Blog Page 76

ข่าวเครดิตบูโร 006/2563 : “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS หมอชิต แห่งใหม่ล่าสุด บริการสุดล้ำผ่านตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง รับรายงานทางอีเมล…ได้ทันที เริ่มแล้ววันนี้ ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ไม่มีวันหยุด

ข่าวเครดิตบูโร 006/2563
ข่าวประชาสัมพันธ์

“Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS หมอชิต แห่งใหม่ล่าสุด
บริการสุดล้ำผ่านตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง รับรายงานทางอีเมล…ได้ทันที
เริ่มแล้ววันนี้ ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ไม่มีวันหยุด

14 ธันวาคม 2563 : กรุงเทพฯ – บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิด “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรแห่งใหม่ ภายในสถานี BTS หมอชิต บริการสุดล้ำ…ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รอรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมลได้ทันที ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของสังคมเมือง และความต้องการของประชาชนในสังคมยุคดิจิทัลในปัจจุบัน พร้อมให้บริการตรวจเครดิตบูโรและเครดิตสกอริ่ง ทุกวันจันทร์-วันอาทิตย์ (เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด) ตั้งแต่วันนี้…เป็นต้นไป

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า “เครดิตบูโรเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการตรวจสอบข้อมูลเครดิต เพื่อให้ทราบประวัติทางการเงินของตนเองในฐานะที่เป็นเจ้าของข้อมูล เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อต่างๆ จากสถาบันการเงิน คือรู้จักตัวเราเองก่อนไปคุยกันในรายละเอียดกับคนให้กู้ รู้ตัวเองว่าประวัติการก่อหนี้ และการชำระหนี้ในอดีตตนเองเป็นอย่างไร มีคะแนนเครดิตหรือเครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) ระดับไหน เป็นคนมีความเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ระดับไหน และช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตของตนเองด้วย เครดิตบูโรจึงเพิ่มช่องทางการตรวจข้อมูลเครดิต เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าของข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงรายงานเครดิตบูโรและเครดิตสกอริ่ง โดยล่าสุดเลือกเปิด “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ภายในสถานี BTS หมอชิต ซึ่งนับว่าเป็นทำเลที่ตั้ง ใจกลางชุมนุมคนเดินทาง เป็นศูนย์กลางเดินทางจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS หมอชิต และรถไฟฟ้า MRT สวนจตุจักร พร้อมบริการใหม่…ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ท่านสามารถรอรับรายงานเครดิตบูโร รายงานเครดิตบูโรและเครดิตสกอริ่ง รายงานเครดิตบูโรแบบสรุป รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมลได้ทันที หรือรับรายงานรูปแบบเอกสารที่เคาน์เตอร์ก็ได้อีกด้วย เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ (เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด) เริ่มแล้ววันนี้…เป็นต้นไป “

เครดิตบูโรคงการรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัยเมื่อมีหนี้” อย่างต่อเนื่อง และตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลดโอกาสการก่อหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล (กลุ่มเจนวาย Gen Y และกลุ่มเจนซี Gen Z) เช่น การรู้จักออม การใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้สินล้นตัวของตนเอง อันจะก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว สังคม และปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับมหภาคต่อไป

สำหรับ “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรแห่งใหม่ ภายในสถานี BTS หมอชิต นับเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณ BTS หมอชิต เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน มีรถโดยสารให้บริการในหลายเส้นทางเป็นจำนวนมาก ทั้งรถเมล์ รถตู้ และเป็นศูนย์กลางเดินทางจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า (ลอยฟ้า) BTS หมอชิต และรถไฟฟ้า (ใต้ดิน) MRT สวนจตุจักร สำหรับผู้ที่สนใจตรวจเครดิตบูโรและเครดิตสกอริ่ง ท่านสามารถเลือกบริการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รอรับรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Credit report) ทางอีเมลได้ทันที โดยใช้บัตรประชาชนของตนเอง และโทรศัพท์มือถือ) 2) ผ่านเคาน์เตอร์ แบบรอรับรายงานรูปแบบเอกสารได้ภายใน 15 นาที โดยใช้บัตรประชาชนของตนเอง ท่านสามารถยื่นตรวจเครดิตบูโร (เฉพาะรายการบุคคลธรรมดาของตนเองหรือมอบอำนาจ) หรือตรวจเครดิตสกอริ่ง (เฉพาะบุคคลธรรมดา) และชาวต่างชาติ (ใช้หนังสือเดินทางของตนเอง) เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00 – 18.00 น.

