เครดิตดีสร้างได้ ทำอะไรก็ง่าย มีชัยไปกว่าครึ่ง
ในการจะพิจารณาอนุมัติเงินกู้หรือขอสินเชื่ออะไรก็ตาม สถาบันการเงินจะมีปัจจัยเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ของแต่ละสถาบันที่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งก็คือ พฤติกรรมทางการเงิน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงเครดิตของผู้ที่ขอสินเชื่อ
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างคือ “เครดิต” ถ้าอยากรู้ว่าวิธีการสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีสามารถอย่างไร ตามมาดูกันค่ะ
*เครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือสิทธิ์อนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร*
1. ชำระหนี้ให้ตรงตามเวลาที่กำหนด
ควรชำระหนี้ให้ตรงตามเวลา เพื่อเก็บประวัติในการชำระเงิน และแสดงความมีวินัยทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ
2. ไม่ก่อหนี้ที่ไม่เป็นประโยชน์เพิ่ม
หนี้ที่ไม่เป็นประโยชน์ คือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ชอปปิ้ง ของลดราคา เป็นต้น
3. ทำสรุปรายการหนี้ค้างชำระ
พยายามชำระหนี้ค้างชำระคงเหลือให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อรักษาเครดิตที่ดี หรือติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อเจรจาประนอมหนี้
4. หมั่นตรวจสอบเครดิตทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และประวัติการเงินที่ดี ง่ายต่อการขอสินเชื่อ
คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “เคยค้างชำระ” จะกู้บ้าน? : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 2 ตุลาคม 2563
“เคยค้างชำระ” จะกู้บ้าน?
คำถามที่มายังเครดิตบูโรเรียกว่า คนเคยมีประวัติการค้างชำระหรือ “คนเคยค้าง” ต่อมาปัจจุบันบัญชีเป็นปกติแล้ว และจะกู้บ้าน คืออยากทราบว่าประวัติการชำระล่าช้า จะมีผลให้ธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้หรือไม่ และมีเงินเดือน 18,000 บาท จะกู้ได้เท่าไร
คำตอบดังนี้
1.คนเคยค้าง ต่อมาบัญชีปิดแล้วยอดหนี้เป็นศูนย์ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าติดเครดิตบูโร ติดบัญชีดำ ติดแบล็กลิสต์
2.ทำถูกแล้วที่กลับไปชำระส่วนที่ค้างเพื่อให้บัญชีกลับมาเป็นปกติ แสดงถึงความพยายามว่า “เป็นหนี้ก็ใช้หนี้ ไม่หนีหายไปไหน”
3.เมื่อปิดบัญชีแล้ว สถาบันการเงินจะรายงานข้อมูลเครดิตยอดหนี้เป็นศูนย์ ทำให้แสดงสถานะปิดบัญชี ส่วนข้อมูลเครดิตบูโรเดือนเก่า ๆ เมื่อครบระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ถูกส่งเข้าก็จะถูกลบออกไปทีละเดือน
4.สถาบันการเงินที่ขอกู้บ้านจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ คือ ดูรายได้ปัจจุบันที่ 18,000 บาทต่อเดือน มีภาระค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ (ตามปกติไม่ควรเกิน 30%) มีการออมเก็บไว้หรือไม่ และมีภาระหนี้อื่น ๆ ก่อนที่กู้ครั้งนี้กี่มากน้อย (ตามเกณฑ์มาตรฐานไม่ควรเกิน 40% ของรายได้)
5.สถาบันการเงินจะพิจารณาประวัติการก่อหนี้ในอดีตว่าพฤติกรรมการใช้หนี้เป็นอย่างไร กรณีเคยค้างชำระ 1-2 เดือน ปัจจุบันปิดบัญชี สถาบันการเงินอาจนำมาเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณา ดังนั้น จึงต้องมีการอธิบายเพิ่มว่าค้างชำระเพราะอะไร เช่นเกิดเมื่อ 2 ปีที่แล้วและอธิบายได้ ก็แทบไม่มีผลลบต่อการพิจารณา
6.ข้อแนะนำของเครดิตบูโรคือก่อนยื่นขอสินเชื่อ 6 เดือนหรือ 1 ปี แนะนำให้สร้างประวัติการออม โดยฝากเงินเดินบัญชีอย่างสม่าเสมอกับสถาบันการเงินที่ต้องการกู้ สำหรับวงเงินกู้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงินนั้น ๆ โดยคำนวณจากรายได้ ภาระหนี้จำนวนปีในการผ่อนชำระ อายุของผู้กู้ และสอบถามกับสถาบันการเงินได้โดยตรงว่ากู้บ้านได้กี่เท่าของรายได้ปัจจุบัน.
เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : หนี้เสียจะไม่เพิ่มสูง หากเร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง : วันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2563
หนี้เสียจะไม่เพิ่มสูง หากเร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง
สืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุข จนมีผลกระทบต่อการหยุดชะงักของการทำกิจกรรมทางธุรกิจ ต่อเนื่องมาจนถึงการเริ่มเปิดบ้านเปิดเมืองให้มีกิจกรรมทางการค้าขายภายในประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังมีการรักษาระดับตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศอยู่ที่ 0 คนมาอย่างต่อเนื่องเกินกว่าสามเดือนอย่างที่เราเห็นกันอยู่ ในด้านของคนเป็นหนี้ระดับบุคคลธรรมดาที่มีหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลก็จะพบว่า ในช่วงเฟสที่ 1 ของการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ธนาคารกลางได้กรุณาจัดให้ก็คือ การให้ชะลอการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดในช่วงเวลานั้นได้ ภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายๆ คือแขวนต้นเงิน แขวนดอกเบี้ย โดยไม่ถูกนับว่าเป็นลูกหนี้ค้างชำระ หรือไม่ถือว่าเป็นหนี้เสีย มาตรการช่วงแรกคือช่วงสามเดือนจากเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 ในภาษาแวดวงทางการเงินก็คือ Debt payment holiday ตัวอย่างที่ผู้เขียนพบในตลาดเงินกู้ที่มีการทำกันคือ
1.สินเชื่อบัตรเครดิต สามารถลดยอดจ่ายขั้นต่ำจากเดิม 10% เป็น 5% หรือบางที่ลดลงไปถึง 3% สิ่งที่สถาบันการเงินทำคือส่ง SMS แจ้งลูกค้าว่าได้รับสิทธิอัตโนมัติ หากไม่ต้องการใช้สิทธิก็แจ้งกลับประมาณนี้ ผลตอบรับคือลูกหนี้ที่ยังพอจ่ายได้ก็ยังจ่ายสูงกว่าหรือเท่ากับ 10% ด้วยเหตุว่ากลัวมีดอกเบี้ยจ่ายเยอะขึ้น อันนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่าความสามารถในการชำระหนี้หรือการเลี้ยงงวดต่อไปอีกระยะหนึ่งยังทำได้
