Blog Page 81

6 วิธีสร้างอิสรภาพทางการเงินสำหรับฟรีแลนซ์ ทำได้ง่าย มีเงินใช้ตลอดชีพ

6 วิธีสร้างอิสรภาพทางการเงินสำหรับฟรีแลนซ์ ทำได้ง่าย มีเงินใช้ตลอดชีพ

“อาชีพอิสระ แต่ความมั่นคงทางการเงินไม่อิสระอย่างที่คิด”

เมื่อเอ่ยถึงอาชีพอิสระ หรือที่หลายคนชอบเรียกว่า ฟรีแลนซ์ คนมักจะนึกถึงความสบาย มีอิสระ ไม่มีกฎเกณฑ์ในการทำงาน ไม่ต้องคอยตื่นเช้าเพื่อมาเผื่อเวลารอรถไปบริษัท แค่ทำงานที่ไหนก็ได้ ส่งงานตามกำหนด ก็ได้รับเงินมาใช้อย่างสบาย ๆ

แต่ภายใต้ความอิสระเหล่านี้ มีความไม่มั่นคงในชีวิตและทางการเงินอยู่ และเพื่อให้เหล่าฟรีแลนซ์ได้มีความมั่นคงทางการเงินที่ดีขึ้น มาดู 6 วิธีที่จะช่วยสร้างอิสรภาพ ที่ทำง่าย ใช้ได้จริงกันค่ะ

  1. จัดการรายรับ-รายจ่ายทุกเดือน

อาชีพอิสระเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน บางเดือนอาจมีรายได้เข้ามาเป็นจำนวนมาก บางเดือนอาจมีรายได้เข้ามาน้อย เราจึงจำเป็นต้องจัดการรายได้ที่เข้ามา และกำหนดงบประมาณรายจ่ายในแต่ละเดือนอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลังในแต่ละเดือน

  1. เตรียมเงินสำรองล่วงหน้าไว้ในยามฉุกเฉิน

คนทำอาชีพอิสระมักไม่มีหลักประกันในชีวิต หรือสวัสดิการคุ้มครองมากนักเมื่อเทียบกับพนักงานบริษัท ฉะนั้นเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วยจนเข้าโรงพยาบาล กระทั่งไม่มีงานเข้ามา จึงจำเป็นที่จะต้องสำรองเงินล่วงหน้าสำหรับค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินอย่างน้อย 6-12 เดือน โดยประเมินจากรายจ่ายในแต่ละเดือนของเรา เพื่อไว้ใช้จ่ายทดแทน

  1. หมั่นลงทุนสร้างความมั่นคงในชีวิต

เพราะรายได้ที่ไม่แน่นอนของอาชีพอิสระอาจทำให้ถูกมองว่าไม่มีความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นเมื่อมีรายได้เข้ามาควรที่จะแบ่งสัดส่วนเพื่อไว้สำหรับลงทุนโดยเฉพาะโดยทันที เพื่อให้จำนวนเงินที่เราลงทุนไปได้เติบโต งอกเงยขึ้นมาและสามารถสร้างความมั่นคงในอนาคตได้ ซึ่งการลงทุนที่เหมาะกับฟรีแลนซ์ เช่น ฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวม ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนการลงทุนควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างชัดเจน ติดตามข่าวสารการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการลงทุนด้วยนะคะ

  1. เช็กสิทธิประโยชน์สำหรับฟรีแลนซ์เสมอ

แม้ว่าหลักประกันของชีวิตฟรีแลนซ์จะไม่เทียบเท่ากับพนักงานบริษัท แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลยนะคะ เพราะประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ทำฟรีแลนซ์อยู่ โดยสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 40 ได้ หรือหากใครที่เคยเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม ตามมาตรา 33 แล้วลาออกมาก็ยังสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 เพื่อรับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้เช่นกัน

อีกหนึ่งทางเลือกนั่นก็คือ การสมัครเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับอาชีพอิสระโดยเฉพาะ เพื่อสร้างหลักประกันในชีวิตในตนเองเพิ่มได้ค่ะ

