Blog Page 84

“เครดิตสกอริ่ง” คะแนนค่าผลรวมการประเมิน

“เครดิตสกอริ่ง” คะแนนค่าผลรวมการประเมิน

“เครดิตสกอริ่ง” หรือ “คะแนนเครดิต” คือตัวเลขหรือเครื่องหมายผลรวมการประเมินทางสถิติ ว่าแต่ละคนมีโอกาสจะชำระหนี้คืนได้มากน้อยแค่ไหน โดยดูจากประวัติการก่อหนี้ และการชำระหนี้ในอดีต

มาตรวจ “เครดิตสกอริ่ง” ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร 3 แห่ง ดังนี้

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้่ ชั้น 2
⏰ จันทร์-ศุกร์ | 9.00-16.30 น.

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี)
⏰จันทร์-ศุกร์ | 9.00-18.00 น.

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1
⏰ จันทร์-อาทิตย์ | 9.00-18.00 น.

ตรวจของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยแสดงบัตรประชาชนของตนเอง รอรับผลได้เลยใน 15 นาที ค่าบริการ 200 บาท

อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/ncb-score

“เครดิตสกอริ่ง”
สรุปเครดิตบูโรของคุณ
ในรูปแบบคะแนน

เห็นเครดิตของตัวเอง
ในมุมมองเดียวกับสถาบันการเงิน

รู้สุขภาพการเงินที่แท้จริงของตัวเอง

รู้เขา รู้เรา
เพิ่มโอกาสได้สินเชื่อ

ตรวจเครดิตสกอริ่ง
กับเครดิตบูโรได้แล้ววันนี้

หนี้แบบไหนที่ควรปลด ก่อนเกษียณ?

หนี้แบบไหนที่ควรปลด ก่อนเกษียณ?

ใคร ๆ ก็อยากใช้ชีวิตสบายยามหลังเกษียณ แต่จะสบายอย่างเต็มที่ได้อย่างไร ถ้ายังมีหนี้อยู่…

เพราะฉะนั้นก่อนคิดจะวางแผนเกษียณอย่างไรให้สบายใจ เราต้องมาสำรวจตัวเองกันก่อนดีกว่าค่ะ ว่าหนี้แบบไหน ที่ไม่ควรพาไปด้วยยามเราเกษียณ

1. หนี้บัตรเครดิต
แม้จะเป็นหนี้ระยะสั้น แต่หากใช้แล้วไม่สามารถชำระคืนได้ตามเวลาที่กำหนด ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปจนอาจเป็นภาระในการชำระหนี้ในภายหลังได้

2. สินเชื่อส่วนบุคคล
ถึงตอนขอกู้จะสบาย แต่เมื่อถึงเวลาชำระหนี้คืนไม่สบายอย่างที่คิด เพราะดอกเบี้ยสูง ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นหนี้ควรชำระหนี้ส่วนนี้ให้หมดโดยเร็วที่สุดค่ะ

3. หนี้รถยนต์
หนี้ก้อนใหญ่แม้จะใช้ระยะเวลาในการชำระไม่นาน สามารถชำระได้จบก่อนเกษียณอยู่แล้ว แต่หากตัดสินใจซื้อรถในช่วงใกล้เกษียณ อาจเป็นการสร้างภาระให้กับตนเองไปอีก

4. หนี้บ้านหรือที่พักอาศัย
บ้านถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหนี้บ้านจึงถือเป็นภาระที่หนัก จึงจำเป็นที่จะต้องชำระให้หมดก่อนเกษียณ เพื่อที่ทรัพย์สินจะสามารถเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานต่อไปได้

ถ้าไม่อยากสร้างภาระค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ หรือทำให้เกษียณได้ช้าลง เราจึงจำเป็นที่จะต้องกำจัดหนี้ให้หมด เพื่อความสุขสบายชีวิตหลังเกษียณนั่นเองค่ะ

มอบอำนาจให้ผู้อื่น ไปตรวจเครดิตบูโรแทน

มอบอำนาจให้ผู้อื่น ไปตรวจเครดิตบูโรแทน

มอบอำนาจให้ผู้อื่นไปตรวจเครดิตบูโร (กรณีบุคคลธรรมดา) ทำได้ค่ะ แต่ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมนะคะ ดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจได้ที่นี่เลยค่ะ https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/form_download

ไปตรวจเครดิตบูโร แบบรับมอบอำนาจ ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร 3 แห่ง

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์สแกรนด์ พระรามเก้า
⏰ จันทร์-ศุกร์ | 9.00-16.30 น.

