Blog Page 85

Checklist สุขภาพการเงินที่ต้องใส่ใจ สู่ชีวิตดี ๆ ที่สร้างได้เอง

Checklist สุขภาพการเงินที่ต้องใส่ใจ สู่ชีวิตดี ๆ ที่สร้างได้เอง

เมื่อพูดถึงเรื่องของสุขภาพ เชื่อว่าในชีวิตของใครหลาย ๆ คนต้องเคยเจ็บป่วยมาไม่มากก็น้อย และไม่ว่าในชีวิตจะเจ็บป่วยหนัก-เบาแค่ไหน เราก็ยังสามารถรักษาให้หายได้อย่างทันที แต่ถ้าหากเจ็บป่วยทางการเงินล่ะคะ จะรักษาให้หายได้อย่างไร 

ถ้าไม่อยากให้การเงินของเราจะต้องเจ็บป่วย จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสุขภาพทางการเงินที่ดีด้วยวิธีเหล่านี้ค่ะ 

  1. ต้องมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน

หากอยากรู้ว่าสุขภาพการเงินตอนนี้เป็นอย่างไร สิ่งแรกที่ควรเช็กนั่นก็คือ สินทรัพย์ที่มีในปัจจุบันมีอยู่เท่าไหร่ โดยเราสามารถคำนวณได้จากสูตร ดังนี้

หนี้สิน – สินทรัพย์ =  สินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ตัวอย่าง นายมั่งมี มีสินทรัพย์ 7,500,000 บาท มีหนี้สิน 2,000,000 บาท
ดังนั้น สินทรัพย์ปัจจุบันของนายมั่นคงเท่ากับ 7,500,000 – 2,000,000 = 5,500,000 บาท

และ หากต้องการรู้ว่าสัดส่วนของสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินหรือไม่สามารถคำนวณได้ ดังนี้
อายุ * รายได้ต่อปี * 10% = สินทรัพย์ที่ควรมี

ตัวอย่าง นายมั่งมี มีอายุ 35 ปี รายได้ต่อเดือน 60,000 บาท
ดังนั้น นายมั่งมีควรมีสินทรัพย์อยู่ที่ 35 * (60,000*12) * 10% = 2,520,000 บาท
และจากสินทรัพย์ปัจจุบันกับสินทรัพย์สุทธิที่ควรมี คือ 5,500,000 : 2,520,000
แสดงว่านายมั่งมี มีความมั่นคงสุทธิ มากกว่า สินทรัพย์ที่ควรมี จึงถือว่านายมั่งมี มีสุขภาพการเงินที่ดี

การเช็กเช่นนี้ถือเป็นการประเมินการเงินขั้นพื้นฐานที่จะสามารถนำไปปรับวางแผนทางการเงินของเราต่อไปได้

  1. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี

สภาพคล่องทางการเงินที่ดี หมายถึงการมีเงินสดหมุนเวียนใช้ตลอดเวลาแม้กระทั่งยามฉุกเฉิน การมีเงินสดมาก ๆ จึงเป็นตัวช่วยในการวัดสภาพคล่องได้ดี

แต่เราต้องรู้ด้วยว่า เรามีสินทรัพย์ที่จะนำมาเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดได้มากน้อยแค่ไหน เช่น เงินสด เงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และฝากประจำ กองทุนรวมอย่างกองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนตลาดเงิน เป็นต้น หากเรามีสินทรัพย์สภาพคล่องเท่ากับรายจ่ายประจำ 3-6 เดือนขึ้นไป ก็ถือว่ามีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีค่ะ

  1. มีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

การลงทุนอย่างสม่ำเสมอแสดงว่าเรามีวินัยทางการออมเงินที่ดี และยิ่งถ้าตัวเลขในการออมเงินสูงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการวางแผนจัดสรรการเงินที่เหมาะสมในแต่ละเดือนมากเท่านั้น

เพราะฉะนั้นถ้าอยากมีสุขภาพทางการเงินที่ดี เราจึงจำเป็นต้องมีการจัดสรรสัดส่วนการออมเงินอย่างเหมาะสม ซึ่งสัดส่วนการออมเงินที่แนะนำคือ ควรออมอย่างน้อยเดือนละ 10-20% ของรายได้ต่อเดือนค่ะ

อย่างไรก็ตามการตรวจสุขภาพทางการเงิน สามารถตรวจเองได้ ไม่ต้องมีหมอมาวินิจฉัยอาการ ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าจะต้องตรวจด้วยรูปแบบหรือวิธีไหน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินของเราว่าเป็นอย่างไร มีสินทรัพย์เพียงพอหรือไม่ หากมีสินทรัพย์เหลือมากก็แสดงว่ามีสุขภาพดี แต่หากมีน้อยก็ต้องเร่งรักษาเยียวยาชีวิตกันต่อไปนั่นเองค่ะ

กำจัดหนี้เสียให้อยู่หมัด ด้วยเทคนิค “4 หยุด”

กำจัดหนี้เสียให้อยู่หมัด ด้วยเทคนิค “4 หยุด”

กำจัดหนี้เสีย ให้อยู่หมัดด้วยเทคนิค “4 หยุด”

