Blog Page 87

คอลัมน์ เครดิตบูโรคิดเป็นเห็นต่าง : “เป็นหนี้ต้องใช้หนี้” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ 7 สิงหาคม 2563

เป็นหนี้ต้องใช้หนี้

บทความในครั้งนี้จะกล่าวถึงปัญหาและทำความเข้าใจในเรื่องที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นการวางแผนที่จะก่อหนี้ การชำระหนี้ การออม และการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากประชาชนที่มีภาระหนี้สิน และที่ไม่มีหนี้สิน

จากคำถามมากมายผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้พบข้อเท็จจริงจากการบอกเล่าของผู้คนที่ตั้งคำถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ข้อมูลอันเป็นประโยชน์นี้ ไม่ว่าจะเกิดจากความไม่พอใจ ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องที่ถูกต้องของผู้คน “เครดิตบูโร” จะนำมาขยายผลและดำเนินการต่อไป

1. คำถามมีอยู่ว่า เคยเป็นหนี้บัตรกดเงินสด เนื่องจากต้องนำเงินออกมาใช้รักษาตนเองที่เจ็บป่วยกะทันหัน ต่อมาพยายามชำระหนี้แต่ว่าไม่ไหว ได้โทรฯไปเจรจาต่อรองขอให้มีการพิจารณาลดหนี้ลงมาบางส่วน แล้วจะทยอยผ่อนที่เหลือ เมื่อไม่ได้รับคำตอบทางลูกหนี้จึงหยุดจ่าย ย้ายที่ทำมาหากินไปยังที่ใหม่

เมื่อมาคิดถึงเงินที่ค้างก็เกรงว่าจะถูกฟ้องหนี้จากเจ้าหนี้ และพบว่าบัญชีเงินกู้นั้นมีการโอนขายจากสถาบันที่เป็นเจ้าหนี้มายังบริษัทติดตามหนี้สิน หากเป็นตามที่เล่ามาแล้วอยากทราบว่าตนเองจะมีปัญหาอะไรหรือไม่?

2. ก่อนตอบคำถามในรายละเอียดได้สอบถามเป็นประเด็นให้คิดว่า หากไปให้เพื่อนกู้เงิน ต่อมาเพื่อนไม่จ่าย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน แล้วเพื่อนที่ยืมเงินโทรฯหาตัวเจ้าหนี้เพื่อขอลดหนี้ลงมาบ้าง ลองคิดดูว่าเจ้าหนี้จะยอมหรือไม่? คำตอบคือไม่มีใครยอมลดหนี้ให้ เพราะเอาไปเท่าใดก็ต้องใช้หนี้เต็ม บวกกับดอกเบี้ย เรียกว่า ยึดหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา

สรุปเมื่อเราเป็นหนี้ เป็นลูกหนี้ ก็ต้องเข้าใจคนที่เป็นเจ้าหนี้ว่าเขาไปเอาเงินมาจากคนฝากเงินอีกทีหนึ่งมาให้กับคนที่เป็นลูกหนี้ เงินนั้นไม่ใช่เงินของนายธนาคาร หากทำไม่ถูกต้องก็เสี่ยงที่จะถูกดำเนินการทางกฎหมาย

3. ตามข้อเท็จจริงข้อ 1 และข้อ 2 ประวัติของคนที่เป็นลูกหนี้รายนี้ก็ยังอยู่ในเครดิตบูโรและแสดงรายละเอียดว่า บัญชีนี้ถูกโอนขายออกไป แต่ยังมีประวัติว่าค้างชำระ เพราะไม่มีการชำระหนี้ตามสัญญา โอนขายเมื่อ มี.ค. 63 ข้อมูลรายละเอียดทุกบรรทัดของบัญชีนี้จะถูกลบหายออกไปจากระบบในเดือนมี.ค. 66 ลูกหนี้จึงต้องเร่งเจรจากับบริษัทติดตามหนี้ในการชำระหนี้ให้จบ จะมีส่วนลดอย่างไรก็ว่าให้จบ เมื่อชำระหนี้หมดแล้วให้นำเอกสารการปิดบัญชีชำระหนี้มายื่น “เครดิตบูโร” เพื่อให้บันทึกประวัติข้อมูลการชำระหนี้ไว้เหนือบัญชีที่มีการขายออกไป