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี)
⏰ จันทร์-ศุกร์ | 9.00-18.00 น.

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1
⏰ จันทร์-อาทิตย์ | 9.00-18.00 น.

กลลวงจากพนันออนไลน์ รู้ทันไว้ก่อนหมดตัว

กลลวงจากพนันออนไลน์ รู้ทันไว้ก่อนหมดตัว

รู้ทันกลลวงพนันออนไลน์ ยั้งก่อน ป้องกันได้ ไม่หมดตัว!!!

จากการกักตัวของสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจปัญหาทางการเงินของกลุ่มคน พบว่ามีผู้คนประสบปัญหาหนี้สินที่เกิดจากพนันออนไลน์พุ่งสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัว

สาเหตุหลัก ๆ อาจมาจากการเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่ง่ายขึ้น จึงทำให้ใครหลาย ๆ คนหลงไปติดกับดักของเว็บไซต์พนันออนไลน์เข้า และคิดว่าเว็บไซต์เหล่านี้จะสามารถสร้างรายได้ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์

เพราะฉะนั้นจึงอยากจะพาทุกคนไปรู้ทันกับกลลวงของกลุ่มเว็บพนันออนไลน์นี้กันค่ะ

1. ถล่มโฆษณาตามเว็บไซต์อย่างหนัก
ทุกครั้งที่เข้าเว็บไซต์ที่ไม่ใช่เว็บไซต์ทางการ เราจะพบแบนเนอร์โฆษณา หรือวิดีโอโฆษณาเกี่ยวกับการพนันอยู่เสมอ และจะมีคำยอดฮิต เช่น ฝาก-ถอนง่าย สะดวก ได้เงินเร็ว เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้อาจไปสร้างความกระตุ้นในการอยากเล่นของผู้คนได้ค่ะ ถ้ายับยั้งใจไม่ทันมีหมดตัวแน่นอน

2. หลอกล่อคนมาเล่นด้วยรูปแบบของเกม
เว็บไซต์พนันออนไลน์หลาย ๆ เว็บ มีการปรับรูปแบบชวนให้ผู้คนคิดว่าเป็นเกม โดยใส่เสียง วิธีการเล่นสนุก ๆ ลงไป ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งเหล่านั้นก็คือพนัน และการทำเช่นนี้เสี่ยงทำให้หลายๆ คนหลวมตัวเข้าไปได้ง่าย ๆ เลยค่ะ

3. หลอกให้คนสมัครผ่านแฟนเพจอย่างเนียน ๆ
กับดักชั้นดีของเว็บพนันออนไลน์ คือการให้แฟนเพจ อินฟลูเอ็นเซอร์ โปรโมทเว็บไซต์อย่างเนียน ๆ หรือฝาก @ line กลุ่มพนันออนไลน์ในแคปชัน หรือคอมเมนต์ ให้คนหลงกดเข้ากลุ่มเพื่อสมัครสมาชิก ซึ่งหากเรากดเข้าร่วมก็เตรียมตัวโดนกับดักนี้ทันทีเลยค่ะ

4. อ้างว่าทดลองเล่นฟรีไม่เสียเครดิต/เงิน
เว็บไซต์พนันออนไลน์มักจะมีคำพูดที่บอกว่า สมัครครั้งแรกฟรี ไม่เสียเงิน แถมได้เงินคืน ซึ่งถ้าใครหลงกลคำพูดเหล่านี้ เตรียมใช้หนี้กันยาว ๆ ได้เลยค่ะ

5. บอกว่าปลอดภัยแต่โดนหลอกเอาข้อมูลไปหมด
เมื่อได้ยินคำที่บอกว่า เก็บข้อมูลส่วนตัวปลอดภัยเป็นอย่างดี ขอบอกได้อย่างเดียวว่า หนีไปค่ะ…หนีไป เพราะความปลอดภัยไม่มีจริงในเว็บพนันออนไลน์ เมื่อได้หลงกลเข้าไปแล้ว ข้อมูลส่วนตัวของเราทั้งหมดก็ตกอยู่ในความเสี่ยงแล้วล่ะค่ะ