หนี้ แค่คำ ๆ เดียวก็อาจสะเทือนใจใครหลาย ๆ คน เพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การใช้จ่ายที่สะดวก รวดเร็ว เห็นของที่ถูกใจ ก็ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทันที จนบางครั้งการใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดหนี้โดยไม่รู้ตัว

และเพื่อไม่ให้ตนเองต้องก่อหนี้เพิ่มไปมากกว่านี้ เราจึงจำเป็นต้องรีบกำจัด หนี้เสีย ที่ไม่เป็นประโยชน์ในชีวิตโดยเร็วที่สุดด้วยวิธี 4 หยุด

  1. หยุดรายจ่ายฟุ่มเฟือย

รายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย คือรายจ่ายที่หมดไปสิ่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่สามารถนำมาต่อยอดให้เงินงอกเงยได้ ซึ่งรายจ่ายส่วนนี้เรามักจะใช้จ่ายโดยลืมคิดหน้าคิดหลัง เมื่อรู้ตัวอีกทีเราก็หมดเงินไปกับสิ่งนั้นจนไม่มีเงินเก็บหรืออย่างหนักคือกลายเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว

และเพื่อให้เราสามารถ ‘หยุด’ รายจ่ายฟุ่มเฟือยเหล่านั้นได้คือ เราต้องมองเห็นภาพรวมของรายจ่ายทั้งหมด ซึ่งอาจจะเป็นการทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละวัน เพื่อให้เห็นภาพรวมและจัดการวางแผนการเงินใหม่ ลดการสร้างหนี้สินอย่างไม่จำเป็นนั่นเองค่ะ

  1. หยุดความคิดว่าผ่อน 0% เป็นเรื่องที่คุ้มค่า

ผ่อน 0% คือการที่เราซื้อสินค้าแบบผ่อนจ่ายรายเดือนโดยที่ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งมองผิวเผินก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่พอเอาเข้าจริง การผ่อน 0% ก็คือการจ่ายเงินให้ร้านแบบเต็มจำนวนโดยที่ไม่เสียดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยของบัตรเครดิตจากการผ่อนเรายังคงต้องจ่ายตามเดิมอยู่ดี

ยิ่งหากใครที่ผ่อนของหลาย ๆ ชิ้นต่อเดือน บอกเลยว่าอันตรายค่ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นการผ่อนแบบ 0% แต่หากยอดชำระหนี้บัตรเครดิตสูงเกินกว่าเราจะจ่ายเต็มจำนวนได้ การผ่อนแบบ 0% ก็ไม่ช่วยอะไรแล้วล่ะค่ะ แถมยิ่งผ่อนมาก ชำระหนี้ไม่ตรงตามเวลา ก็เสี่ยงให้เกิดหนี้และเครดิตพังได้เช่นกัน

  1. หยุดการแยกหนี้ไว้หลาย ๆ ที่

หนี้เสีย ไม่ใช่เงินเก็บการที่เราจะนำเอาหนี้ไปแยกไว้หลาย ๆ ที่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง บางคนอาจะคิดว่า การมีหนี้ไว้หลาย ๆ ที่ ไม่เสียหาย ชำระหนี้ไปทีละเดือนเดี๋ยวก็หมด แต่อย่าลืมเรื่องดอกเบี้ยที่ตามมาในแต่ละที่ที่เราเป็นหนี้ด้วยนะคะ อาจจะเป็นเงินไม่น้อยเลย

เพราะฉะนั้นวิธีการกำจัดหนี้ให้ได้อย่างรวดเร็วอยู่หมัด เราจึงจำเป็นต้องนำหนี้มารวมไว้อยู่ที่ที่เดียว แล้วกู้สถาบันทางการเงินเพื่อมาปิดหนี้ จากนั้นถึงค่อยชำระหนี้คืนในแต่ละเดือนกับสถาบันทางการเงินนั้น ๆ วิธีนี้นอกจากจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง เครดิตของเราก็ไม่เสียอีกด้วยนะคะ

  1. หยุดพฤติกรรม ปรับการใช้เงินใหม่

หากรู้ว่ามีพฤติกรรมหรือนิสัยการใช้เงินที่ไม่ดี ก็ต้องเร่งปรับวินัยทางการเงินใหม่ ลด ละ เลิก ไม่ว่าจะการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น การใช้เงินเกินรายได้ของตนเอง หรือแม้กระทั่งการผ่อนแบบ 0% ในสินค้าหลาย ๆ ชิ้น เพื่อหยุดการก่อหนี้สินก้อนโตในอนาคต

อย่างไรก็ตามการหยุดหนี้เสียที่ดีที่สุดนั่นก็คือการยอมรับข้อเสียเรื่องนิสัยทางการเงินของตนเอง และเริ่มปรับนิสัยและวินัยทางการเงินใหม่ หาวิธีการจัดสรรวางแผนการเงินให้เหมาะสม แล้วหนี้จะหมดไปอย่างแน่นอนค่ะ