2.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ก็พบว่าทางเจ้าหนี้ก็ออกมาตรการมาแบบว่า ค่างวดเช่าซื้อในช่วง 3 เดือนนั้นให้ยกไปจ่ายต่อท้ายงวดสุดท้ายของสัญญา แต่ให้จ่ายเงินในช่วง 3 เดือนนั้นเดือนละไม่เกินพันบาท คิดแบบบ้านๆ คือ มันเป็นดอกเบี้ยในช่วงที่เว้นวรรคไม่ต้องจ่ายค่างวด 3 งวดนั้น หรือมีอีกแบบคือแยกค่างวดออกเป็นต้นเงินกับดอกเบี้ย แล้วให้จ่ายแต่ดอกเบี้ย ยกเอาต้นเงินนั้นไปต่อตอนท้ายเพื่อจ่ายในวันข้างหน้า แบบนี้เรียกว่าจ่ายแต่ดอกเลี้ยงงวดกันไป วันข้างหน้าค่อยว่ากัน
3.สินเชื่อบ้าน อันนี้ก็จะมีลูกเล่นหลายแบบ แต่ที่เห็นเยอะหน่อยก็คือ ในยอดค่าผ่อนหนี้บ้านรายเดือนก็เอามาแยกเป็นต้นเงินกับดอกเบี้ย แล้วให้ลูกค้าจ่ายดอกเบี้ยเต็มยอดบ้าง 50% ของยอดดอกเบี้ยบ้าง (ยอดที่เหลือแขวนไว้จ่ายกันวันหลัง) เรียกรวมๆ มาตรการนี้ว่าลดยอดการผ่อนชำระลงให้เหลือเท่าที่พอจะจ่ายได้ แบบว่าพยุงกันไปก่อนเดี๋ยวค่อยว่ากัน เพราะเวลานั้นมันมาเจอหน้ากันไม่ได้
4.พวกสินเชื่อส่วนบุคคล หรือกู้เป็นก้อนผ่อนเป็นงวด ส่วนใหญ่ช่วงแรกก็อาจยังไม่มีอะไรมารองรับ แต่ที่สุดก็มีการลดยอดผ่อนต่อเดือนลงมาจนเต็มที่สุดๆ กันก็น่าจะอยู่ที่ 30% ของยอดผ่อนเดิมหรือไม่ก็ยกยอดการผ่อน 3 งวดนี้ไปไว้ข้างหลัง หรือทำตารางการชำระหนี้ใหม่แบบมีฟันหลอไม่ต้องจ่ายในช่วงนั้น แต่พอครบเวลาแล้วต้องมาเริ่มจ่ายตามตารางใหม่ ประเด็น คือ ลูกค้าสินเชื่อแบบนี้จะเป็นลูกหนี้ที่รายได้ไม่สูงมาก หากได้รับผลกระทบแบบว่างงาน ลดชั่วโมงทำงานก็จะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งประเภทลักษณะเงินเดือนไว้ใช้หนี้ OT เอาไว้กินใช้ พอมันไม่มี OT งานก็เข้าในเรื่องการชำระหนี้ทันที สินเชื่อส่วนบุคคลในสายตาผู้เขียนคือตัวปัญหาที่น่าหนักใจที่สุดในบรรดาหนี้การบริโภคของบุคคลธรรมดา
หากแต่ภาพสะท้อนจากการให้ข้อมูลของทุกฝ่ายต่างมองไปว่า ยังอยู่ในขีดความสามารถที่จะบริหารจัดการได้ เช่น
จากฟากฝั่งผู้ทำนโยบายระบุว่า… การแก้ไขหนี้ ธนาคารก็จะพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ ดูตามศักยภาพของลูกหนี้ เรา (หมายถึงภาครัฐ) ก็พยายามช่วยเหลือ และทุกธนาคาร/สถาบันการเงินพยายามช่วย ฝั่งลูกหนี้เองต้องมองระยะยาวด้วยว่า ทำอย่างไรให้ธุรกิจ (พวก SME รายย่อยที่ใช้สินเชื่อพวกนี้มาดำเนินธุรกิจ) กลับมาให้ได้ SME ต้องปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจใหม่เช่นกัน เราถึงไปรอดกันทุกคน..