6. หลอกว่าได้เงินง่าย เล่นแล้วรวย
สิ่งที่เว็บไซต์พนันชอบหลอกเราอยู่บ่อย ๆ คือได้เงินง่าย รวยไว ไม่ต้องทำงาน แต่ในความเป็นจริง หมดเงินง่าย จนไว ทำงานใช้หนี้ไปยาว ๆ

รู้เช่นนี้แล้ว สำหรับใครที่กำลังจะหลงเข้าไปในนั้น รีบหยุดตัวเองไว้ ณ ตอนนี้เลยคนะคะ เพราะหากเข้าไปแล้วผลกระทบอื่น ๆ อีกมากมายจะตามมาอย่างไม่รู้จบเลยล่ะค่ะ

กลลวงจากพนันออนไลน์ รู้ทันไว้ก่อนหมดตัว

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ต้องเข้าใจคนที่เห็นต่าง​ อดทนให้ได้กับข้อความที่ทำร้ายกัน : วันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2563

ต้องเข้าใจคนที่เห็นต่าง​ อดทนให้ได้กับข้อความที่ทำร้ายกัน

บทความวันนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ตัวผู้เขียนไปออกรายการสนทนากับสื่อมวลชนอาวุโสว่าด้วยเรื่องปัญหาหนี้สินในช่วงที่เศรษฐกิจ​กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการต่อสู้กับการระบาดของ
ไวรัส​โควิด-19 เมื่อมีข้อความที่สะท้อนออกไปจากข้อมู​ลข้อเท็จจริงที่ได้ไปพบมากับตัวเองของผู้คนที่เป็นหนี้​ ข้อความมีดังนี้ครับ

…บางคนเงินเดือน สามหมื่น แต่ต้องไปใช้หนี้สองหมื่นหนึ่ง เหลือใช้ เก้าพัน เอาสามสิบวันหารเหลือวันละสามร้อย เท่ากับว่าหน้าตาคือมนุษย์ออฟฟิศ แต่ชีวิตคือกรรมกร… 4 กันยายน 2563

เสียงสะท้อนที่กลับมาจากผู้คนที่ประสบปัญหา​ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่คำหวาน​ คำพูดที่เพราะ​ คนที่ฟังหรืออ่านมีทางเลือกที่จะไม่สนใจ​ ไม่ฟัง ตอบโต้​ โกรธ​เคือง​ แต่ผู้เขียนคิดว่า​ ทำไมเราไม่ลองฟังเสียงของเขาเหล่านั้น​ มันต้องมีเหตุปัจจัยบางอย่าง​ บางประการที่ทำให้เขาแสดงผลตอบโต้แบบนั้น​ เป็นไปได้หรือไม่ว่า
1.เขาต้องทุกข์​ทนแม้ทำทุกทางในการแก้ไขแล้ว​ แต่มันตัน​ มันหมดทาง​ ไม่มีการให้โอกาส​ เข้าไม่ถึง​ เมื่อปัญหามันรุมเร้า​ มนุษย์​ทุกคนจะแสดงการตอบโต้และปกป้องความอ่อนแอ​ ความล้มเหลว​ด้วยการแสดงความชิงชัง​ ความโกรธ​ ความแค้น​ เพื่อให้อีกฟากฝั่งได้รับรู้และอยากให้อีกฟากฝั่งต้องเจ็บ​ ต้องทน​ เหมือนที่ตนเองกำลังได้รับ​อยู่​
2.เขาได้รับข้อมูล​ไม่มากพอ​ ได้รับข้อมูล​ไม่ดีพอ​ ได้รับข้อมูล​ที่ทำความเข้าใจได้ยาก​ สื่อออกไปไม่ดีพอหรือแม้แต่ได้รับข้อมูล​ที่ไปจี้ใจดำ​ ไปขยี้ปมของชีวิตอยู่ในเวลานี้​ การสื่อสารกับคนที่โกรธ​แค้น​ ชิงชัง​ อย่าไปด่วนตัดสินว่ามาจากอารมณ์​ทั้งสิ้น​ ผู้ที่สื่อสารออกไปต้องกลับมาทบทวน
3.เป็นเรื่องปกติครับในสังคมที่การสื่อสารไปอย่างรวดเร็​ว​ การเห็นพ้องโดยไม่พิจารณาสาระอย่างครบถ้วน​ การรีบคอมเมนต์ ​แบบไม่ทันอ่านครบ​ ดูครบ​ หรือแม้แต่ไม่ได้ดูทั้งรายการซึ่งมีการพูดถึงเหตุแห่งปัญหา​ สถิติข้อมูล​ แนวทางการแก้ปัญหา​ ข้อเสนอแนะ​ แต่ความที่ต้องการแสดงเหตุแห่งความไม่พอใจ​ ไม่สบายใจ​ ออกมานั้นมันมีความเร็วมากกว่า​ เราจึงเห็นปฏิกริยาแบบนี้ในแทบทุกประเด็นปัญหาของสังคม​