จบใหม่ การเงินไม่เจ็บ! วิธีบริหารเงินให้เหลือเก็บฉบับ First Jobber

จบใหม่ การเงินไม่เจ็บ! วิธีบริหารเงินให้เหลือเก็บฉบับ First Jobber

จบใหม่ การเงินไม่เจ็บ! วิธีบริหารเงินให้เหลือเก็บฉบับ First Jobber

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถือได้ว่าส่งผลกระทบกับหลาย ๆ คน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่เพิ่งได้งานทำ แล้วต้องมาอยู่ในช่วงที่ค่าครองชีพสูง และรายจ่ายที่สวนทางกับรายรับ จนสุดท้ายไม่เหลือเงินให้เก็บ

และเพื่อไม่ให้เงินก้อนแรกของเด็กจบใหม่ต้องสลายหายไป เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนทางการเงินให้ได้อย่างรอบคอบนั่นเองค่ะ

  1. สังเกตพฤติกรรมการใช้เงินของตนเอง

โดยสามารถสังเกตตนเองได้ตั้งแต่ในช่วงวัยเรียน เมื่อได้รับเงินมาจากครอบครัว เรามักจะใช้จ่ายไปกับอะไร มีการจัดสรรเงินในแต่ละครั้งที่ได้รับเงินหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เราสามารถนำมาวิเคราะห์และปรับพฤติกรรมการใช้เงินของเราเมื่อเข้าสู่วัยทำงานได้

  1. จัดทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย

หากการสังเกตยังมองไม่เห็นภาพรวม การทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายนั้น จะช่วยให้เห็นภาพได้มากขึ้น เพราะเปรียบเสมือนเป็นการลิสต์รายจ่ายออกมาทั้งหมด ช่วยจัดการรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ เช่น ค่าบริการส่วนเกินที่ไม่จำเป็น ค่ากาแฟช่วงพักกลางวัน เป็นต้น หากเราสามารถประหยัดเงินในส่วนนี้ได้ นอกจากจะเป็นการเซฟเงินแล้วยังเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

  1. จัดสรรการเงินในแต่ละเดือน

เมื่อเห็นภาพรวมของพฤติกรรมการใช้เงินของตนเองแล้ว เราก็สามารถจัดสรร แบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายและเงินออมได้อย่างเหมาะสม เช่น 15% สำหรับการลงทุน 50% สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 20% สำหรับเงินออมฉุกเฉิน 15% สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวหรือสร้างความสุข เป็นต้น

  1. ศึกษาและหาแหล่งลงทุนที่ใช่

แม้ว่าในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้อาจไม่ใช่ช่วงที่เหมาะกับการลงทุนเท่าไหร่ แต่การที่ปล่อยในเงินนอนอยู่ในบัญชีเฉย ๆ ก็ดูจะน่าเสียดาย ดังนั้นเราจึงควรมองหาช่องทางในการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง หรือเริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เงินงอกเงยขึ้นมา เช่น เงินฝากประจำแบบปลอดภาษี ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หุ้น กองทุนรวม เป็นต้น

ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ การวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญ ยิ่งถ้าเรามีวินัยและเป้าหมายทางการเงินอย่างชัดเจน จากเงินก้อนแรกก็เปลี่ยนเป็นเงินก้อนโตได้ไม่ยากค่ะ

ทำไมเครดิตบูโร ถึงเก็บประวัติการชำระหนี้ไว้ 3ปี ?

ทำไมเครดิตบูโร ถึงเก็บประวัติการชำระหนี้ไว้ 3ปี ?

ทำไมเครดิตบูโรต้องเก็บข้อมูลไว้ 3 ปี?
บางคนอาจคิดว่านานไป แต่ 3 ปีคือ “มาตรฐานขั้นต่ำ” ที่บังคับใช้กันทั่วโลก เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น ตามมาดูกันค่ะ

เพราะมีความจำเป็นต้องทำตามหลักการ 3 ประการ ว่าด้วย “มาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลเครดิต”

ได้แก่…

1. มีระยะเวลาเพียงพอที่จะใช้ในการวิเคราะห์ความตั้งใจในการชำระหนี้

ว่าคนที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ได้ปฏิบัติกับสัญญาเจ้าหนี้รายก่อน ๆ อย่างไร เช่น ชำระปกติ ค้างชำระ ค้างนาน ค้างสั้น ค้างแล้วรีบเคลียร์ หรือค้างแล้วลากยาว เป็นต้น

2. หน่วยงานที่กำหนดระยะเวลาการเก็บข้อมูลเครดิต (3 ปี) คือ “คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต”

โดยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน

3. ธนาคารโลก ได้วางหลักการให้การเก็บข้อมูลขั้นต่ำคือประมาณ 3 ปี

แต่ละประเทศบังคับระยะเวลาต่างกัน ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ เช่น ประเทศเอธิโอเปียจะเก็บข้อมูลถึง 5 ปี ส่วนประเทศไทยได้ตัดสินแล้วว่าเก็บ 3 ปี (เท่ากับสิงคโปร์)

ถ้าเคยค้างชำระ แต่จ่ายหนี้ครบแล้ว และชำระหนี้ตรงเวลา ไม่ค้างชำระเลยต่อเนื่อง 3 ปี (36 เดือน) ประวัติค้างชำระก็จะหายไปจากเครดิตบูโร