ฝั่งของนายธนาคารก็ระบุในเนื้อข่าวว่ามั่นใจและสามารถบริหารจัดการได้ หนี้เสียอาจเพิ่มขึ้นได้บ้าง เนื่องจากธนาคารได้ลงสนามสำรวจลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวมาแล้วกว่า 9 หมื่นราย พบว่า ราว 80% ไม่ต้องการมาตรการช่วยเหลือต่อ อีก 6% อยู่ระหว่างการสำรวจ และ 0.5% หรือราว 400 กว่าราย ปิดกิจการ ถือว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้แย่กว่าที่คาดไว้เมื่อช่วง 4 เดือนที่แล้ว
ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ก็คงเป็นเรื่องของเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่จะต้องทำให้การจ่ายหนี้คืนอยู่ในระดับที่รับกันได้ คิดแบบว่า ถ้าลูกหนี้รอด สถาบันการเงินก็รอด จะรอดก็ต้องรอดไปด้วยกัน เรื่องนี้จะไปได้ดีหรือทุลักทุเลก็มีประเด็นเรื่องการรักษารายได้ให้มีอยู่ต่อไปผ่านการมีงานทำ ยังมีธุรกิจที่เดินต่อไปได้ ด้วยความหวังว่าวัคซีนจะมาปลายปี 2565
ขอทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงครับ
4 วิธีเคลียร์หนี้เก่าให้ไว
อยากปลดหนี้ไว สร้างเครดิตการเงินขึ้นมาใหม่ เริ่มต้นอย่างไรดี ?
หากท่านต้องการกู้ขอสินเชื่อ แต่ ณ ตอนนี้ยังคงมีหนี้ค้างชำระอยู่ สิ่งที่ทำได้นั่นก็คือ เร่งปลดหนี้ สร้างเครดิตทางการเงินขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวินัยการเงินที่ดีของท่านค่ะ
1. แยกหนี้ให้เป็น
แยกความแตกต่างของหนี้แต่ละประเภทให้ออก เช่น “หนี้ดี” ที่ก่อให้เกิดรายได้ กับ “หนี้ฟุ่มเฟือย” ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือไม่จำเป็นกับชีวิต
2. จัดลำดับหนี้สินตามอัตราดอกเบี้ย
เรียงลำดับหนี้สินที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากที่สุด แล้วจัดการหนี้สินในส่วนนั้นให้หมดเป็นอันดับแรก
3. หยุดการสร้างหนี้เพิ่ม
เริ่มโดยการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก เช่น ปาร์ตี้ทุกสัปดาห์ , ชอปปิง โดยนำเงินส่วนนี้มาปลดหนี้แทน เพื่อช่วยให้หนี้หมดเร็วมากยิ่งขึ้น
4. อย่ากู้หนี้ใหม่มาหมุนโปะหนี้เก่า
การใช้วิธีกู้ยืมหรือถอนเงินสดจากบัตรเครดิตเพื่อนำมาใช้หนี้นั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องค่ะ เพราะจะเป็นการเพิ่มหนี้สินจากอัตราดอกเบี้ยที่เกิดจากการกดเงินสดเพิ่มขึ้นได้
5. ปรับแผนการเงินใหม่
จัดระเบียบแผนการเงินเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย และสร้างวินัยทางการเงินแบบใหม่ ตั้งแต่ทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย , ตั้งเป้าหมายทางการเงิน เพื่อช่วยให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
หากคุณสามารถปลดหนี้ได้ไว การขอกู้สินเชื่อก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ
ที่ทำการไปรษณีย์ 291 แห่งทั่วไทยก็ตรวจเครดิตบูโรได้นะรู้ยัง
ตรวจเครดิตบูโร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ใช้แค่บัตรประชาชนของตนเอง กับเงิน 150 บาท
สำหรับท่านไหนที่อยู่ต่างจังหวัดหรือไม่สะดวกเดินทางไปธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ 291 สาขาทั่วไทยก็สามารถรับคำขอตรวจเครดิตบูโรได้นะคะ เพียงเตรียมบัตรประชาชนของตนเอง ชำระค่าบริการ 150 บาท ก็จะได้รายงานข้อมูลเครดิตฉบับละเอียดส่งให้ถึงบ้านทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วันทำการ
แต่ถ้าหากต้องการตรวจคำขอแบบสรุป สามารถรอรับได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เช็กสาขาที่ทำการไปรษณีย์ที่ให้บริการรับตรวจเครดิตบูโรเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/check-credit-bureau-postoffice
4 สิ่งที่ควรทำ ถ้าไม่อยากให้การเงินสะดุด!