  1. อย่าสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น

หากคิดที่จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มให้กับตนเอง เช่น กู้บ้าน กู้รถ เป็นต้น เราจำเป็นที่จะต้องคิดอย่างรอบคอบก่อน เพราะรายจ่ายเหล่านี้ถือเป็นรายจ่ายระยะยาวที่จะเป็นพันธะผูกพันไปอีกหลายปี แต่หากเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะกู้จริง ๆ ก็ควรที่จะคำนวณความสามารถในการผ่อนต่อเดือน และความสม่ำเสมอในการชำระค่างวด เพราะหากไม่คำนวณให้ดีจากที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตก็กลายเป็นสร้างภาระเพิ่มแทนได้ค่ะ

การวางแผนและจัดสรรการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำฟรีแลนซ์ควรทำ เพราะด้วยรายรับที่เข้ามาไม่ได้มีความสม่ำเสมอ จึงจำเป็นที่จะต้องจัดสรรการเงิน สำรองรายจ่ายยามฉุกเฉินในอนาคต ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นการสร้างอิสรภาพการเงินที่ดีได้นั่นเองค่ะ

6 บัญชีสำหรับคู่รัก สร้างความสุขระยาวให้ชีวิตคู่

6 บัญชีสำหรับคู่รัก สร้างความสุขระยาวให้ชีวิตคู่

ชีวิตคู่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง เมื่อตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ทุกการวางแผน การตัดสินใจภายในบ้านจำเป็นที่จะต้องมีการตกลงร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หรือความขัดแย้งตามมาภายหลัง โดยเฉพาะเรื่องของการเงินที่ทำให้คู่รักหลาย ๆ คู่เลิกรากันไป

เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะให้ชีวิตคู่มีความสุขในระยะยาว จำเป็นที่จะต้องจัดการบริหารการเงินกับ 6 บัญชีคู่รัก ที่ช่วยให้ชีวิตรักยืนยาวกันค่ะ

– บัญชีกลาง หารคนละครึ่ง

เป็นบัญชีที่มีไว้สำหรับค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ไม่ว่าจะค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เป็นส่วนกลาง โดยเปิดบัญชีแยก และแบ่งเงินออมจากรายได้ของแต่ละฝ่ายคนละครึ่ง หรือตามจำนวนที่ทั้งสองฝ่ายต่างยินยอม โดยจะไม่กังวลว่าเงินส่วนนี้เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง

– บัญชีออมรักให้ลูก

เชื่อว่าความฝันของคู่รักหลาย ๆ คู่คือการมีลูกเป็นสักขีพยายานความรัก ฉะนั้นเพื่ออนาคตที่ดีของลูก จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม สร้างรากฐานการเงินล่วงหน้าเพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างเต็มที่และไม่เดือดร้อนด้านการเงิน โดยเปิดบัญชีเพื่อลูกโดยเฉพาะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูกในอนาคต ตั้งแต่ ค่าเล่าเรียน ค่าเลี้ยงดู ค่าอาหาร ค่าคลอดบุตร เป็นการสร้างความมั่นใจว่าเราจะสามารถดูแลเด็กที่จะเกิดมาได้อย่างแน่นอน

– บัญชีแยกใช้ส่วนตัว

แม้ว่าจะเป็นครอบครัวเดียวกันแล้วแต่คู่รักหลาย ๆ คู่คงอยากมีบัญชีเงินเก็บไว้ใช้ส่วนตัวเป็นของตนเอง เพื่อใช้จ่ายสำหรับของใช้ส่วนตัว เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่ารองเท้า ค่าโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ซึ่งการแยกเงินส่วนนี้เก็บไว้อีกบัญชี ก็ช่วยสร้างพื้นที่ และความสบายใจให้กับทั้งสองฝ่ายไม่อึดอัดเวลาที่จะต้องนำเงินมาใช้

– บัญชีฉุกเฉินจากเหตุไม่คาดฝัน

บัญชีสำรองฉุกเฉินจะเป็นตัวช่วยที่จะเพิ่มความมั่นใจแก่คนในครอบครัวได้ว่าเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ครอบครัวจะยังมีหลักประกัน และสภาพคล่องทางการเงินเพื่อใช้จ่ายสำรองยามฉุกเฉินได้

– บัญชีลงทุนเพื่อชีวิตหลังเกษียณ

เมื่อตั้งใจลงหลักปักฐานอยู่ร่วมกัน การเปิดบัญชีเพื่อลงทุนร่วมกันถือเป็นอีกสิ่งที่ดี เพราะเป็นตัวช่วยในการสร้างความมั่นคงระยะยาวไปจนถึงชีวิตเกษียณ และยังเป็นการช่วยให้เงินที่เก็บออมมา เติบโตไปผลตอบแทนอย่างดี