สิ่งที่ควรทำเมื่อถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน

สิ่งที่ควรทำเมื่อถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน

เมื่อรู้ตัวว่าขอสินเชื่อไม่ผ่าน ผู้กู้ควรขอ “หนังสือชี้แจงเหตุผลกรณีปฏิเสธสินเชื่อ” จากสถาบันการเงินที่ปฏิเสธเราค่ะ

การปฏิเสธ​สินเชื่อนั้นสถาบันการเงินสามารถทำได้​ แต่มีกฏระเบียบวางไว้ใน​ 2 กฏหมาย ได้แก่

1. ถ้าบอกว่าไม่เกี่ยวกับเครดิต​บู​โร​ จะเข้ากฎหมายสถาบันการเงิน​ มีแบงก์​ชาติเป็นคนดูแล​ การที่สถาบันการเงินจะชี้แจงหรือออกหนังสือก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น

2. ถ้าปฏิเสธ​การให้สินเชื่อโดยอ้างเป็นเพราะเครดิต​บู​โร กฎหมายที่คุ้มครองคือ “พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูล​เครดิต พ.ศ. 2545”

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้อไหน ผู้ขอสินเชื่อมีสิทธิ์ที่จะได้รับหนังสือชี้แจงเหตุผล หากสถาบันการเงินปฏิเสธ ไม่ยอมออกให้ สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213

หากได้รับหนังสือชี้แจง แล้วพบว่าเป็นข้อ 2 คือเกิดจากเครดิตบูโร สามารถมาตรวจเครดิตบูโรได้ฟรี ภายใน 30 วันนับจากที่ได้รับหนังสือชี้แจง โดยเตรียมแค่หนังสือปฏิเสธสินเชื่อ และบัตรประชาชนตัวจริงของตนเอง มายื่นตรวจได้ฟรี ไม่มีค่าบริการ ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง ดังนี้

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (สำนักงานใหญ่) อาคาร 2 ชั้น 2
⏰ จันทร์-ศุกร์ | 9.00-16.30 น.

? เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (BTS อารีย์ ทางออก 1)
⏰ จันทร์-ศุกร์ | 9.00-18.00 น.

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี)
⏰จันทร์-ศุกร์ | 9.00-18.00 น.

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ภายในสถานี)
⏰ จันทร์-อาทิตย์ | 9.00-18.00 น.

? ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม
⏰ จันทร์-อาทิตย์ | 9.00-18.00 น.

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ข้อเสนอนายธนาคารกลางที่เอาลูกหนี้มาอยู่ในสมการแก้หนี้ (ตอนที่​ 2) : วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563

ข้อเสนอนายธนาคารกลางที่เอาลูกหนี้มาอยู่ในสมการแก้หนี้ (ตอนที่​ 2)

ต่อเนื่องจากบทความครั้งที่แล้วที่เป็นตอนที่​ 1 ผู้เขียนอยากบอกว่าเนื้อหาในตอนที่​ 2 จะเริ่มจากการลองคิดสำรวจข้อมูลและทบทวนความคิดว่าที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในหลากหลายอาชีพนั้นเราได้พลาดไปในจุดใดบ้างอะไรที่เราคิดว่าใช่แต่แท้จริงแล้วในมุมของคนที่เป็นลูกหนี้แล้วมันคือไม่ใช่เพราะบางครั้งคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นหนี้​ (การเป็นหนี้ค้างชำระการหลุดไปเป็นหนี้เสียหรือเป็นลูกหนี้​ NPL​ การเป็นลูกหนี้ที่เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้)​ดันต้องมาเป็นคนคิดหาหนทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินและต้องไปออกกฎกติการะเบียบต่างๆให้กับทางฝั่งเจ้าหนี้ผู้เขียนจึงขอนำเอาความคิดหนึ่งที่ได้รับมาจากคนของธนาคารกลางที่มีแนวคิดนอกกรอบสวนทางกับแบบธรรมเนียมเดิมอย่างมีเหตุและผลเราลองมาคิด ถกเถียงและนำไปขยายผลหากเราทั้งหลายเชื่อว่ามันจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ประเด็นมีดังนี้ครับ

1. ปัญหาหนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากลูกหนี้ แต่เกิดจากเจ้าหนี้ขยายความว่า ในบางครั้งการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาจนสร้างภาระที่หนักมากให้ลูกหนี้ต้องปฏิบัติเมื่อเกิดการพลาดท่าในการชำระเช่นคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระอัตราที่สูงมากและให้ใช้อัตราดอกเบี้ยนั้นกับยอดหนี้ที่เหลืออยู่ทั้งหมดซึ่งลึกๆลูกหนี้ในใจลูกหนี้ก็บอกว่าหนี้ยอดนั้นไม่ได้ผิดนัดชำระ แต่ข้อสัญญาไปกำหนดว่าเมื่อผิดนัดชำระ งวดใดงวดหนึ่งแล้วไม่จ่ายให้ถือว่าหนี้ทั้งก้อนถึงกำหนดพอลูกหนี้จ่ายคืนไม่ได้มันคือผิดนัดชำระทั้งก้อนซึ่งมันใหญ่มากทีนี้พอจะพยายามจ่ายคืนให้กลับมาเป็นปกติก็ดันต้องจ่ายที่ค้างชำระทั้งหมดนั้นก่อนมันก็เป็นปัญหาไก่กับไข่อะไรต้องทำก่อน ประเด็นนี้พูดกันมากระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้และคนกลางหรือปัญหาเหตุแห่งการเป็นหนี้ของคุณครูที่ได้ให้ความเห็นหลังจากคลิปเรื่องหนี้สินของคุณครูที่กำลังมีการพูดจาหาทางแก้เร่งด่วนในเวลานี้

