการเงิน ไม่จัดการให้ดี ระวังล้มเหลวทางการเงินตั้งแต่ต้นปี

ความเสี่ยงทางการเงินเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็พบเจอได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ หรือเกิดจากเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฝัน แต่ไม่ว่าจะเกิดด้วยสาเหตุหรือปัจจัยใดก็ตาม ก็ควรมีการจัดการที่ดีซึ่งนั่นก็ต้องเริ่มมาจากการปรับวินัยทางการเงินของตนเองค่ะ มาลองสำรวจนิสัยของคุณค่ะ ว่ากำลังมีนิสัยเสี่ยงที่จะล้มเหลวทางการเงินอยู่หรือเปล่า

– ไม่ทำ To-do list

การทำ To-do list จะเข้ามาช่วยในการจัดระเบียบชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการเงินที่ช่วยให้เรามีการวางแผนการเงินอย่างเป็นระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอน มองเห็นภาพรวมในแต่ละเดือนได้ว่าจะนำเงินไปใช้กับอะไร  ซึ่งหากเราไม่มีการจัดระเบียบทางการเงินที่ดี ความเสี่ยงในการล้มเหลวทางการเงินก็อาจมาเยือนตั้งแต่ต้นปีได้ค่ะ

– ไม่รู้จักวางแผนรายรับ-รายจ่าย

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ใครต่อใครหลายคนล้มเหลวทางการเงินมานักต่อนัก นั่นคือการไม่ยอมทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย เมื่อได้เงินมาเท่าไหร่ก็ใช้หมดไปโดยไม่มีเงินเก็บฉุกเฉินในแต่ละเดือน และการที่เรามองไม่เห็นภาพรวมของรายรับ-รายจ่ายของเราก็นับเป็นสาเหตุที่ทำให้การเงินของคุณล้มเหลวได้ค่ะ

– ไม่บริหารการเงิน และกระจายความเสี่ยงการลงทุน

เงินฉุกเฉิน เงินออมระยะยาว เงินใช้ยามเกษียณ ถือเป็นเงินก้อนใหญ่ในระดับหนึ่งซึ่งการที่เราจะมีเงินก้อนนั้นต้องเกิดจากการที่เราเริ่มลงทุนเพื่อสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับมา และนำผลตอบแทนเหล่านั้นไปต่อยอดอีกเรื่อย ๆ ในระยะยาว ซึ่งหากเราไม่คิดสนใจที่จะลงทุน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเข้าสู่วัยเกษียณอาจไม่มีเงินก้อนเหล่านั้นมาใช้ได้นั่นเองค่ะ

– ไม่สนใจเรื่องเงินเฟ้อ

ในอดีต เงิน 100 บาท สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 10 ชาม

แต่ปัจจุบัน เงิน 100 บาท กลับซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เพียง 2 ชาม

สาเหตุดังกล่าวนั้นเกิดจากภาวะเงินเฟ้อนั่นเองค่ะ ซึ่งเงินเฟ้อเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ของใช้มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เงินในจำนวนเท่าเดิมไม่สามารถซื้อของในปริมาณเท่าเดิมได้อีกต่อไป ซึ่งในอนาคตข้างหน้าภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเรื่อย ๆ ฉะนั้นหากเราไม่สนใจ หรือมีการรับมือ จัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่ดี ก็อาจเสี่ยงให้การเงินล้มเหลวไม่เป็นท่าได้ค่ะ

หากคุณไม่อยากล้มเหลวทางการเงินตั้งแต่ต้นปี ควรมีการวางแผนจัดการการเงินที่ดี สร้างวินัย ปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายใหม่ เพื่อป้องกันความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตค่ะ

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS หมอชิต แห่งใหม่ล่าสุด : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 18 ธันวาคม 2563

Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS หมอชิต แห่งใหม่ล่าสุด บริการสุดล้ำผ่านตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง รับรายงานทางอีเมล…ได้ทันที เริ่มแล้ววันนี้ ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ไม่มีวันหยุด

บทความวันนี้จะขออัพเดทศูนย์ตรวจเครดิตบูโรแห่งใหม่ “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ภายในสถานี BTS หมอชิต บริการสุดล้ำด้วยตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รอรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมลได้ทันที ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของสังคมเมือง และความต้องการของประชาชนในสังคมยุคดิจิทัลในปัจจุบัน พร้อมให้บริการตรวจเครดิตบูโรและเครดิตสกอริ่ง ทุกวันจันทร์-วันอาทิตย์ (เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด) ตั้งแต่วันนี้…เป็นต้นไป