– บัญชีเติมความหวานรายปี

เพราะชีวิตต้องเพิ่มความหวานบ้าง ไม่ว่าตลอดทั้งปีจะทำงานหนักแค่ไหน ก็ควรที่จะหาเวลาพักผ่อน สร้างความทรงจำดี ๆ สำหรับคู่รักด้วยเช่นกัน ซึ่งการเปิดบัญชีเติมความหวานนี้จะช่วยย้ำเตือน เราควรจะต้องหาเวลาพักผ่อน และใช้เวลาอยู่ร่วมกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ ความสุขระยะยาวให้กับชีวิตคู่นั่นเองค่ะ

การสร้างบัญชีคู่รักเป็นหนึ่งในการสร้างวินัยทางการเงินในครอบครัว และยังช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย ทั้งยังช่วยสร้างความเท่าเทียมให้กับชีวิตคู่เพื่อให้ดำรงชีวิตด้วยกันต่อไปอย่างราบรื่นได้ค่ะ

โปรโมชั่นเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ : สืบสานวัฒนธรรมไทย…ลอยกระทง : ตรวจเครดิตบูโร วันที่ ๒๙-๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ รับฟรี…สมุดโชดดีมีชัย ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ๕ แห่ง

โปรโมชั่นเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ 

สืืบสานวัฒนธรรมไทย ลอยกระทง…ขอขมาแม่คงคา
ลอยเคราะห์ ลอยโศก ลอยหนี้…ไปให้ไกล

ตรวจเครดิตบูโร วันที่ ๒๙-๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๓

รับฟรี…สมุดโชดดีมีชัย ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ๕ แห่ง

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “ต้องกล้าบอกความจริง” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 16 ตุลาคม 2563