เราลองมาดูข้อคิดความเห็นของบางท่านที่สื่อสารผ่าน​ เฟซบุ๊กเพจของเครดิตบูโร

… ขอเรียนถามหน่อยครับ ท่าน ผจก.ไอ้ที่ท่านสารแน เอ้ยสาธยายมาเนี่ย มันช่วยให้มนุษย์ออฟฟิต ชีวิตกรรมกรดีขึ้นมั้ย ยิ่งถ้ามี บ.เครดิตติดบูโรของพวกท่านละก้อ ชีวิตประชากรไทยทุกคนยิ่งย่ำแย่ คนรวยก็เสือกรวยเอา คนจนก็ยิ่งจนเอา มีไปทำไมละบูโร มีให้โก้เก๋ แล้วแถมไม่ได้ช่วยอะไร ก็ต้องดินรนพึ่งนอกระบบ เกิดปัญหาบ้านเมืองหนักไปอีก ท่านก็ไม่ควรพ่าม ถ้าคิดพ่ามต้องคิดแก้ ทุกวันนี้ใครรวยใครจน ความเหลื่อมล้ำมันเยอะในสังคมไทย ตั้งบ.เครดิตบูโรได้ ต้องแก้ไขปัญหาปากท้อง ปชช.ได้ อย่าเอาบรรทัดฐานเงินเดือนสูงมาใช้กับทุกคน แล้วไปเทียบกับคนระดับล่าง เพราะ บ.เครดิตบูโร. คือ บ.ที่เอาความโชคร้ายมาสู่ ปชช. จนไม่พัฒนา… หรืออีกข้อความหนึ่ง​… เคยเห็นไหม ทำงานราชการ เงินออกมาในสลิปจาก25k เหลือแค่ 2 พัน โดนสหกรณ์หักหมด ยังงงอยู่ว่าเขาเก่งแฮะเอาตัวรอดมาได้ขนาดนี้… หรือข้อความที่ว่า… บางคนเงินเดือนหมื่นสอง แต่หนี้เดือนล่ะสองหมื่นก็มีนะพี่… หรือข้อความที่ว่า… เงินเดือน 13500 หนี้ 9000 เหลือ 4500 ไม่พอยาคะพวกเราเข้าไม่ถึงเงินในระบบก็ต้องมาเอานอกระบบใช้ดอกแพงก็ต้องยอมเพราะคำว่าติดแบ็คลิสต์​

ผู้เขียนอยากใช้พื้นที่นี้ส่งสารของพี่ๆ เหล่านี้ว่ามีคนรับฟังพวกพี่ๆ​ แต่การจะแก้ปัญหาของพี่ๆ มันอาจไม่ง่ายเพราะ
1.สถาบันการเงินไม่ใช่เจ้าของเงินที่จะเอามาให้กู้​ เงินนั้นมีเจ้าของที่เรียกว่าผู้ฝากเงิน​ หากการให้กู้ออกไปแล้วมีความเสียหายหรือไม่เป็นไปตามกฎระเบียบกติกา​ คนตัดสินใจจะถูกลงโทษ​
2.ประเด็นเรื่องการที่คนในสังคมบางกลุ่มเข้าไม่ถึงแหล่งเงินในระบบ​ เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นทั่วโลก​ ไม่ว่าประเทศ​ยากดีมีจน​ รูปแบบของระบบ​ การออกแบบกติกา​ ในโลกเสรีนิยม​ โลกของทุนนิยม​ ที่นับถือทุนเป็นใหญ่​ มือใครยาวสาวได้สาวเอา​ น้ำขึ้นให้รีบตัก​ ชนชั้นใดออกระเบียบกฎเกณฑ์​มาก็เพื่อชนชั้นนั้น​ เป็นสิ่งที่เกิดมานานนับสิบๆ ปี​ คนกลางที่ปราศจากผลประโยชน์​ผูกพันคือความหวังเดียวของการเข้ามาสร้างกติกาการจัดสรรและกระจายกันแบบใหม่​ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จะทำสิ่งนี้ได้นั้น​ อำนาจต้องมากพอ​ ใจต้องแข็งพอ​ ความทนทานต่อแรงกดดันต้องมากพอ​ สุดท้ายคือคนในองค์กร​ที่จะทำหน้าที่แก้ไขต้องลงแขกมาทำเรื่องแบบนี้แบบติดดินมากๆ