 ที่ผ่านมา เครดิตบูโรเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการตรวจสอบข้อมูลเครดิต เพื่อให้ทราบประวัติทางการเงินของตนเองในฐานะที่เป็นเจ้าของข้อมูล เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อต่างๆ จากสถาบันการเงิน คือรู้จักตัวเราเองก่อนไปคุยกันในรายละเอียดกับคนให้กู้ รู้ตัวเองว่าประวัติการก่อหนี้ และการชำระหนี้ในอดีตตนเองเป็นอย่างไร มีคะแนนเครดิตหรือเครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) ระดับไหน เป็นคนมีความเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ระดับไหน และช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองด้วย เครดิตบูโรจึงเพิ่มช่องทางการตรวจข้อมูลเครดิต เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าของข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงรายงานเครดิตบูโรและเครดิตสกอริ่ง โดยล่าสุดเลือกเปิด “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ภายในสถานี BTS หมอชิต ซึ่งนับว่าเป็นทำเลที่ตั้ง ใจกลางชุมนุมคนเดินทาง เป็นศูนย์กลางเดินทางจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS หมอชิต และรถไฟฟ้า MRT สวนจตุจักร พร้อมบริการใหม่…ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ท่านสามารถรอรับรายงานเครดิตบูโร รายงานเครดิตบูโรและเครดิตสกอริ่ง รายงานเครดิตบูโรแบบสรุป รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมลได้ทันที หรือรับรายงานรูปแบบเอกสารที่เคาน์เตอร์ก็ได้อีกด้วย เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ (เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด) เริ่มแล้ววันนี้…เป็นต้นไป

 เครดิตบูโรคงการรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัยเมื่อมีหนี้” อย่างต่อเนื่อง และตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลดโอกาสการก่อหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล (กลุ่มเจนวาย Gen Y และกลุ่มเจนซี Gen Z) เช่น การรู้จักออม การใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้สินล้นตัวของตนเอง อันจะก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว สังคม และปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับมหภาคต่อไป

สำหรับ “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรแห่งใหม่ ภายในสถานี BTS หมอชิต นับเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณ BTS หมอชิต เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันมีรถโดยสารให้บริการในหลายเส้นทางเป็นจำนวนมาก ทั้งรถเมล์ รถตู้ และเป็นศูนย์กลางเดินทางจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า (ลอยฟ้า) BTS หมอชิต และรถไฟฟ้า (ใต้ดิน) MRT สวนจตุจักร สำหรับผู้ที่สนใจตรวจเครดิตบูโรและเครดิตสกอริ่ง ท่านสามารถเลือกบริการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รอรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมลได้ทันที โดยใช้บัตรประชาชนของตนเอง และโทรศัพท์มือถือ) 2) ผ่านเคาน์เตอร์ แบบรอรับรายงานรูปแบบเอกสารได้ภายใน 15 นาที โดยใช้บัตรประชาชนของตนเอง ท่านสามารถยื่นตรวจเครดิตบูโร (เฉพาะรายการบุคคลธรรมดาของตนเองหรือมอบอำนาจ) หรือตรวจเครดิตสกอริ่ง (เฉพาะบุคคลธรรมดา) และชาวต่างชาติ (ใช้หนังสือเดินทางของตนเอง) เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00 – 18.00 น.

พิเศษสุด!!! ฉลองเปิด “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ตรวจเครดิตบูโร…ฟรี ผ่านตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรสถานี BTS หมอชิต (ทางออก 4) ตั้งแต่วันนี้ – 30 ธันวาคม 2563 เฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาที่มายื่นตรวจด้วยตนเองเท่านั้น และยังได้รับสเปรย์แอลกอฮอล์ขนาดพกพา (จำนวนจำกัด) อีกด้วย

 ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th หรืออีเมล consumer@ncb.co.th

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : มาลองคิดกลับหัวในการแก้หนี้ปี​ 64-65​ กันดีไหม : วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2563