ต้องกล้าบอกความจริง
ผมขอนำเอาข้อสอบถามทางออนไลน์ ที่ถามมาเข้ามาและขอชี้แจงข้อสงสัย ดังนี้ครับ
คำถาม : ดิฉันทำสัญญากู้เงินกับธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งมีโฉนดบ้านพร้อมที่ดินค้ำประกันเงินกู้ โดยมีญาติเป็นผู้กู้หลัก ดิฉันป็นผู้กู้ร่วมต่อมาญาติท่านนั้นมีปัญหาในการผ่อนชำระ ธนาคารฟ้องร้องและต้องขึ้นศาล ต่อมาคดีจบโดยญาติท่านนั้นตกลงผ่อนชำระตามที่ธนาคารเสนอ และขณะนี้ผ่อนชำระเป็นปกติมาประมาณ 1 ปี หรือ 12 งวดแล้ว ตัวของดิฉันมีเงินเดือนประจำ 40,000 บาท มีบัตรเครดิต และสินเชื่ออื่นๆ ที่เป็นของตัวเองไม่เกี่ยวกับญาตินั้นมีการชำระตรงเวลาตลอด ปัญหาคือดิฉันยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ เจ้าหน้าที่บอกว่าเนื่องจากดิฉันมีปัญหาถูกฟ้องร้องเรื่องบ้านและอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายอยากถามเครดิตบูโรว่าเมื่อถูกสถาบันการเงินปฏิเสธแบบนี้ ดิฉันควรจะทำอะไร และจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
คำตอบ :  เครดิตบูโร ชี้แจงว่า
1. กรณีที่ผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมผิดนัดชำระ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องได้จากผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม ทั้งสองฝ่ายคนใดคนหนึ่ง หรือร่วมกันให้ชดใช้ ถึงแม้ว่าหลังโฉนดที่ดินที่นำไปค้ำประกันเงินกู้จะไม่มีชื่อของคนที่กู้ร่วม แต่เมื่อไปทำสัญญากู้โดยเป็นผู้กู้ร่วมแล้วก็ต้องถือว่าเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินด้วย ต้องร่วมทุกข์ ร่วมรับผิด ร่วมกันจ่ายหากผู้กู้หลักนั้นผิดนัดชำระหนี้ เพราะตอนไปกู้ร่วมนั้นสมัครใจ ไม่มีใครบังครับเมื่อมีการผิดนัดชำระจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว สถาบันการเงินเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องลูกหนี้ทุกคนที่ทำสัญญาไว้กับเขา อันนี้เป็นข้อเท็จจริง
2.ในส่วนของข้อมูลเครดิตหรือรายงานเครดิตบูโรของลูกหนี้ที่กู้ร่วมนั้นในหัวข้อบัญชีกู้บ้านดังกล่าวตรงที่มุมขวาบนของรายงานจะแสดงข้อความว่าบัญชีนี้กู้ร่วม และในช่วงระยะเวลาที่ว่ากันในศาลรายงานจะแสดงสถานะบัญชีว่า “อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย” หลังจากเจรจาและมีคำพิพากษาออกมาประกอบกับผู้กู้หลักมีการผ่อนชำระค่างวดปกติในช่วง 12 เดือน ข้อมูลเครดิตในบัญชีนี้ จะแสดงสถานะว่า “บัญชีปกติ” เพราะไม่มีการค้างชำระทำได้ตามที่ตกลงกัน มีการผ่อนครบผ่อนตรงมาตลอด อันนี้เป็นข้อเท็จจริงเช่นกัน
3. เครดิตบูโรแนะว่าให้ไปตรวจข้อมูลเครดิตบูโรก่อนที่จะไปขอกู้ที่ใหม่โดยให้ไปที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทั้ง 5 แห่ง หรือดูรายละเอียดทางช่องทางอื่นๆ ได้ที่ www.ncb.co.th เมนูตรวจเครดิตบูโร จากนั้นให้ตรวจสอบความถูกต้องทุกบัญชี ซึ่งพอไปดูบัญชีสินเชื่อบ้านนั้นก็จะเห็นข้อมูลตามข้อ 2. แต่บัญชีอื่นๆ ไม่มีประวัติในอดีตระบุว่ามีการค้างชำระหนี้ อันนี้เป็นข้อแนะนำที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้
4. ต่อไปคือการเตรียมตัว เตรียมคำตอบและเตรียมใจให้พร้อมก่อนไปขอกู้กับธนาคารแห่งไหนๆ ที่ไม่ใช่ที่เดิมที่กู้ร่วมสินเชื่อบ้าน ต้องสำรวจตัวเองว่า มีรายได้เท่าไหร่ ภาระทางหนี้ต้องไม่เกิน 40% ของรายได้กรณีนี้มีรายได้ 40,000 บาท ก็ควรมีภาระหนี้เดิมที่ชำระอยู่ไม่เกิน 16,000 บาท และควรแสดงเงินออม เงินฝากที่ตนเองมีอยู่ เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องและอธิบายให้ธนาคารที่ขอกู้ทราบเรื่อง ปัญหาการค้างชำระและเรื่องที่ถูกฟ้องในอดีตว่าเกิดขึ้นเพราะคนอื่น เกิดขึ้นเพราะอะไร ญาตินั้นคือใคร เพื่อให้ธนาคารเชื่อว่าตัวเราไม่มีปัญหา ดูได้จากรายงานเครดิตบูโรที่เราไปตรวจสอบมาไปแสดงประกอบ ตรงนี้สำคัญมากต้องทำอย่างยิ่งอย่าให้ธนาคารเข้าใจผิดๆ การอธิบายให้ธนาคารทราบเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างยิ่ง เพราะธนาคารจะไม่รู้เลยว่าตัวผู้กู้ร่วมที่มาขอกู้กับเขานั้นเป็นคนก่อปัญหาหรือไม่ ใครเป็นคนก่อปัญหา
5. สุดท้ายครับการจบปัญหาของผู้กู้หลักและจ่ายชำระได้มาเป็นปีเป็นเรื่องดี เพราะจบกันได้สวย ไม่ลุกลาม แต่ส่วนของคนที่กู้ร่วมต้องอธิบายกับธนาคาร ต้องไม่อาย ต้องไม่กลัวที่จะบอกความจริง เพราะเหตุว่าธนาคารไม่ทราบที่มาที่ไปของปัญหา เขาดูตามเอกสารอย่าให้เขาเข้าใจผิดๆ ไปเอง เราเป็นอย่างไรต้องให้ถูกต้อง ได้เงินกู้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์กับความจริง การอธิบายให้ธนาคารรู้จักตัวตนของเราเป็นเรื่องที่ควรทำที่สุดและต้องทำครับ
เครดิตบูโรเอาใจช่วยครับต้องกล้าบอกความจริง