แม้องค์กร​ของเครดิตบูโรจะทำหน้าที่ได้เพียงเป็นแหล่งข้อมูล​ประวัติการชำระหนี้​ ไม่มีอำนาจไปดลบันดาลให้ใครยอมปล่อยกู้ให้ใคร​ ไม่มีอำนาจไปออกกฎกติกาในการบริหารจัดการความเสี่ยง​ สิ่งที่ทำได้คือพยายามหาความรู้​ หาแหล่งข้อมูล​ใหม่ๆ ที่นอกระบบในปัจจุบัน​ เพื่อเอามาแสดงให้คนหรือสถาบันที่ดูแลเงินฝากได้นำเอาใช้วิเคราะห์นิสัยใจคอ​ พฤติกรรม​ มาตอบโจทย์​ว่า​ พี่ๆเขามีจุดใดที่จะมีคุณสมบัติเพียงพอเหมาะสมในการได้รับการอนุมัติให้นำเอาเงินฝากของอีกคนหนึ่งมาใช้ในการดำเนินชีวิต​ ในการดำเนินธุรกิจ​ เอาไปใช้แทนหนี้นอกระบบ​ ทุกๆ คำตอบที่มีอยู่และกำลังค้นหาคือ
1.ความสามารถในการหารายได้จากไหนมาชำระหนี้ที่ยื่นขอกู้
2.ความตั้งใจในการชำระหนี้​ อะไรคือข้อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่เบี้ยวหนี้

อยากเรียกร้องกลับไปยังพี่ๆ ว่า​ ไม่จ้องหยุดด่าก็ได้​ แต่หลังจากด่าว่าแล้ว​ หายเหนื่อยแล้ว​ ลองเสนอทางออกในมุมของพี่ๆ ออกมาให้ใครต่อใครเอาไปทำต่อได้ไหมดังความเห็นของพี่คนนี้ครับ… น่าจะแจกเงินบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เป็นหนี้สถาบันการเงินสักคนละแสน…หรือ… กรรมกรได้วันละ 300 วันหยุดไม่ได้ เฉลี่ยเดือนละ 7,200 หักค่าเช่าบ้านค่าน้ำค่าไฟ เหลือ เท่าไหร่ เอา 30 หาร ขอรถเมล์ดีๆ ขึ้นกับทางเท้าดีๆให้เดิน ยังหมดสิทธิ์….

ผู้เขียนขอขอบคุณ​ “กาแฟดำ” อีกครั้งที่ทำให้ผู้เขียนได้รับบททดสอบ​ เอาใจเขามาใส่ใจเรา​ อย่าใส่อารมณ์​กลับไป​ เพราะมันไม่ได้ช่วยในใครดีขึ้นในสังคมระบบไทยในวันนี้

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “ปัญหาโลกแตก ทำไมอนุมัติบัตรเครดิต…แต่ไม่อนุมัติสินเชื่อบ้าน” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 4 กันยายน 2563

ปัญหาโลกแตก ทำไมอนุมัติบัตรเครดิต…แต่ไม่อนุมัติสินเชื่อบ้าน

มีท่านสุภาพบุรษท่านหนึ่งสอบถามเข้ามาที่เครดิตบูโรว่า เมื่อประมาณ 4 ปีก่อนเขาเคยมีประวัติค้างชำระค่างวด แต่ตอนนี้ ในเวลานี้ที่เป็นปัจจุบันปิดยอดชำระไปหมดแล้ว และไม่เคยทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ที่หมายถึงการขอสินเชื่ออีกเลยนับจากนั้น แต่เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ท่านที่เคยมีประวัติค้างชำระรายนี้ ได้อ้างว่าลองยื่นเอกสารทำบัตรเครดิตดู ตามความเป็นจริงก็คือ การยื่นเรื่องขอมีบัตรเครดิตแหละครับ ไม่จำเป็นต้องอ้างว่าลองยื่นก็ได้ (อันนี้เป็นลักษณะที่เครดิตบูโรจะพบบ่อย ทั้งที่จะพูดความจริงไปก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย) ปรากฏว่า ผ่านการอนุมัติจากบริษัทบัตรเครดิตได้รับวงเงิน100,000 บาท ต่อมาท่านผู้นี้อยากได้บ้าน จึงไปยื่นเรื่องขอกู้บ้าน แต่ธนาคารไม่อนุมัติเลยมีข้อสงสัยว่าทำบัตรเครดิตผ่าน แต่เพราะเหตุใดจึงทำเรื่องกู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน จึงได้สอบถามคนเดินเอกสาร ได้รับการบอกว่าธนาคารตรวจสอบเจอประวัติการชำระไม่ดีในอดีต จึงถามเข้ามาที่เครดิตบูโรเพื่อทราบว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกันแน่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เครดิตบูโร มีข้อแนะนำดังนี้ครับ