พิเศษสุด!!! ฉลองเปิด “Bureau Lab (บูโรแล็บ)” ตรวจเครดิตบูโร…ฟรี ผ่านตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรสถานี BTS หมอชิต (ทางออก 4) ตั้งแต่วันนี้ – 30 ธันวาคม 2563 เฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาที่มายื่นตรวจด้วยตนเองเท่านั้น และยังได้รับสเปรย์แอลกอฮอล์ขนาดพกพา (จำนวนจำกัด) อีกด้วย
ขั้นตอนการใช้บริการตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส)

ขั้นตอนการใช้บริการตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส)  หรือคลิก

ขั้นตอนการใช้บริการตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง

นอกจากนี้ เครดิตบูโรยังมีช่องทางที่หลากหลายในการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโร ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน (แอป) ที่สะดวกรวดเร็ว (โดยท่านต้องดาวน์โหลดแอปของธนาคารนั้นก่อน) ได้แก่ 1) แอป KKP e-Banking ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 2) แอป TMB TOUCH ธนาคารทีเอ็มบี 3) แอป Krungthai Next ธนาคารกรุงไทย 4) แอป Thanachart Connect ธนาคารธนชาต หรือตรวจเครดิตบูโรได้ง่ายๆ ตามศูนย์ตรวจเครดิตบูโรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แบบรอรับได้เลย ภายใน 15 นาที ได้แก่ 1) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อาคาร 2 ชั้น 2 ทุกวันจันทร์ -ศุกร์ เวลา 9.00-16.30 น. 2) อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (โซนธนาคาร) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น. 3) สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น. 4) สถานีรถไฟฟ้า BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ภายในสถานี) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น. 5) ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-18.00 น. 6) CITI สาขาเดอะมอลล์ บางกะปิ เวลา 11.00-18.00 น. 7) UOB สาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต บางใหญ่ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00-18.00 น. หรือยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรในต่างจังหวัด แบบรอรับรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันทำการ ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ 1) เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรี กรุงไทย ธนชาต ธอส. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ 2) ผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย และไทยพาณิชย์ 3) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ลูกค้าของธนาคารกรุงศรี และกรุงไทย 4) ผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ในแอปของธนาคารกรุงไทย ธนชาต ทีเอ็มบี และ เกียรตินาคินภัทร 5) ที่ทำการไปรษณีย์ เฉพาะสาขาที่ให้บริการ ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th หรืออีเมล consumer@ncb.co.th

 

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร 02 095 5867
E-mail: ilovebureau@ncb.co.th / website: www.ncb.co.th / facebook: www.facebook.com/ilovebureau

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : มุมหนึ่งที่น่าคิดของการแก้หนี้ครัวเรือนกลุ่มสินเชื่อบางประเภท : วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม 2563