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : บทสนทนาเพื่อการมีชีวิตอยู่ต่อไปและต้องอยู่ให้รอด : วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2563

บทสนทนาเพื่อการมีชีวิตอยู่ต่อไปและต้องอยู่ให้รอด

เมื่อผู้เขียนได้ฟังรายการวิทยุรายการหนึ่งที่อนุญาต​ให้ผู้ฟังต่อสายเข้ามาในรายการสนทนาปราศรัย​กับผู้ดำเนินรายการ​ ซึ่งแน่นอน​ว่า​ จะมีประเด็นเรื่องความทุกข์​ของคนที่เป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาเนื่องจากสาเหตุหลักคือ​ ได้รับผลกระทบจากการหารายได้​ มีผลกระทบจากการไม่สามารถมีธุรกรรม​ทางเศรษฐกิจได้เพราะลูกค้าเดิมที่เคยใช้บริการต่างประสบกับปัญหาเงื่อนไขทางสาธารณสุขและการเดินทาง​ แน่นอนว่าเมื่อไม่มีรายได้​ หรือรายได้​มีน้อยลงอย่างน่าใจหาย​

อีกทั้งวันเวลาของมาตรการช่วยเหลือโดยชะลอการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปหมดกำลังจะหมดลง​ การต้องกลับมาชำระหนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขเดิมก่อนมีมาตรการหรือเงื่อนไขใหม่ในการปรับโครงสร้างหนี้ที่เจรจาก็ตาม​ ในน้ำเสียงที่ผู้ฟังรายการบอกเล่าเก้าสิบ​กับผู้ดำเนินรายการมันจะเป็นลักษณะนี้
ผู้ฟังรายการ​ : ทำไมธนาคารไม่เห็นใจลูกหนี้​ ก็รู้อยู่​ว่าเวลานี้มันเป็นอะไรอย่างไร​ ไอ้ที่เคยผ่อนหนี้เดิม​ 18,000 ​บาทต่อเดือนมันพอไหวถ้าไม่มี​ COVID-19 น่าจะพักการชำระหนี้คือทั้งต้นทั้งดอกออกไปก่อนสัก​ 2 ปี​ หลัง​ 2 ปี แล้วค่อยมาว่ากันใหม่สิครับ​ ท่านวิทยากรเห็นด้วยไหม

ผู้ดำเนินรายการ​ : ผมยังตอบไม่ได้ว่าเห็นด้วย​ / ไม่เห็นด้วย พอจะบอกได้ไหม ว่าสุดๆ ตอนนี้คุณพี่พอจะผ่อนไหวที่เท่าไหร่​

ผู้ฟังรายการ​ : ถ้าต้องจ่ายจริงๆ​ ผมก็พอจะสู้ได้ไม่เกิน​ 8,000 บาทต่อเดือน​ แต่ถ้าเจอไวรัสตัวนี้อีกแบบต้องปิด​เมือง​ คงจะผ่อนต่อได้อีกสักไม่เกิน​ 6 เดือนครับ

ผู้ดำเนินรายการ​ : แสดงว่าตอนนี้ยังพอไปไหวที่​ 8,000 บาท​ จากเดิม​ 18,000 บาท​ ผมแนะนำให้ไปคุยกับเขาเลย​ ว่าฉันไหวที่ตรงนี้​ มากกว่านี้คงไม่ไหว​ มันไม่มีจริงๆ ถ้ามีคงไม่ต้องมาต่อรองกันให้เสียเวลา

ผู้ฟังรายการ​ : แต่ผมอยากให้รัฐบาลกำหนดให้พักการชำระหนี้ต่อไปเลยอีก​ 2 ปี​ มันจะไม่ดีกว่าหรือ​ เงิน​ 8,000 บาทต่อเดือน​ ผมจะได้ตุนไว้เป็นกระสุนก่อนครับ