4.สถาบันการเงินที่เข้ามาดูเขาจะได้เห็นเรื่องว่าบัญชีนี้ปิดไปแล้วอย่างสมบูรณ์นั่นเอง หลักมีอยู่ว่า ลูกหนี้จะมีอิสระทางการเงินก็ต่อเมื่อตนเองหมดหนี้และที่สำคัญต้องมีออมไว้ด้วยในระยะต่อมา จึงจะเรียกว่ามีความมั่นคงในการดำรงชีวิตครับ

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : ใจกลางของเรื่องไวรัสระบาด คือรักษาการจ้างงาน : วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2563

ใจกลางของเรื่องไวรัสระบาด คือรักษาการจ้างงาน

นอกจากคำทักทายของคนในสังคมไทยหลังคำว่า​ “ทานอะไรมาหรือยัง” ก็คือข้อความที่ว่า​ “ทำงานที่ไหนกัน” สังคมเราให้ความสำคัญกับเรื่องการมีงานทำในลักษณะต่างๆ ตามแต่ละยุคสมัยเช่น​ มีงานทำเป็นข้าราชการ​เป็นเจ้าคนนายคน​ มีงานทำเป็นพนักงานธนาคารเพราะมั่นคง​ มีอาชีพเป็นครูผู้คนก็นับถือ​ หรือมีอาชีพเป็นหมอ​ พยาบาลจะได้เป็นที่พึ่งพิงของคนในสังคม​ ดังนั้น​ การมีอาชีพ​ มีหน้าที่ในการงาน​ ที่เราเรียกเป็นภาษาเศรษฐกิจการ​ “ไม่เป็นคนว่างงาน” นอกจากนี้ในความคิดด้านปัจเจกก็จะพบว่า​ คนใดก็ตามที่มีงานทำ​ จะยากดีมีจน​ สูงต่ำดำขาว​ หากมีงานทำ​ มีสัมมาอาชีพแล้ว​ เขาคนนั้นจะมีความภูมิใจในคุณค่า (Value)​ ในตนเอง​ เพราะมันคือความรู้สึกที่เท่าเทียมว่าตัวเราหาเลี้ยงดูตนเองด้วยศักยภาพและความรู้ที่ตนเองมี​ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อย่างไร

หากแต่ว่าข่าวร้ายที่กำลังจะมาเยือนระบบเศรษฐกิจ​และสังคมของเราๆ ท่านๆ ในช่วงปลายปีนี้ก็คือเรื่อง​ การว่างงาน​ อาจไม่ต้องไปหาข้อมูลที่ไหนๆ​ เราๆ ท่านๆ ก็พอจะทราบว่า

1. ผลกระทบของการทำธุรกิจภายใต้เงื่อนไขการรักษามาตรการด้านสาธารณสุข​อย่างเข้มแข็งทำให้ธุรกิจบางประเภทยังคงทำไม่ได้​ หรือทำได้แต่ไม่มีความจำเป็นที่กิจการต้องจ้างในจำนวนเท่าเดิม​ หรือถูกบังคับด้วยจำนวนของลูกค้า​มันไม่มี/มีจำนวนน้อยลงอย่างน่าใจหาย​ ไม่นับว่าก่อนหน้านี้​จะมีการใช้ระบบหุ่นยนต์​เข้ามาแทนที่แล้วระยะหนึ่ง