มุมหนึ่งที่น่าคิดของการแก้หนี้ครัวเรือนกลุ่มสินเชื่อบางประเภท
ในการหาทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สร้างความกดดันให้กับผู้คน​ จากการได้ลงไปทำงานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินคุณครู​และบุคลากรทางการศึกษา​ พบข้อเท็จจริงบางประการ​ว่า​ ลูกหนี้กลุ่มอาชีพนี้มีหนี้สินกับสหกรณ์​ออมทรัพย์​ที่บริหารจัดการด้วยผู้คนในแวดวงอาชีพเดียวกัน​ หลายท่านอาจไม่ทราบว่าจากการรวบรวมตัวเลขของค​ณะผู้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาพบว่า​ คุณครูและบุคลากร​ทางการศึกษามีหนี้กับสหกรณ์​ออมทรัพย์​ครู​ประมาณ 800,000 ล้านบาท และก็ยังมีสถาบันการเงินของรัฐให้สินเชื่ออีกหลายแห่งรวมๆกันประมาณ​ 600,000 ล้านบาท​ รวมแล้วเบ็ดเสร็จ​ประมาณ​ 1.4 ล้านล้านบาท​ อันนี้เฉพาะอาชีพเดียว​ สินเชื่อเงินหักหน้าซอง/สินเชื่อสวัสดิการ​ มันได้ตามมาหลอกหลอนท่านที่เป็นลูกหนี้มาก​ เพราะพอเงินเดือนออก​ จะมีรายการชำระหนี้เงินกู้สหกรณ์​ออมทรัพย์​มารอตัด​ ตามด้วยสินเชื่อสวัสดิการที่หน่วยงานต้นสังกัดไปร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐเอามาให้คุณครูกู้​ เป้าหมายอาจสวยหรู​ว่าเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่​ สร้างอาชีพเสริม​ หากแต่ว่าในความจริงแม้มีกติกาว่า​ การจะหักเงินเดือนหน้าซองจะต้องเหลือเงินเข้าซองไม่น้อยกว่า​ 30% คิดง่ายๆคือเงินเดือน​ 30,000 บาทต่อเดือน​ หักชำระหนี้ได้สูงสุด​ 21,000 บาทต่อเดือน​ เหลือเข้าซอง​ 9,000 บาทต่อเดือน​ ไอ้ที่เข้าซองไปก็ต้องมีหนี้บัตรเครดิต​ หนี้ส่วนบุคคล​ อีกหรือไม่​ ถ้ามีก็ต้องไปจ่ายเจ้าหนี้เขา​ กติกาหรือระเบียบนี้ก็มีการปฏิบัติอย่างไม่จริงจังหรือไม่​ จนทำให้การก่อหนี้​ การสร้างหนี้​ การหักหนี้​ มันทำให้เงินเหลือเข้าซองแบบว่า​ เกือบเจ็ดหมื่น​ เข้าซองเจ็ดพัน​ หรือเจ็ดร้อย​ จนเป็นเรื่องราวกันอย่างที่ทราบๆ​ 
ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังข้อมูล​จากนายธนาคารกลางที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้ครับ​ ท่านได้แสดงความเห็นไว้น่าสนใจและขอนำมาส่งต่อเพื่อให้เราๆ ท่านๆ และท่านที่อยู่บนหอคอยงาช้าง​ ซึ่งกำลังแก้ปัญหาในห้องทดลอง​ (Lab แห้ง คือ ใช้ความคิดปกติแบบเดิมมาออกแบบแก้ปัญหาที่ไม่ปกติบวกการฟังแต่ไม่ยอมได้ยิน)​ ได้ลองเปิดใจรับฟังสิ่งที่คนเดินถนนอย่างผู้เขียนได้นำเรียนดังนี้นะครับ
… สินเชื่อที่หักจ่ายเงินเดือนหน้าซอง ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ เป็นที่หมายปองของเจ้าหนี้
ในด้านหนึ่งยากที่จะปฏิเสธว่าการที่คุณครูจำนวนไม่น้อยมีภาระหนี้ค่อนข้างสูงส่วนสำคัญเป็นเพราะคุณครูมีความต้องการสินเชื่อเพื่อจับจ่ายใช้สอยในเรื่องต่างๆ (demand) แต่อีกด้านหนึ่งซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้พูดถึงมากนัก คือการแข่งขันกันของเจ้าหนี้ในการปล่อยสินเชื่อให้คุณครู (supply) ซึ่งก็ยากที่จะปฏิเสธเช่นกันว่าการแข่งขันของเจ้าหนี้เป็นต้นเหตุที่มีความสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้คุณครูมีหนี้ค่อนข้างจะสูง 
นับตั้งแต่เริ่มบรรจุในวันแรก คุณครูสามารถที่จะกู้เงินเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น และเมื่ออาชีพการงานก้าวหน้าไปตามลำดับและเงินเดือนที่ได้สูงขึ้น 
สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของคุณครูพร้อมที่จะให้คุณครูกู้รายละหลายล้านบาท ในขณะที่สถาบันการเงินก็พร้อมที่จะให้สินเชื่อสวัสดิการ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าหนี้ต่างหมายปองสินเชื่อที่หักเงินเดือนหน้าซองของคุณครูเนื่องจากเป็นสินเชื่อมีความเสี่ยงต่ำ นายจ้างหรือหน่วยงาน​ต้นสังกัด หรือกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ทำหน้าที่หักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นประจำทุกเดือน (collection) และสินเชื่อหักเงินเดือนหน้าซองของคุณครู ถือเป็นสินเชื่อหักเงินเดือนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี แม้สินเชื่อที่หักเงินเดือนหน้าซองมีความเสี่ยงต่ำ แต่พบว่าสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากครูสูงต่ำแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อและเจ้าหนี้ 
จากการสำรวจของกรมส่งเสริมสหกรณ์ พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูคิดดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-9% ในขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินของรัฐคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4-10% โดยรวมแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆคิดจากคุณครูถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาว่าความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (credit cost) หรือความเสี่ยงที่คุณครูจะผิดนัดชำระหนี้มีอยู่ต่ำมาก และเจ้าหนี้แทบที่จะไม่มีมีค่าใช้จ่ายในตามเก็บหนี้ (operation cost) เลย เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่หักค่างวดชำระหนี้ที่คุณครูต้องจ่ายจากเงินเดือนของคุณครูเป็นประจำทุกเดือนเพื่อส่งเจ้าหนี้ ในขณะที่ต้นทุนของการระดมทุน (funding cost) ทั่วโลกอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทย… 
คำถามคือ​ ถ้าเดินด้วยดอกเบี้ยเงินกู้แบบนี้ในสถานการณ์​แบบนี้มันเกินเลยไปหรือไม่​ มันควรต้องลดลงตามความเสี่ยงของการเก็บหนี้ที่ตนเองไม่ต้องมีต้นทุนหรือไม่​ การลดดอกเบี้ย​ ลดค่าผ่อนลง​ ยืดหนี้ออกไป​ ลดการส่งค่าหุ้น​ ลดดอกเบี้ยเงินฝากลงมาเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเงินกู้มันสูงแบบนี้ในเวลานี้ควรต้องทำหรือไม่​ การปรับโครงสร้างหนี้ถ้าทำฝั่งเดียวคือสถาบันการเงิน​ เงินก่อนหักหน้าซองจะมีเหลือเพิ่ม​ คนที่มีสิทธิหักหน้าซองโดยอ้างกฎหมายที่ออกแบบมาตั้งแต่ในอดีตก็จะหักได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น​ ไม่มีแรงจูงใจให้เขาต้องลงมาช่วยลูกหนี้เพิ่ม​ เพราะเจ้าหนี้อื่นถูกกดดันให้ช่วยลูกหนี้แล้ว​ อีกทั้งตนเองก็ไม่ได้อยู่​ในกำกับของธนาคารกลาง​ 
ผู้เขียนใคร่ขอเสนอความเห็นแบบหักดิบดังนี้นะครับ​ ทำได้หรือไม่ก็ว่ากัน
1.ลดดอกเบี้ยเงินฝากให้เหลือไม่เกิน​ 1.5-2% เพราะดอกเบี้ยได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว
2.ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ให้เกิน​ 4-4.5%
3.ลดการนำส่งค่าหุ้นให้เหลือเป็นขั้นต่ำ​ 100 บาทต่อเดือน​ ใครจะมากกว่านี้ก็ได้​ สถานภาพ​สมาชิกไม่กระเทือน
4.เงินปันผล/เงินเฉลี่ยคืนไม่เกิน​ 4%
5.รายที่เป็นหนี้วิกฤติให้เอาหุ้นที่ลงไว้แล้วมาหักหนี้เพื่อยุบหนี้ปัจจุบันลงไปโดยสามารถไถ่ถอนได้ไม่เกิน​ 500,000 บาทต่อรายเป็นต้นและให้ทำครั้งเดียว
6.ไม่มีการให้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) มาสนับสนุนเพราะเป็นเรื่องการบริหารจัดการของแต่ละแห่ง​ 
ผู้เขียนคิดแบบผ่าทางตันแล้วครับ​ ท่านจะด่าว่าอย่างไรก็พร้อมน้อมรับ แต่เห็นแววตาของคุณครูที่เป็นหนี้แล้วไปต่อไม่ได้​ หรือไปได้ยากแล้วมันทุกข์​ใจ
ขอบคุณครับ

เรื่องน่าอ่าน