ผู้ดำเนินรายการ​ : รัฐบาลเขาคงจะไม่ค่อยเกี่ยวแล้วมังครับ​ เวลานี้​ ต้องเข้าใจแบบนี้ก่อนนะครับ
1.การก่อหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว​ จะอย่างไรก็ตามเป็นหนี้ต้องใช้หนี้​ เวลานี้พอไหวเท่าไหร่ก็เท่านั้น​ มันเป็นเรื่องของเจ้าหนี้/ลูกหนี้ที่ต้องคุยกัน​ อยู่​ๆ จะให้หลวงท่านไปสั่งคงจะไม่ได้นะครับ
2.ถ้าพอจ่ายได้ก็รีบไปคุยไปปรับโครงสร้างหนี้​ จ่ายได้ตรงไหนก็ตรงนั้น​ อย่ากั๊กกัน​ ถ้ายังพอจ่ายได้ก็ต้องว่ากันไป
3.ถ้าเจ้าหนี้เขาไม่ตกลงจะดำเนินการทางกฎหมาย​ เราก็ต้องไปสู้กันในทางกฎหมายว่าเราจ่ายได้แค่ไหนเพียงใด​ ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรมก็ร้องไปที่​ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร.1213 แต่ต้องพูดความจริง​ อย่าหลอกว่าจ่ายไม่ได้จะเอาแต่พักการชำระหนี้อย่างเดียว​
4.ลองคิดภาพตามนะครับ
4.1​ หลวงท่านเป็นคนกลาง​ ไม่ได้รู้ความจริงในเรื่องหนี้ที่เกิดระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เลย
4.2 คนเป็นเจ้าหนี้เขาก็มีคนคุมกติกา​ มีการออกวิธีการ​ กฎกติกามรรยาท​ชัดเจนเรื่องปรับโครงสร้างหนี้​
4.3 คนปล่อยกู้​ เขาต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก​นะครับ​ เขาต้องหมุนเงินโดยรับเอาเงินต้นที่จ่ายคืนมา​ เอาไปหมุนให้กู้ใหม่กับคนที่ต้องการเงินทุน​ ถ้ามันสะดุด​ ติดขัดเพราะฝ่ายคืนไม่คืนตามเวลา​ แต่ต้องจ่ายทางฝั่งคนฝากทุกครั้งตามเวลาและจำนวนที่กำหนด​ แล้วเจ้าหนี้จะไปต่อได้อย่างไร​
4.4 เวลานี้ทุกคนล้วนสาหัสสากรรจ์​กันทั้งนั้น​ ถ้ามีคนหนึ่งได้หมดอีกคนเสียหมดมันก็ไปต่อไม่ได้​ ถ้าเสียสละกันบ้าง​ กำไรน้อยลงบ้าง​ ลูกหนี้อย่าเล่นกลบ้าง​ มันถึงจะพอไปกันได้​ แบ่งๆ กันไป​ เฉลี่ยทุกข์​เฉลี่ยสุขกันไป​ ไม่งั้นมันก็ไม่มีใครรอด​ ประเทศเราสอบผ่านวิชาสุขศึกษา​แล้ว​ ได้คะแนนดีเยี่ยม​ แต่เราจะสอบตกวิชาเศรษฐกิจ​ก็เพราะเรามองแต่กระจกบานเดียวคือบานที่เราต้องการ​ เราทุกคนไม่ว่าใครต้องมองกระจกหกด้านสิ​ ดังคำพระท่านสอน​ เอาใจเขามาใส่ใจเรา​

… ปัญหาของทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่เพียงแค่การดำรงชีวิต ซึ่งเคยแนะนำไปแล้วว่าให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๙) มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น แต่วันนี้ปัญหาของประชาชนที่มีมากที่สุด คือปัญหาหนี้สินของพวกเขา ทั้งหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธนาคารทั้งสิ้น จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากพวกท่าน เพราะไปก้าวล่วงกับทางธนาคารไม่ได้ แต่หากเราไม่ช่วยกันวันนี้ประเทศชาติก็คงต้องไปกันทั้งหมด จึงขอฝากไว้ด้วยเพราะทุกคนต่างคาดหวังความช่วยเหลือจากรัฐบาล วันนี้จึงขอให้ท่านเริ่มจากการช่วยตัวเองเสียสละกันบ้าง และรัฐบาลก็จะเข้ามาดูแลพวกท่านอีกครั้งหนึ่ง และถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นอยากจะให้เข้าใจวิธีการหลักคิดของรัฐบาลด้วย… พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว

ขอขอบคุณ​ทุกท่านที่ติดตามนะครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ถึงไม่มีเรา​ เขาก็ทำได้​ ต้องเชื่อแบบนั้นทุกสิ่งอย่างจะเดินไปได้ : วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2563