2. ไม่ได้ตั้งต้นจาก อัตราส่วนความสามารถในการรับชำระหนี้หรือ​ DSR (Debt Service Ratio) แต่ตั้งต้นจาก ยอดรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายและการชำระหนี้สินหรือ​ residual income ขยายความว่าบางทีในบางกลุ่มรายได้อาจควรต้องกำหนดกติกาว่าในการพิจารณาสินเชื่อจะต้องให้ลูกหนี้มียอดเงินคงเหลือไว้ใช้ยังชีพไม่น้อยกว่า​ 30% ของรายได้เช่นรายได้​ 30,000 บาทต่อเดือนการจ่ายหนี้คืนทุกบัญชีแล้วจะต้องมีเงินเหลือเพื่อไปยังชีพไม่น้อยกว่า​ 30% ของรายได้ซึ่งก็เท่ากับ​ 9,000บาทคิดเป็น​ 300บาทต่อวันเป็นต้น

3. การรวบรวมหนี้เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้หนี้ครู แก้สำเร็จขยายความว่าวิธีคิดคือหาเจ้ามือใหม่เป็นเจ้าหนี้ที่กวาดเอาหนี้ของลูกหนี้ที่มีไว้ในที่ต่างๆมารวมไว้ที่เดียวแล้วก็ให้ผ่อนกับเจ้าหนี้คนนั้นรายเดียวคำถามคือแล้วตัวลูกหนี้จะไปก่อหนี้กับใครคนอื่นอีกหรือไม่กับเจ้าหนี้ที่รวมหนี้นั้นจะเอาแหล่งเงินทุนจากไหนมาใช้รวมหนี้ยิ่งหนี้มีหลักประกันด้วยแล้วจะคุยกันยากมากๆดังนั้นวิธีการปัจจุบันคือการยุบหนี้หมายความว่าให้หาสินทรัพย์มาขายแล้วนำเงินมาชำระหนี้จากนั้นก็ทุบหนี้ให้แบนคือขยายงวดการผ่อนชำระออกไปให้ยาวนานทั้งนี้เพื่อให้ยอดจ่ายเงินงวดรายเดือนมันลดต่ำลงมาแน่นอนครับการเป็นคนมีภาระหนี้นั้นจะยาวนานมากขึ้น

4.เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเป็นต้องใช้ยามเกษียนตอนแก่เท่านั้นขยายความว่าแนวคิดคืออาจไม่อยู่รอใช้เงินก้อนนี้ที่ถือเป็นเรื่องการออมภาคบังคับที่ใช้ได้ตอนเกษียณเพราะหากเราจะเอาออกมาบางส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่เพื่อเอามายุบหนี้หรือตัดชำระต้นเงินที่คนคนนั้นใัม่ไหวมันจะช่วยเขาในเวลานี้ให้มีอายุพอจนไปถึงวันนั้นเพื่อจะได้ใช้เงินที่เขาออมเอาไว้หลังเกษียณ

5.หุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์จะขายได้ก็ต่อเมื่อลาออกจากสมาชิกเท่านั้นขยายความว่าถ้าเราเป็นลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์อาจต้องขอให้มีการยืดหยุ่นข้อบังคับให้ลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถขายหุ้นที่เขาซื้อเพิ่มและนำส่งเงินชำระค่าหุ้นทุกเดือนนั้นมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เขามีกับสหกรณ์ออมทรัพย์การ​ off set นี้จะทำเพียงบางส่วนเท่านั้นสาระสำคัญคือลดยอดหนี้ลงมาให้เหมาะสมกับสุขภาพทางการเงินของลูกหนี้

ทั้ง​5เรื่องนี้ส่วนหนึ่งคือการทำแบบเดิมๆแล้วบางทีอาจไม่มีใครชอบเลยก็ได้แต่หากเราต้องการผลลัพธ์ที่แตกต่างเราจะไม่มีทางได้ถ้าเราไปทำเหมือนเดิม

ลองคิดพิจารณาบทความตอนที่​ 2 นี้ด้วยนะครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ข้อเสนอนายธนาคารกลางที่เอาลูกหนี้มาอยู่ในสมการแก้หนี้ (ตอนที่​ 1) : วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2563

ข้อเสนอนายธนาคารกลางที่เอาลูกหนี้มาอยู่ในสมการแก้หนี้ (ตอนที่​ 1)

 

สืบเนื่องจากแนวทางในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลังมีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจที่ได้มีการเผยแพร่ตามสื่อมวลชนโฟกัสเฉพาะในส่วนของการเร่งแก้ไขปัญหาการทำมาหากินและการจัดการภาระหนี้สินในระยะเร่งด่วนเนื่องเพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจวันนี้ต้องบอกว่าอยู่ในอาการ
(1)
ขายของไม่ดี
(2)
ไม่มีกำไร
(3)
ใช้หนี้ไม่ทัน