1. สินเชื่อที่ขอนั้นต่างกันครับ บัตรเครดิต กับสินเชื่อบ้านไม่เหมือนกัน ทั้งเรื่องเงื่อนไข วงเงิน ระยะเวลา หลักประกัน เอามาเทียบไม่ได้

2. สถาบันที่ให้สินเชื่อเป็นคนละประเภท ระหว่างบริษัทบัตรเครดิตกับธนาคารต่างกันครับ เปรียบเหมือนวัดกับโรงพยาบาลต่างเป็นที่พึ่งของคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่มีลักษณะการให้บริการ เงื่อนไข และกระบวนการรักษาที่แตกต่างกันครับ

3. หากตัวเรามีประวัติค้างชำระ กล่าวคือไม่ได้ทำตามสัญญาแล้วต่อมากลับมาจ่ายเราเรียกลักษณะนี้ว่า คนเคยค้างต่อมากลับมาชำระหนี้ปิดบัญชี ปัจจุบันมีสถานะเป็นปิดบัญชี กรณีนี้ ท่านสุภาพบุรุษนี้ไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่าได้ปิดบัญชีไปเมื่อไร ดังนั้นหากได้ชำระหนิ้ปิดบัญชีไปแล้ว นับแต่วันที่ปิดบัญชีเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลไว้ตามที่กฎหมายกำหนดในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และจะแจ้งสถานะความเป็นหนี้ในเดือนสุดท้ายที่มีการชำระหนี้เสร็จของบัญชีที่เป็นปัญหานั้นว่าปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์บาท

4. เครดิตบูโรขอเรียนว่า การที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ได้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งอาจแตกต่างกันไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับเครดิตบูโร และ เครดิตบูโรก็ไม่มีส่วนในการพิจารณา หรือ มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้ ทั้งนี้สถาบันการเงินจะพิจารณาคุณสมบัติของลูกค้าตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด เช่น รายได้ อาชีพ อายุงาน ประวัติการออม เป็นต้น เครดิตบูโรเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งในการนำประกอบการพิจารณาสินเชื่อเท่านั้น ทั้งนี้หากสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง พบว่าท่านสุภาพบุรุษท่านนี้เคยเป็นคนเคยค้าง แต่ต่อมาได้ชำระหนี้ปิดบัญชีแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่งว่าจะเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากน้อยเพียงใด

5. กรณีของท่านผู้ถามรายนี้แจ้งว่าได้สอบถามกับคนเดินเอกสาร และบอกว่าธนาคารตรวจเจอประวัติการชำระไม่ดี เครดิตบูโรขอเรียนว่า ท่านควรจะถามผู้จัดการสาขาที่ท่านไปยื่นขอสินเชื่อ เปรียบเหมือนเราเอาลูกไปฝากเข้าโรงเรียน เมื่อไม่อนุมัติควรถาม ผอ. ไม่ใช่ไปถามภารโรงครับ มันจะไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง

6. ในกรณีที่สถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ หากท่านต้องการทราบเหตุผล สามารถติดต่อกับสาขา หรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินที่ท่านติดต่อในการยื่นขอสินเชื่อโดยตรง เพื่อขอทราบเหตุผล และหากแจ้งว่าเป็นเหตุผลเพราะติดเครดิตบูโรแล้ว สถาบันการเงินนั้นต้องออกเป็นหนังสือแจ้งให้ท่านทราบเท่านั้น กฎหมายเครดิตบูโรห้ามแจ้งด้วยวาจา และท่านสามารถนำหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน มายื่นคำขอตรวจสอบเครดิตบูโรของตัวเอง พร้อมกับบัตรประชาชนตัวเครดิตบูโรได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล consumer@ncb.co.th