ถึงไม่มีเรา​ เขาก็ทำได้​ ต้องเชื่อแบบนั้นทุกสิ่งอย่างจะเดินไปได้

ข้อเขียนวันนี้จะอยู่ในช่วงเวลาการเกษียณ​อายุการทำงานของผู้คน​ โดยเฉพาะท่านใดก็ตามที่ทำหน้าที่ในระบบราชการ​ ในวันที่​ 30 กันยายน คนเก่าจบการทำงานในตำแหน่งที่นั่งอยู่​ 1 ตุลาคม​ คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน​ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผู้เขียนเคารพนับถือ​ท่านบอกว่า​
1.ท่านจะไม่มีการฝากงานเก่าให้คนใหม่แบบที่ชอบพูดกันว่า​ ขอฝากเรื่อง… ให้ดำเนินการต่อถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์​ เพราะท่านคิดว่า​ คนใหม่ที่จะมาเขาจะคิดได้เอง​ เขามีศักยภาพ​แน่ๆ เขาถึงได้มาทำแทนเรา เขามีความรับผิดรับชอบกับสิ่งที่เขาจะทำ​เต็มที่​ เราจบแล้วในบทบาทของเรา​ การที่จะไปบอกว่า​… อยากจะขอฝากเรื่อง… หรือบอกว่าได้วางรากฐานไว้ให้แล้ว… หรือบอกว่ายังมีความท้าทายอะไรที่จะต้องทำต่อไปคือ… ท่านผู้ใหญ่ที่ให้ข้อคิดผมบอกว่า​ ต้องให้คนใหม่เขาคิดเอง​ ถ้าเขาไม่ถาม​ เราก็ไม่ควรไปพูดอะไร​ ไม่มีใครอยากย่ำรอยเท้าใคร​ ทุกๆ คนเขามีทางมีรอยเท้าของตนเอง​ เหตุเพราะตัวเรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราทำผ่านมาภายใต้อำนาจเรานั้นมันจะดีที่สุดในอนาคตในระยะต่อไป​ สถานการณ์​มันแปรเปลี่ยนไปเสมอในโลกที่ไม่แน่นอน

2.คำกล่าวลาที่ท่านผู้ใหญ่ได้เล่าให้ฟังเวลาท่านขึ้นเวทีการให้เกียรติ​ ท่านจะพูดว่า​… ภูมิใจที่ได้ทำงานในตำแหน่งแห่งที่ตรงนี้​ และดีใจที่ได้ลุกไปจากที่ตรงนี้​ ไม่มีอะไรจะฝากให้คิดให้ทำต่อ​ ขอให้ไปคิดเอาเองนะ…

3.ต่อคำถามที่ว่า​ แล้วจะไปทำอะไรต่อหลังเกษียณ​ ท่านให้ข้อคิดดังนี้
3.1​ นอนให้มากหลังเกษียณ​โดยไม่ต้องตั้งเวลาปลุกอีกต่อไปแล้ว
3.2​ ลุกขึ้นมาทำอาหารเช้าทานเองง่ายๆ​ เน้นสุขภาพ​ จะระลึกได้ว่าตัวเรายิ่งใหญ่แค่ไหนก็กินได้แค่นี้แหล่ะ
3.3 ออกกำลังกาย​ จะเดิน / วิ่งบนลู่วิ่ง​ เดิน / วิ่งในหมู่บ้าน​ เดิน /วิ่ง ในสวนสาธารณะ​ให้เป็นประจำ​ เป็นนิสัยใหม่​ เป็น​ next normal ของชีวิต ที่สำคัญมากๆคือใส่หน้ากากเสมอ​ ล้างมือบ่อยๆ​ การ์ด​ห้ามตก​
3.4​ ไม่ต้องออกความเห็นในเรื่องงานที่เราเคยทำ​ อยู่เงียบๆ​ ถ้าไม่มีใครถามหรือแม้มีใครถามก็ควรบอกว่า​ ให้คนที่ดูแลในปัจจุบันเขาตอบดีกว่า​ เราหมดหน้าที่แล้ว​ ไม่มีข้อมูล​อัปเดตมากพอที่จะตอบคำถามในสิ่งที่เคยมีบทบาทในการทำงานนั้นเหตุเพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปตามกาลเวลา​ ที่สำคัญอย่าไปทะเยอทะยาน​ว่า​ สิ่งที่เราได้เคยทำมามันจะต้องให้เราไปต่อในงานการเป็นที่ปรึกษา​บ้างล่ะ​ กรรมการบ้างล่ะ​ ผู้ทรงคุณวุฒิ​บ้างล่ะ​ ถ้าไม่มีองค์กร​ใดเชิญมาด้วยความเต็มใจ​แบบตรงไปตรงมา ก็ไม่ต้องไปวิ่งไปหาใครต่อใคร​ ให้บอก​ ให้สั่ง​ ให้ขอกับองค์กร​ใดๆ มาตั้งให้ตัวเราเข้าไปเป็นโน่นนี่​ เพราะแท้จริงแล้วมันเกิดจากเราอยาก​ไป ไม่ใช่ทางเขาที่จะรับเราอยากให้มา​ เรื่องแบบนี้มันต้องคิดได้เอง​ ยิ่งประเภทต้องเดินตามธรรมเนียมปฏิบัติ​ที่วางไว้ทั้งที่เป็นแบบอย่างที่ควรยุบเลิก คิดนิดนึงว่ามันงดงามตามสายตาชาวบ้านหรือไม่​ เหมาะควรแก่กาละและเทศะหรือไม่​
3.5 กลับไปดูแลพระที่บ้านหากท่านยังอยู่กับเรา​ ดูแลอาหารการกิน​ ดูแลสุขภาพกาย/ใจของท่านเหล่านั้น​ พระที่บ้านหมายถึงทุกท่านไม่ใช่แต่เพียงพ่อแม่​ ญาติผู้ใหญ่​ แต่หมายรวมถึงทุกๆคนที่มีส่วนในการดูแลตัวของเราในช่วงเวลาที่เราทำงานในตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ​