พิจารณาจากแถลงการณ์ของท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่​ 13​ สิงหาคม​ 2563​ ใจความสำคัญที่ว่า
ผมขอเริ่มต้นด้วยการบอกว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ จะไม่หายไปได้ในเร็ววัน พวกเราต้องอยู่บนโลกของความเป็นจริง ในเมื่อผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ต่างคาดการณ์ว่า ทุกคนคงจะต้องทนทุกข์กับวิกฤตินี้ ไปจนถึงปลายปีหน้า

เมื่อทั้งโลกต้องเจ็บหนักกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าครั้งไหน ประเทศไทยก็ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสนี้ด้วยเพราะเศรษฐกิจไทย เชื่อมอยู่กับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เราพึ่งพานักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และเราทำการค้าขายกับทั่วทุกมุมโลก เมื่อเราอยู่ในพายุวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังโหมกระหน่ำ เราเองก็ไม่สามารถหนีไปไหนได้ ซึ่งดูแล้วว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ ก็ต่อเมื่อประเทศอื่นๆ ในโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วย

แนวทางที่ท่านนายกรัฐมนตรีมอบให้แก่รัฐมนตรีมี 5 อย่าง ที่ต้องทำเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยคือ
งานที่ 1: เราต้องเยียวยาความเจ็บปวดที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ต่อไปอีกโดยเฉพาะกลุ่ม SME และประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องตกงานในช่วงที่ผ่านมา

งานที่ 2: เราต้องแก้ปัญหาต่างๆ ในแนวทางที่จะช่วยประเทศ อย่างยั่งยืน โดยต้องตระหนักอยู่เสมอว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน ซึ่งผมรู้ดีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เงินเยียวยากันไปตลอด ดังนั้นเราต้องเริ่มทำโครงการที่จริงจัง ทำให้ได้ ที่จะช่วยแก้ปัญหาปัจจุบัน นอกจากนั้น ต้องเตรียมการที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างยั่งยืน เมื่อโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราต้องทำโครงการที่ถูกต้อง ตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ และเราจะต้องใช้เงินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และให้ความช่วยเหลือไปถึงคนที่ต้องการจริงๆ โดยใช้กลไก โครงสร้าง คณะกรรมการ และศูนย์บริหารสถานการณ์ที่มีการทำงานบูรณาการกัน ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

งานที่ 3: เราต้องสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจต่างๆ ยังคงการจ้างงานลูกจ้างของเขาต่อไป และให้ธุรกิจต่างๆ ใช้ช่วงเวลานี้พลิกองค์กรของตัวเองให้กลายเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น

งานที่ 4: เราต้องมีแผนเรื่องการจ้างงานคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่จำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน พวกเขาาจำเป็นต้องมีงานทำ

งานที่5: คือ งานที่เกี่ยวกับการทำงานต่างๆ เหล่านี้ จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกคนในสังคมมีบทบาทหน้าที่ ที่จะช่วยกันนำพาประเทศ ก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปให้ได้

ผมได้มีโอกาสรับฟังและเห็นความตั้งใจของนักเรียนทุนธนาคารกลางที่ทำงานแบบติดดินด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนด้วยวิธีการคุยกับคนที่เดือดร้อนฟังคนที่มีปัญหาเอาผู้คนที่เป็นหนี้มาเป็นศูนย์กลางไม่คิดเองเออเองแต่ใช้การฟังความรอบด้านไม่เริ่มต้นการคิดด้วยการเลือกเครื่องมือก่อนเหมือนแบบแผนที่ทำๆกันมาเขามีข้อเสนอที่น่าสนใจควรแก่การนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ครับ

การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว

ปัจจุบันคนไทยที่เป็นมนุษย์เงินเดือน พอเงินเดือนออกและหักเงินจ่ายเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ ส่วนที่เหลือสำหรับจับจ่ายใช้สอยเหลือน้อยจนแทบไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เงินเดือนออกไม่กี่วัน สังเกตดูไปไหนก็จะเงียบเหงา แม้แต่ในกรุงเทพฯ ช่วงกลางคืนไม่ต่างจากเมืองร้าง ก็เพราะเงินหมด ดังนั้น ถ้าสามารถทำให้เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆเป็นธรรมมากขึ้น เรียกเก็บหนี้ในลักษณะผ่อนปรนให้ประชาชนมีเงินเหลือพอจะใช้ดำรงชีพ ก็เท่าเอากำลังซื้อบางส่วนกลับไปให้ประชาชน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเดือดร้อน ยังถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุดที่ไม่ต้องใช้งบประมาณแม้สักบาทเดียว

ในด้านหนึ่ง วิกฤติโควิด-19 ทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แย่อยู่แล้วทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก แต่ในขาวมีดำ ในดำมีขาว ท่ามกลางวิกฤติก็ยังมีโอกาส เพราะทุกภาคส่วนตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมของคนไทยที่ต้องช่วยกันแก้ไข