ไม่อยากการเงินสะดุด ต้องปลุกวินัยการเงินให้ตื่น!
สำหรับใครที่อยากมีอนาคตที่ดี หรือชีวิตหลังเกษียณสุขสบาย จำเป็นต้องเริ่มเก็บออมและสร้างวินัยทางการเงินที่ดี ดังนี้ค่ะ
1. ตัดเงินใส่บัญชีออมโดยอัตโนมัติ
เปิดบัญชีเงินออมแยกออกมาโดยตัดจากบัญชีเงินเดือนทุก ๆ เดือน เพื่อสร้างวินัยและจำกัดกรอบการใช้เงินของตนเอง
2. เก็บก่อนใช้
เมื่อได้เงินเดือน ให้หักเงินในส่วนที่ต้องการออมออกไปก่อน แล้วจึงหักลบกับรายจ่ายอื่น ๆ และหนี้สินทีหลัง
3. ใช้ไปเท่าไร ออมคืนเท่านั้น
เปรียบเสมือนเป็นการยืมเงินของตนเองออกมาก่อน แล้วค่อยนำไปคืนทีหลัง เป็นการปรับนิสัยและวินัยทางการเงิน ไม่ให้ฟุ่มเฟือย
4. ทำงบรายจ่ายประจำเดือน
มีการควบคุมรายรับ-รายจ่าย โดยตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น ตั้งเป้าหมายการออมไว้ที่ 20% ต่อเดือน การลงทุน 10% ค่าใช้จ่าย 30% หนี้สิน 40% เป็นต้น
หากทำ 4 สิ่งนี้ได้นอกจากการเงินในแต่ละเดือนจะไม่สะดุดแล้ว ยังมีเงินออมเพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ
บทบาทหน้าที่ของเครดิตบูโร
Ep.1 มาฟัง “คุณสุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
มีคำตอบ ที่จะทำให้ทุกคนได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของเครดิตบูโรได้มากยิ่งขึ้น
ภัยการเงิน จากโลกออนไลน์
โปรดระวัง ผู้ไม่หวังดีบนโลกออนไลน์ !!
ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ต้องป้องกันตามนี้ค่ะ
1. เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเท่าที่จำเป็น
ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์มากเกินไป เพราะอาจเป็นการเปิดช่องทางให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลไปแอบอ้างในการทำธุรกรรมโดยที่ไม่รู้ตัวได้
2. เก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมดทุกครั้ง
ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมบนออนไลน์ ควรเก็บหลักฐานยืนยันเสมอ
– ชื่อ-สกุล / ที่อยู่ / เบอร์โทรศัพท์ / เลขบัญชี
– ข้อความแชทที่คุยกัน
– หลักฐานการโอนเงิน
3. ติดต่อสถาบันการเงินเมื่อได้รับการติดต่อให้โอนเงิน
เมื่อมีโทรศัพท์แจ้งว่าติดต่อมาจากสถาบันทางการเงินให้ท่านทำธุรกรรมการเงินใดใด ให้รีบติดต่อกลับไปยังสถาบันการเงินนั้น ๆ เพื่อสอบถามให้แน่ชัดเสียก่อน
4. ติดตามข่าวสารเรื่องภัยการเงินอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อรู้ทันวิธีกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ และสามารถป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้ทัน
1. เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเท่าที่จำเป็น
2. เก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมดทุกครั้ง
3. ติดต่อสถาบันการเงินเมื่อได้รับการติดต่อให้โอนเงิน
4. ติดตามข่าวสารเรื่องภัยการเงินอย่างสม่ำเสมอ