2. เรามีเด็กจบใหม่​ จบการศึกษา​ ผ่านการศึกษาจากระบบการศึกษาที่ผลิตบุคลากร​ในแต่ละปีสามสี่แสนคน​ เวลานี้ตลาดแรงงานจากฝั่งนายจ้างลดการว่าจ้างงานเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ​ มันก็เกิดส่วนที่จบมาแล้วแต่ยังหางานทำไม่ได้

3. เรามีคนที่ทำงานไม่เต็มที่​จำนวนหนึ่งเช่น​ ทำงานเฉพาะช่วงเวลา​ ทำงานแบบ​ full job แต่ไม่​ full time ยังมีพวกอาชีพอิสระ​ รับจ้างทำของ​ มีงานทำมีรายได้เมื่อมีคนมาว่าจ้างให้ทำงานรายชิ้น​ รายครั้ง​ รายโครงการ​ เป็นต้นอีกจำนวนหนึ่ง

4. นายจ้างที่ได้รับผลกระทบที่หนักมากเวลานี้คือ​ SME​ ที่ทำธุรกิจแต่ได้รับผลกระทบมากจากความต้องการในสินค้าบริการที่ลดลง​ แข่งขันกันมากขึ้น​ หรือถูกบังคับโดยเงื่อนใขสาธารณสุข​ให้บริการด้วยต้นทุนที่สูง​ขึ้น​ ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านการจ้างงานจึงเป็นรายการค่าใช้จ่ายผันแปรที่สูงมากในลำดับต้นๆ ของต้นทุนการทำธุรกิจ​ ถ้าจะลด​ ถ้าจะเลิก​ จะไปต่อหรือไม่ไปต่อ​ ค่าใช้จ่ายตัวนี้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจมากๆ​ ดังนั้นถ้าจะรักษาการจ้างงานตรงนี้ไว้ให้ได้​ ก็ต้องมีกระแสเงินสดมาหมุนเวียนจ่ายให้​ แล้วค่อยไปจ่ายคืนกันในวันหลัง​ คำถามคือเงินตรงนี้จะมาจากไหน​ เพราะตอนเศรษฐ​กิจดีเงินตัวนี้มาจากรายได้จากการขายหรือให้บริการ​

5. ประเด็นสำคัญที่ฝังอยู่ในเรื่องการจ้างงานของคนทำงานคือ​ คนทำงานหรือแรงงานเหล่านั้น​ ท่านมีหนี้ครับ​ ท่านมีหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหน้านี้แล้ว​ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน​ หนี้รถยนต์​ หนี้บัตรเครดิต​ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล​ หนี้การทำเกษตร​ หนี้จากการทำธุรกิจ​ หนี้ที่ก่อมากินใช้​ หนี้ก้อนนี้ยังไม่หายไปไหน​ หนี้ก้อนนี้ได้ถูกแช่แข็งเอาไว้ก่อนในช่วงไวรัสระบาด​ แต่เมื่อช่วงเวลามาตรการ​ผ่อนปรนหมดตั้งแต่มิถุนายนในรอบแรก​ และสิ้นกันยายน​/ตุลาคม​ การชำระห​นี้​ตามเงื่อนไขเดิมก็จะมา​ คำถามคือจะเอารายได้จากไหนมาชำระหนี้ถ้ามีการว่างงาน​ ตกงาน​ ขาดงาน​ ถูกลดงาน​ ลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน​ หรือหยุดงานโดยสมัครใจ​ไม่รับค่าจ้าง​ เพราะถ้าไม่มีมาจ่ายหนี้ตามกำหนดก็จะกลายเป็นหนี้ค้างชำระ​ เป็นหนี้เสียในลำดับถัดไปตามวันเวลาที่จะผ่านไปในแต่ละวัน

มีผู้คนในส่วนของการทำนโยบายได้พยายามคิดค้นหาหนทางที่จะบรรเทาผลกระทบ​ แต่ที่จะแก้ไขปัญหา​แบบให้หมดไปคงจะยากมากๆ​ เราอาจจะเริ่มได้อย่างนี้หรือไม่​