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ชนะการรบในด้านสุขภาพกับ​ COVID​-19 ตอนนี้ได้เวลาแตกหักสงครามที่เรื่องรักษาการจ้างงาน : วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2563

ชนะการรบในด้านสุขภาพกับ​ COVID​-19 ตอนนี้ได้เวลาแตกหักสงครามที่เรื่องรักษาการจ้างงาน

เป็นไปอย่างที่พูดคุยกันมาตลอดในทุกวงการว่า​ จากช่วงแรกในการต่อสู้กับไวรัสโควิด 19 ระบาดคือ​ กลัวตายมาก่อนกลัวอด​ แต่เมื่อการ์ดไม่ตก​ ผ่านการชนะการรบด้านสาธารณสุข​มาแล้ว​ สนามรบหลักต่อไปที่ต้องชนะสงครามคือ​ การรักษาการจ้างงานไว้ให้ได้​ ปัจจัยหลักที่จะรักษาฐานที่มั่นนี้ได้คือระบบเศรษฐกิจ​ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า​ แต่ด้วยโครงสร้างที่หัวรถลากระบบเศรษฐกิจ​ของเราคือ​ การส่งออกและการท่องเที่ยว​ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยว​อยู่ในภาวะสลบ​ ขณะที่การส่งออกก็ต้องลดลงเพราะเหตุคนมันมีปัญหากันทั้งโลก​ คนซื้อของมันไม่อยู่​ในฐานะที่จะซื้อมาก​ ซื้อถี่​ ซื้อทุกอย่างได้เหมือนเมื่อก่อน​

ข้างฝั่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้รายงานสถานการณ์การว่างงาน ผู้ว่างงานในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 อยู่ที่ 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากอัตราการว่างงานในช่วงปกติ และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2552 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งก็มาจากปัจจัยที่เกิดจากสถานที่ทำงานเลิก หยุด ปิดกิจการหรือหมดสัญญาจ้าง เพราะเหตุว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
ที่น่าสนใจมากๆคือสถานประกอบการที่ขอใช้กฎหมายคือกลุ่มที่ขอหยุดชั่วคราว แต่ยังต้องรับภาระในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างอยู่ 7.9 แสนราย และผู้จบการศึกษาใหม่ในปี 2563 ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคน มีแนวโน้มจะหางานทำได้ยากขึ้น หรืออาจต้องใช้ระยะเวลาในการหางานนานกว่าปกติเพราะอย่างนี้ทำให้คาดหมายกันในระยะต่อไปว่าจากยอดผู้ว่างงานมันจะไม่หยุดที่​ 7.5 แสนคนแต่จะเลย​ 1 ล้านคนไปหา​ 2 ล้านคน​ ซึ่งจะส่งผลรุนแรงมาก

อีกเรื่องที่จะทับถมปัญหาคนว่างงานและขาดรายได้แบบเฉียบพลันหรือ​ Income shock คือหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้พักการชำระหนี้​ ชะลอการชำระหนี้​ การเลื่อน/ปรับตารางการชำระหนี้ที่ทำกันในปริมาณถึง​เกือบ​ 13 ล้านบัญชีสินเชื่อ​ มูลหนี้เกือบ​ 7 ล้านล้านบาท​ ได้สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2563 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบแบบว่าไม่มีงานทำ​ ไม่มีรายได้​ จะประคองตัวเองจากเงินเก็บเงินออมได้นานเท่าใด​ โอกาสจะผิดชำระหนี้ ท้ายที่สุดหนี้เสียก็จะเพิ่ม​ ซึ่งคืออันตรายต่อระบบสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก​ ดังนั้นความคาดหวังที่ว่าเครื่องยนต์​ทางด้านการบริโภคของภาคเอกชนจะวิ่งได้เร็วขึ้น​ แรงขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐ​กิจคงจะหวังแทบไม่ได้​ ภาคการผลิตที่จะผลิตเอามาขายให้ผู้บริโภคก็พลอยต้องหงอยเหงา​ตามไปด้วยในที่สุด​ พิษการว่างงานคือสิ่งที่ร้ายแรงมาก​ แทบทุกประเทศต่างเกรงกลัวปัญหานี้เป็นที่สุด​