มาลองคิดกลับหัวในการแก้หนี้ปี​ 64-65​ กันดีไหม

 เมื่อบทความนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปในวันจันทร์ตามกำหนดเวลา​ ผู้เขียนเชื่อ​ว่าหลายๆ ท่านที่ได้ติดตามอ่านจะได้ลองคิดว่าในปีหน้าและปีต่อไปคือปี พ.ศ. 2564 – 2565 อันเป็นปีที่โลกและประเทศของเราได้อยู่ร่วมกับไวรัสสายพัน​ธุ์ใหม่​ (โควิด-19) มาร่วมเป็นเวลาปีเศษๆ​ ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ​คงไม่ต้อง​พูดถึง​ ผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางถึงเล็กถึงระดับย่อยได้แผ่กระจายไปทั่ว​ ผลกระทบต่อกล่องดวงใจระบบเศรษฐกิจ​ไทยในด้านการท่องเที่ยว การส่งออก​ หากเทียบเป็นนักมวยก็คือโดนนับแปดสองหนติดกัน​ ตอนนี้กำลังอยู่ในภาวะยืนขึ้นแต่ขายังไม่นิ่ง​ ตายังลอยๆ​ ที่สำคัญคือหมัดชุดต่อไปของไวรัสที่มาจากฝั่งประเทศ​เพื่อนบ้านในชุดที่เรียกว่า​ การแพร่ระบาดรอบสอง​ ยังเป็นลูกผีลูกคนหรือไม่​ ถ้าดูจากที่รายงานก็ถือว่ามีการติดเชื้อภายในประเทศแต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดจนระบบสาธารณสุขเอาไม่อยู่​ ที่กล่าวมาทั้งหมดคือบรรยากาศ​ที่เราๆ ท่านๆ เจอมาตั้งแต่ปลายปี​ 2562​ จนจะผ่านปี 2563 ไปสู่ 2564​ ในอีกไม่ช้าไม่นาน​ คำถามที่รอกันอยู่เวลานี้คือ​ เราๆ ท่านๆ ที่ยังมีภาระหนี้ที่ก่อกันมาในอดีตทั้งหนี้บ้าน​ หนี้บัตรเครดิต​ สินเชื่อส่วนบุคคล​ และหนี้รถยนต์​นั้น​ จะไปกันอย่างไรในปี​ 2564​-2565

ผู้เขียนอยากลองกลับหัวคิดกันใหม่ในการวางแผนแก้ไขหนี้ที่ต่างจากแนวคิดเดิมๆ ที่เรามักจะเริ่มจากฝั่งหนี้เสียก่อน​ เรามักจะคิดแก้ที่ตัวลูกหนี้ก่อน​ เราติดกระดุมเม็ดแรกของการใส่เสื้อเพื่อแก้หนี้ตามแบบแผน​นี้มาโดยตลอด​ มันอาจไม่ได้ผลในเวลานี้หรือไม่​ครับ​ เพราะตอนนี้ถ้าตั้งต้นด้วยสมมติ​ฐานด้านรายได้ของลูกหนี้ต้องมาก่อน มันไปไม่ได้ในบางกลุ่มลูกหนี้ชั้นดี ดีมากในอดีต​ แต่มาเจ็บแบบยังไม่จบเมื่อเจอ​ COVID-19 

 ผู้เขียนขอเริ่มอย่างนี้ครับ

1. เริ่มคิดแก้หนี้สิน​ ไม่ใช่แก้หนี้เสีย​ หลายครั้งฝั่งเจ้าหนี้จะเอาลูกหนี้วิกฤติ​ กำลังจะเป็นหนี้เสียมาแก้ไขก่อน​ ลูกหนี้ที่จ่ายชำระดีได้แต่ยืนมองตาปริบ​ๆ​ ว่าทำไมเราจ่ายดี​ ทำไมไม่มีการลดดอกเบี้ยลงมา​ ทำไมเงื่อนไขผ่อนปรนมากๆ ถึงให้กับคนที่ค้างชำระ​ วันนี้เวลานี้​อยากให้เจ้าหนี้ลงมาช่วยลูกหนี้ที่ชำระดี​ ชำระครบ​ ชำระตรงก่อนดีไหมเริ่มจากลดดอกเบี้ย​ ให้​ cash back คืน​ให้โบนัสเป็นการลดต้นบ้างดีไหม อย่าไปนึกว่ายังจ่ายได้จะไม่เป็นไร​ หากเหตุการณ์​พลิกผันไป​ ลูกหนี้ที่จ่ายดีอาจจะจ่ายไม่ได้​ ควรเข้าไปดู​ Residual Income เข้าไปดู​ Debt Service Income ว่ายังไปรอดหรือไม่​