หลักการที่ต้องยึดถือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน

ประการแรก​ : รายได้ของลูกหนี้ในแต่ละเดือนหลังจากใช้หนี้เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ แล้วต้องมีเงินเหลือพอที่จะดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี

ประการที่สอง​ : เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆจะยังได้รับชำระหนี้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่จะผ่อนปรนและเป็นธรรม(ย้ำว่าต้องเป็นธรรม)​มากขึ้น

ประการที่สาม​ : มาตรการประกอบด้วยการเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น การสร้างวินัยและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จำเป็นในระยะยาว

วิธีคิดที่สำคัญคือ​ (1)กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ไม่ว่าจะหนี้อะไร คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ปัญหาหนี้สินนั้นเกิดจากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ได้เคยตกลงกับเจ้าหนี้ และมักจะด่วนสรุปว่าลูกหนี้นั้นแหละคือต้นตอของปัญหา โดยอาจจะไม่ได้ตระหนักว่าการที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยทำสัญญากันไว้นั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวอาจจะไม่เป็นธรรม หรือเป็นข้อตกลงที่เจ้าหนี้เป็นผู้กำหนดขึ้นมาแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงในลักษณะที่เอาเปรียบ หรือข้อตกลงในลักษณะที่ไม่มีทางที่ลูกหนี้จะปฏิบัติได้ แต่ลูกหนี้ต้องยอมรับในสัญญาดังกล่าว เพราะไม่มีทางเลือก

การอนุมานว่าปัจจัยความบกพร่องของลูกหนี้ เช่น ความไม่มีวินัย การใช้จ่ายเกินตัว ฟุ้งเฟ้อ หน้าใหญ่ ไม่ประหยัดมัธยัสถ์ เป็นปัจจัยรากฐานที่ทำให้คนมีหนี้ และทำให้ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาหนี้สินมีลักษณะที่ว่าแก้เท่าไรก็ไม่หายสักที ไม่มีความคืบหน้าที่จับต้องได้ชัดเจน  ถ้าเราเริ่มกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตำแหน่ง ก็จะทำให้ตำแหน่งของกระดุมเม็ดต่อๆไปติดผิดไปด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเริ่มตั้งโจทย์จากมองว่าต้นตอของปัญหามาจากปัจจัยฝั่งของลูกหนี้แต่อย่างเดียว ก็จะทำให้พลาดโอกาสที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ในมุมอื่นที่แท้จริงอาจเป็นปัจจัยรากฐานที่สร้างปัญหา เช่น การแข่งขันกันของเจ้าหนี้ในการปล่อยกู้ การไม่มีระบบข้อมูลกลางที่บูรณาการที่จะสามารถบอกได้ว่าลูกหนี้แต่ละคน เวลาใดเวลาหนึ่ง มีหนี้สินทั้งหมดเท่าไรกันแน่ คนให้กู้ก็จะประเมินภาพรวมหนี้น้อยกว่าความเป็นจริงถ้าเอาเรื่องธุรกิจเป็นตัวตั้ง

ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ทุกรายเรียกเก็บหนี้ในแต่ละเดือนพร้อมกัน อาการจึงเริ่มสำแดงให้เห็นว่า เงินเดือน/รายได้ทั้งหมดเมื่อหักจ่ายเจ้าหนี้ครบทุกรายแล้ว ส่วนที่เหลือถึงลูกหนี้จริงๆนั้นมีเงินเหลือสุทธิน้อยกว่า 30 % คือถ้าเงินเดือน 30,000 ก็จะเหลือน้อยกว่า 9,000 บาท คิดเป็นรายได้แค่วันละ​ 300บาทซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเงินเดือน/รายได้ที่เหลือไม่พอที่จะใช้ดำรงชีพทันที

โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ถ้าเราจะก้าวข้ามวลีที่กล่าวหากันว่า “ช่วยเจ้าสัว” เงินน่าจะถึงมือ​ SME ดีขึ้นไหม : วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2563

ถ้าเราจะก้าวข้ามวลีที่กล่าวหากันว่าช่วยเจ้าสัวเงินน่าจะถึงมือ​ SME ดีขึ้นไหม

บทความของผู้เขียนวันนี้ต้องเรียนว่าคิดหลายรอบใจหนึ่งก็กลัวทัวร์ลงอีกใจหนึ่งก็มองว่ามันคือการลองเสนอแบบนอกกรอบแต่เมื่อตัดสินใจเอาความเดือดร้อนของคนค้าขายที่รอเงินสดมาหมุนเวียนแบบปลาหมอติดในดินที่กำลังจะแห้งผากและแหล่งน้ำบ่อน้อยก็ยังไม่มาเพราะประตูน้ำที่เขื่อนใหญ่ห้าพันล้านบาทยังหากุญแจประตูน้ำมาเปิดอยู่เวลานี้ข้อมูลที่ผู้เขียนขอยกมาและให้เครดิตกับสถาบันแห่งนี้คือ

1. ข่าวที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุหนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME​) อยู่ในโปรแกรมพักชำระหนี้กว่า 5.45 แสนล้านบาท เป็นลูกหนี้จัดชั้น Stage2 หรือหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention : SM) ก่อนที่จะรับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีความยากลำบากในระยะต่อไปเหนื่อย ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะเป็นจะเป็นหนี้เสียหรือไม่ เหตุเพราะในจำนวนนี้ มีทั้งรายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และรายที่ไม่ได้รับผลกระทบ และหวังใจว่ารายที่ไม่รับกระทบจากโควิด-19 จะกลับมา