ในประเทศเราจะสามารถเอาแหล่งเงินจากภาครัฐที่ดอกเบี้ยถูกมากๆ เช่น​ 0.01% มาส่งต่อให้สถาบันการเงินรัฐและเอกชนเอาไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเก่าที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (แต่อาจมีตำหนิบ้าง) ในราคาสัก​ 2% แต่จำนวนเงินกู้จะเท่ากับเงินเดือนพนักงานที่กิจการสัญญาว่าจะจ้างต่อไปอีกอย่างน้อย​ 12-24 เดือน​ ไม่มีการดูหลักประกัน​ เลิกพูดเรื่อง​ free cash flow เน้นแต่เพียงว่ากิจการนั้นยังไม่ปิด​ อาจจัดให้มีการค้ำประกันเงินกู้โดยสถาบันการเงินของรัฐในสัดส่วน​ 70% ของวงเงินกู้​ เมื่อกิจการได้เงินกู้ก็จะต้องผ่านเงินกู้นั้นลงไปที่รายจ่ายเงินเดือนพนักงาน/ลูกจ้าง​ เงินที่จ่ายนั้นให้ผ่านระบบ​ pay roll เงินเดือนซึ่งเป็นบริการของธนาคารอยู่แล้ว​ ภาษาชาวบ้านคือเจ้าของกิจการได้ตัวเลขการเป็นหนี้ไปแต่เงินวนเข้ากระเป๋าเงินของบรรดาพนักงาน/ลูกจ้างโดยตรง​ ทีนี้พอเงินเข้าบัญชี​ของพนักงาน/ลูกจ้าง​ ธนาคารก็หักเงินไว้ไม่เกิน​ 50% ของรายได้ของเดือนของพนักงาน/ลูกจ้างท่านนั้นเพื่อกระจายเงินนั้นไปให้กับเจ้าหนี้สินเชื่อบ้าน​ บัตรเครดิต​ เช่าซื้อรถยนต์​ และสินเชื่อส่วนบุคคล​ เราเรียกตรงนี้ว่า​ หักหน้าซองเงินเดือน​ 50% เข้าซองเงินเดือนไปส่วนที่เหลือ​ อย่างน้อยพนักงาน/ลูกจ้างที่มีเงินไปจ่ายหนี้ได้ก็น่าจะยังถือว่าเขาเป็นลูกหนี้ที่รักษาคำพูดในการจ่ายหนี้

กลับมาที่ลูกหนี้กิจการที่เป็นนายจ้าง​ กิจการก็ต้องมีการผลิตหนือให้บริการ​ ทีนี้ก็ตีค่าสินค้าหรือบริการนั้นๆเป็นตัวเงิน​ แล้วเอาสินค้าและบริการเหล่านั้นมาจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน​เช่น​ เบเกอรี่กล่องนี้​ เมนูนี้เท่ากับ​ 1,000 บาท​ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เมื่อรับของที่แลกกับการจ่ายดอกเบี้ยมาก็ให้นำเอาสินค้า/บริการเหล่านั้นมาขายใน​ Online platform ที่ตนเองสร้างเพื่อเชื่อมประสานไปยังลูกค้าตนเองอีกกลุ่มที่มีเงิน​ ได้รับผลกระทบน้อย​ เขาเหล่านั้นจะได้บริโภคหรือชอปปิงสินค้า/บริการที่ถูกนำไปขัดดอกขาย​ ไม่มีอะไรต้องน่าอาย​ในฝั่งลูกหนี้ เพราะเมื่อเราจะไม่รอด​ กำลังจะหมดหวัง​ แต่ของๆ เราที่ผลิตหรือบริการ​ มีค่าเอาไปแลกกับดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ได้​ ทำไมจะไม่ทำ​ คนมีเงินที่มาซื้อของๆ เราก็จะรู้จักเรามากขึ้น​

สรุปแล้วในศึกตัดสินครั้งนี้​ ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งให้มีมาตรการรักษาการจ้างงานเป็นเรื่องสำคัญสุด เพื่อให้ครัวเรือนสามารถเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน และในท้ายที่สุดผลกระทบที่อาจจะมีต่อระบบการเงินของประเทศจะได้ผ่อนหนักเป็นเบา​ หรือเราทุกคนจะสามารถหักดิบเอาชนะสงครามนี้เสียเลย..

ขอบคุณที่ติดตามครับ

เรื่องน่าอ่าน