ประการแรก​ สิ่งที่สถาบันการเงินเคยคิดว่าทำไม่ได้คือการให้กู้แก่กิจการเพื่อไปเป็นรายจ่ายโดยยังประมาณการ​รายได้ที่ไม่แน่นอนหรือยังไม่เห็นชัดเจนนั้นไม่ควรทำ​ เวลานี้อาจจะต้องทำและทำมากขึ้นด้วย​ เพราะถ้าไม่ทำแล้วละก็​ กิจการก็ต้องเลิกจ้าง​ ลูกจ้างที่กู้เงินสถาบันการเงินก็จะไม่มีเงินจ่าย​ หนี้เสียก็จะวนกลับมาอยู่ดี

ประการที่สอง​ แหล่งเงินที่จะมาสนับสนุนสถาบันการเงินให้นำไปปล่อยต่อกับกิจการแล้วส่งผ่านสภาพคล่องตัวนี้ไปเป็นรายจ่ายในการจ้างงาน​ ไปเป็นรายได้ของคนทำงาน​ ย้อนกลับไปเป็นเงินที่นำมาชำระหนี้สินของคนทำงาน​ ต้องมีต้นทุนที่ต่ำถึงต่ำมากๆ​ และที่สำคัญต้องยอมรับความเสียหายที่อาจไม่ได้รับคืนไว้ในสัดส่วนที่สูง​ ความคิดที่ว่าเงินหลวงตกน้ำไม่ไหล​ ตกไฟไม่ไหม้อาจต้องหยุดคิดเอาไว้ชั่วคราวก่อน

ประการที่สาม​ ขนาดของจำนวนเงินและระยะเวลาที่ต้องทำจำเป็นต้องมากกว่าที่เคยคิดและยาวนานมากกว่าที่เคยกำหนด​ เพราะเราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์​แต่เราไม่รู้​ว่าอุโมงค์ยาวแค่ไหน​ ต้องใช้เวลาประมาณ​ไหนจึงจะออกจากอุโมงค์​ได้​ ที่สำคัญมากๆ คืออากาศ​ในอุโมงค์ช่วงไหนมีไวรัสมาก​ มากจนทำให้เราต้องหยุดรอไม่สามารถ​เดินต่อไปได้ชั่วขณะ​ในอุโมงค์​ที่ชื่อว่า​ COVID-19​

งานคือเงิน​ เงินคืองาน
บันดาล​สุข​ แต่ที่ทุกข์​
คือวันนี้​ อาจไม่มีงาน
หนี้จะบาน​ ดอกจะเพิ่ม
เพิ่มความทุกข์ สุขไม่มี
ชีวีก็อาจจะยอมจบก่อนกำหนด..

ตรวจเครดิตบูโรบ่อย ๆ ทำให้ขอสินเชื่อยากขึ้น จริงไหม?

ตรวจเครดิตบูโรบ่อย ๆ ทำให้ขอสินเชื่อยากขึ้น จริงไหม?

ตรวจเครดิตบูโรของตัวเองบ่อย ๆ มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของสถาบันการเงิน จริงรึเปล่านะ?
“ไม่จริงค่ะ”

หากเป็นเจ้าของข้อมูล ยื่นขอตรวจข้อมูลเครดิตของตัวเอง ณ ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร โมบายแอป ช่องทางออนไลน์ เคาน์เตอร์ธนาคารสมาชิก หรือที่ทำการไปรษณีย์ จะตรวจกี่ครั้งก็ไม่มีผลในการพิจารณาขอสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิในการขอดูข้อมูลของตนเอง ใครอยากไปตรวจเครดิตบูโรของตัวเอง ก็ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ

เหตุผลดี ๆ ที่เราควรไปตรวจเครดิตบูโรของตัวเอง
✓ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ
✓ เพื่อเช็กว่าเรามี “หนี้งอก” โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่
✓ เพื่อเช็กให้ชัวร์ว่าเรามีประวัติค้างชำระหรือไม่
✓ เพื่อเช็กว่าข้อมูลสินเชื่อของเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้
✓ เพื่อเช็กหลังจากที่จ่ายหนี้หมดแล้ว สถานะข้อมูลเครดิตขึ้นเป็นปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์ถูกต้องหรือไม่
✓ เพื่อเช็กว่าข้อมูลส่วนบุคคลในข้อมูลเครดิตถูกต้องตามความจริงหรือไม่

ตรวจเครดิตบูโรบ่อย ๆ ทำให้ขอสินเชื่อยากขึ้น จริงไหม?

แบล็กลิสต์ มีจริงไหม?

จริงไหม…ที่เขาบอกว่าเรา “ติดแบล็กลิสต์”?
เครดิตบูโร กับความเข้าใจผิดที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ

(1)
หลายคนเคยได้ยินว่าเครดิตบูโรมีการทำ “แบล็กลิสต์” หรืออ้างว่า “ติดแบล็กลิสต์/ติดเครดิตบูโร” เลยกู้สินเชื่อไม่ผ่านสักที แม้ว่าจะปิดหนี้ไปนานแสนนานแล้วก็ตาม

เรื่องนี้ “ไม่เป็นความจริง” การเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร ไม่ได้มีการทำเป็นแบล็กลิสต์ หรือบัญชีดำในฐานข้อมูลแต่อย่างใด

สิ่งที่เครดิตบูโรจัดเก็บ คือข้อมูลการชำระหนี้ตามความเป็นจริง โดยมีสถานะกำกับไว้ ว่ามีการชำระปกติ หรือค้างชำระมาแล้วกี่วัน
• กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่ค้างชำระ รายงานจะแสดงสถานะว่าเป็น “ปกติ”
• กรณีที่มีการผิดนัดชำระ รายงานจะแสดงสถานะ “ค้างชำระ” ในระบบข้อมูลของเครดิตบูโร

รายงานข้อมูลเครดิตเป็นการรายงานประวัติการชำระสินเชื่อตามข้อเท็จจริง แต่ไม่มีการรายงานว่าลูกหนี้คนใดติดแบล็กลิสต์ และเครดิตบูโรไม่มีสิทธิที่จะอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร

โดยเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลย้อนหลังไม่เกิน 3 ปีตามที่กฎหมายกำหนด หากชำระหนี้เก่าที่ค้างครบแล้ว หรือปิดหนี้แล้ว และไม่ได้มีการค้างชำระอีก ผ่านไป 3 ปี (36 เดือน) ประวัติค้างชำระก็จะหายไป

(2)
“รายงานข้อมูลเครดิต” คือข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ โดยจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิต เมื่อมีผู้ขอเรียกดู

ข้อมูลในเครดิตบูโร ประกอบด้วย 2 ส่วน

1) ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนเจ้าของบัญชี เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น

2) ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ ประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต รวมทั้งสถานะบัญชี ว่ามีการชำระตรงเวลาตามปกติหรือไม่ หากมีสินเชื่อหลายบัญชี หรือมีบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ รายงานก็จะมีหลายหน้ามากขึ้น แยกตามแต่ละบัญชีสินเชื่อ

(3)
ทำไมผู้กู้ให้ข้อมูลครบหมดแล้ว ประวัติหนี้เสียก็ไม่มี แต่ยังขอสินเชื่อไม่ผ่าน?