2. ข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งล่าสุด ได้ส่งสัญญาณเร่งให้สถาบันการเงินรีบดำเนินการเชิงรุกในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจโดยพิจารณาจากความสอดคล้องกับกระแสรายได้ในบริบทใหม่ หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่โควิด-19​ มีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้นในประเทศไทยและยังมีเรื่องการเร่งใส่สภาพคล่องให้กับธุรกิจและกิจการต่างๆตามเป้าหมายของนโยบายภาษาชาวบ้านคือเงินสดถึงมือคนที่กำลังจะหมดแรงในการหมุนเงินเวลานี้เพราะระยะเวลาการแช่แข็งหนี้หรือ​ Debt payment holiday กำลังจะหมดและจบสิ้นในเดือนกันยายนนี้​ (สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ได้ขยายโครงการถึงต้นปี​ 2564) ซึ่งเป็นความท้าทายมาก

3. มาตรการร่วมใจพี่ใหญ่ช่วยน้องๆ ตัวจิ๋วท่านผู้บริหารสถาบันวิจัยกล่าวได้อย่างน่าคิดว่าในประเทศยังมีสภาพคล่อง และถ้าคนยังต้องกินต้องใช้ หากสามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ ก็จะดี และธุรกิจรายใหญ่ถ้าเข้ามาช่วยธุรกิจรายย่อย โดยเฉพาะการจ่ายเงินสดทันที เมื่อได้รับสินค้าจากรายย่อยขึ้นหิ้งขายหรือเมื่อส่งของถึงโกดังรอกระจายสินค้าเหตุเพราะหากธุรกิจรายใหญ่มีศักยภาพในการขอวงเงินกับธนาคารได้ดีกว่ามาก

คำกล่าวที่น่าคิดคือ​ “ถ้าเริ่มจากผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือระหว่างซัพพลายเช่นกัน เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ และอีกหลายกลุ่มในหอการค้า ถ้ารายใหญ่รับสินค้าแล้ว จ่ายเงินสดให้ซัพพลายเชนทันที อาจจะหักเงิน 2% (ภาษาบัญชีคือส่วนลดเงินสด)​โดยไม่ต้องมีเทอม 120 หรือ 180 วัน ทำแบบนี้ รายย่อยจะรอดได้… ” เพราะไม่ต้องรอเช็คค่าขายของได้เงินมาหมุนเร็วขึ้น

กลไกแบบนี้น่าคิดนะครับเพราะเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจขนาดใหญ่คือคนตัวเล็กตัวน้อยถ้าเงินสดถูกอัดฉีดเข้าไปตรงกลางแบบไม่ต้องรอวันที่​ 120,​ 180 หลังการส่งมอบของแต่ได้เงินเลยไม่เกิน​ 3วันหลังการส่งของเงินมาจากไหนผู้เขียนคิดว่าก็ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้​ Soft​ loan ให้รายใหญ่แล้วคุมการกระจายเงินผ่านระบบ​ Business cash management หรือการจ่ายเช็ค การโอนเงินเพราะกิจการรายใหญ่มีระบบบัญชีเจ้าหนี้รายย่อยที่ต้องจ่ายอยู่แล้วคนที่กำกับดูแลก็เข้ามาตรวจสอบการจัดสรรและการกระจายเงินผ่านข้อมูลได้ตลอดเวลา

สิ่งที่ต้องทนคือจะมีมนุษย์พันธุ์แซะพันธุ์ที่หาเรื่องมาบอกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ได้กำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้บ้างล่ะวาทะกรรมแบบนี้ก็เหมือนอุ้มเจ้าสัวบ้างล่ะพวกชอบพูดแต่ไม่รับผิดชอบไม่บอกว่าแล้วจะให้ทำอย่างไรพวกที่ปั้นปัญหาในทุกทางออกพวกนักร้องในทุกแห่งหนคือสิ่งที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้ เพราะถ้ายังติดกันตรงนี้คนที่เขาค้าขายโดยสุจริตก็จะเหี่ยวแห้งตายลงไปประเด็นสุดท้ายกลไกส่งผ่านเงินนี้ไม่ต้องให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำเงินกู้ให้รายใหญ่เก็บกำลัง บสย. ไปช่วยตอนรายย่อยต้องกลับมาเร่งขยายตัวเพื่อสร้างรายได้มาจ่ายต้นและดอกเบี้ยในช่วงเวลาต่อไปดีกว่าครับ

ขอชื่นชมผู้บริหารหนุ่มสถาบันนี้นะครับถ้าเราคิดแบบเดิมก็ได้คำตอบแบบเดิมถ้าเราต้องการผลแบบใหม่ก็ต้องคิดแบบใหม่มาร่วมกันออกจากกับดักมายาคติทางวาจาของมนุษย์เจ้าปัญหากันเพื่อคนที่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจไทยดีกว่าไหมครับ

เรื่องน่าอ่าน