ทุกสิ่งที่ผ่านมาล้วนดีทั้งสิ้น
ทุกสิ่งล้วน​ เกิดขึ้น​ ตั้งอยู่​ เสื่อมลง​ ดับไป
มีลาภก็เสื่อมลาภ​ มียศย่อมเสื่อมยศ
คนจะรู้จักเราเมื่อเรามีตำแหน่ง​ แต่ตัวเราจะรู้จักคนเมื่อเราไม่มีตำแหน่ง
จะเห็นเพื่อนแท้ในยามยาก​ ก็ไอ้ตรงช่วงที่มีความลำบากหลังเกษียณ​นี่แหละ
ต้องเตรียมกายและเตรียมใจกับการล้มหายตายจาก​ เพราะงานที่จะไปพบสังสรรค์​ต่อไปนี้คืองานแต่งของลูกหลาน​ และงานศพของเพื่อนฝูง / งานศพของบุพการีหรือผู้ใหญ่ที่เรารู้จักมักคุ้น​ เพื่อให้เกิดความคุ้นชินหรือซ้อมเอาไว้ก่อนสำหรับตัวเองเมื่อเวลามันจะมาถึง

ได้อ่านและเห็นใครต่อใครส่งข้อความนี้ผ่านไลน์มา​ เห็นว่าน่าจะส่งต่อได้​ เลยขอนำมาลงในข้อเขียนวันนี้​ และขอขอบคุณ​ท่านที่คิดข้อความนี้​ ไว้ในโอกาสนี้ด้วยนะครับ​ ข้อความมีอยู่​ว่า

หัวโขน
หัวเอย..หัวโขน
มีทั้งหัว นี่นั่นโน่น หลากหลายหน้า
ทั้งหัวลิง หัวยักษ์ หัวเทวดา
อีกหัวอื่น นับนานา มาเรียงราย

บางคนใส่ นานไป ก็คุ้นชิน
ยามหัวโขน ผกผิน บินวับหาย
มักเกิดทุกข์ ซึมเศร้า เหงาเดียวดาย
ดุจหัวตน ขาดหาย ไปกระนั้น

ในชีวิตที่เหลืออยู่​หลังเกษียณ​ขอจงตั้งมั่นในจินตนาการที่จะดำรงตนต่อไปคือ

.. จะดูแลตัวเอง​ ไม่ให้เป็นภาระลูกหลาน
และจะดูแล​ ลูกหลาน​ ไม่ให้เป็นภาระต่อสังคม…

อัน “ความสุข” เหนืออื่นใดกว่า”ความสงบ” นั้นไม่มี

ยินดีกับทุกๆ ท่านที่เป็นคนวัยเกษียณ​นะครับ

เรื่องน่าอ่าน