 2. พวกสินเชื่อที่ได้สิทธิ์​หักเงินเดือนจากการจ่ายของนายจ้างตั้งแต่ต้นทาง​ที่เรียกว่า​ หักหน้าซอง​ ความเสี่ยงการไม่ชำระนั้นต่ำมาก​ ควรจะปรับลดดอกเบี้ยลงมาได้แล้ว​ เมื่อดูยอดที่หักกับรายได้ที่ลดลงมาก็ควรมีการปรับให้สอดคล้องกันเป็นสัดส่วน​ เจ้าหนี้เงินหักหน้าซองเหล่านี้​ ทางการผู้กำกับดูแลต้องรีบเข้าไปส่องพอร์ต​ลูกหนี้ของคนให้กู้ได้แล้ว​ การหักหน้าซองแล้วเงินเข้าซองเหลือไม่พอยังชีพ​ ไม่พอรักษาศักดิ์​ศรีความเป็นมนุษย์​ ต้องบากหน้าไปกู้นอกระบบมากินมาใช้ในเวลานี้มันก็แย่​ ที่สุดคนมันจะลุกฮือเอานะครับ

 3. จัดการกับเจ้าหนี้​ จัดการกับเงื่อนไข​ของสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบก่อนที่จะจัดการกับลูกหนี้​ โดยตั้งคำถามให้ชัดเจนว่า​ ถ้าลูกหนี้ผิดพลาดเกิดค้างชำระ​ กา

3.1​ เบี้ยปรับผิดนัดชำระมันแฟร์​ไหม อัตราเท่าใด​ คิดจากยอดไหน​ คิดแล้วเป็นเท่าไหร่​ มันต้องไม่เป็นภาระมากจนคนค้างชำระถอดใจยอมเป็นหนี้เสียดีกว่า

3.2 เงื่อนเวลาของการกลับสู่สถานะเป็นลูกหนี้ปกติหากมีการปรับโครงสร้างหนี้​ ต้องส่งเสริมให้คนพลาดหลงไปได้กลับตัวได้เร็ว​ ไม่ใช่ไปประทับเป็นตราบาปเขาว่า​ ไม่มีวินัย​ ฟุ่มเฟือย​ ใช้จ่ายไม่สมดุล​ 

3.3 คนค้ำประกันหรือการค้ำประกันต้องกำหนดตัวเลขตั้งแต่ต้นว่าคนค้ำจะค้ำในมูลหนี้วงเงินไม่เกินเท่าใด​ ถ้ามีมากกว่าหนึ่งคนต้องให้ชัดว่าแต่ละคนค้ำประกันเท่าใด​ ไม่ใช่เจ้าหนี้เลือกเอาคนค้ำคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดมารับผิดในหนี้นั้นได้

 บทสรุป​ของผู้เขียนคือ​ ต้องแก้หนี้สินไม่ใช่หนี้เสีย​ ต้องจัดการเจ้าหนี้ก่อนลูกหนี้​ สินเชื่อหักหน้าซองเงินเดือนต้องให้สอดคล้องกับความเสี่ยง​ สุดท้ายคือเงื่อนไขเอาเปรียบลูกหนี้จนทำให้การกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติมีต้นทุนที่สูงเกินไป..

 

 

 

ข่าวเครดิตบูโร 007/2563 : กรุงไทยบริการตรวจสอบเครดิตบูโร ผ่าน Krungthai NEXT รู้ผลภายใน 1วัน

ข่าวเครดิตบูโร 007/2563        

ภาพข่าวประชาสัมพันธ์

 กรุงไทยบริการตรวจสอบเครดิตบูโร ผ่าน Krungthai NEXT รู้ผลภายใน 1วัน

18 ธันวาคม 2563 : กรุงเทพฯ – ธนาคารกรุงไทย พร้อมให้บริการตรวจสอบข้อมูลเครดิต ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน Krungthai NEXT โดยลูกค้าสามารถเลือกรับรายงานข้อมูลเครดิตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์   (E-Credit Report) ทางอีเมลภายใน 1 วัน จากเดิม 3 วันทำการ หรือตรวจสอบข้อมูลผ่านช่องทางสาขาและตู้เอทีเอ็ม โดยได้รับรายงานข้อมูลเครดิตรูปแบบเอกสารทางไปรษณีย์ ภายใน 7 วันทำการ นับเป็นธนาคารแห่งแรกที่ให้บริการตรวจข้อมูลเครดิตทุกช่องทาง   

ขั้นตอนการใช้บริการตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รับรายงาน e-Credit Report ทางอีเมล

ขั้นตอนการใช้บริการตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส)

รับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Credit Report) ทางอีเมล  สามารถเลือกแบบตรวจรายงานข้อมูลเครดิต หรือ เครดิตสกอริ่งได้ด้วยตนเอง
– เตรียมบัตรประชาชนของตนเอง
– เบอร์โทรศัพท์มือของตนเอง (เพื่อรับรหัส OTP)
– อีเมลของตนเอง (สำหรับจัดส่งรายงานแบบ e-Credit Repot)

บริการฟรี…วันนี้ – 30 ธ.ค. 63

เรื่องน่าอ่าน