สาเหตุที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ อาจเป็นไปได้หลายอย่าง ได้แก่
• นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งแตกต่างกัน
• ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้
• โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อย
• ภาระหนี้ที่มีอยู่เดิม และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ
• หลักประกันความเสี่ยง เช่น หลักทรัพย์ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกัน

(4)
ถ้ากู้ไม่ผ่าน หรือถูกปฏิเสธสินเชื่อ โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินให้เหตุผลว่า เป็นเพราะข้อมูลในเครดิตบูโรหรือเกี่ยวข้องกับเครดิตบูโร ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องออกหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่ให้กู้หรือปฏิเสธให้สินเชื่อโดยชัดเจนว่า ไม่ให้กู้เพราะข้อมูลของท่านในเครดิตบูโรเป็นอย่างไร เช่น มีข้อมูลแสดงว่ามีประวัติค้างชำระ มีหนี้หรือวงเงินสินเชื่อมากเกินไป เป็นต้น

จากนั้นคุณสามารถนำหนังสือชี้แจงดังกล่าว พร้อมกับบัตรประชาชนตัวจริง มายื่นขอตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตบูโรได้ฟรี ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือค่ะ

แบล็กลิสต์ มีจริงไหม?

“แบล็กลิสต์” คำนี้ได้ยินบ่อย แต่ไม่มีอยู่จริง

แบล็กลิสต์ มีจริงไหม?

เครดิตบูโร เก็บข้อมูลอะไรบ้าง

แบล็กลิสต์ มีจริงไหม?

แล้วทำไมกู้ไม่ผ่าน

แบล็กลิสต์ มีจริงไหม?

ทำอย่างไร ถ้าสถาบันการเงินบอกว่ากู้ไม่ผ่านเพราะเครดิตบูโร

แบล็กลิสต์ มีจริงไหม?

 

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : หน้าผาหนี้ครัวเรือน…ความจริงที่รออยู่ : วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2563

หน้าผาหนี้ครัวเรือน…ความจริงที่รออยู่

ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างยากลำบากของคนที่เป็นหนี้​ ไม่ว่าจะหนี้ที่ก่อเพื่อคุณภาพชีวิต​ หนี้ที่ก่อเพื่อความสะดวก​สบาย​ในชีวิต​ หนี้ที่ก่อเพื่อการประกอบสัมมาอาชีพ​ เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องใช้หนี้​ สัญญาต้องเป็นสัญญา​ หลักการดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานที่ทุกๆ คนต่างยอมรับนับถือมาโดยตลอด​ แต่ว่าเหตุการณ์​ในช่วงหกเดือนแรกของปี​ 2563​ ที่เข้ามาเริ่มจากช่วงปลายปีที่แล้วที่พบเห็นการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศ​จีน​ เหตุการณ์​ต่างๆ ที่เราต้องไม่ลืมซึ่งผู้เขียนขอไล่เรียงสรุปมามีดังนี้
1.ทางการยกระดับมาตรการป้องกัน​ด้านสาธารณสุขในระดับสูงสุด​ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าขีดความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุข​
2.ทางการสั่งให้ระงับการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจ​ ส่งผลให้เกิดการชะงักของการหารายได้ (Income shock) ธุรกิจที่ต้องมีการรับเงินเข้าจ่ายเงินออกมีปัญหาติดขัด​ สะดุด​ การรักษาลูกจ้างพนักงานต้องใช้เงินทุนที่มีจำกัด
3.ทางการจัดชุดมาตรการเยียวยา​ แก้ไขกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเช่นเติมเงิน​ ลดค่าใช้จ่าย​ ท้ายสุดคือรักษาเครดิต​ โดยใช้เงินหลวงในจำนวนที่มากมายแบบไม่เคยพบเห็นมาก่อน​
4.มาตการรักษาเครดิตคือการ “แช่แข็งหนี้” หมายถึงการชะลอการจ่ายเงินต้น​ จ่ายดอกเบี้ย​ ในรูปแบบต่างๆ​ โดยที่ไม่ถือว่าเป็นการ “ผิดนัดชำระ” ไม่มีการรายงานทางลบใดๆ เข้ามาในระบบของเครดิต​บู​โร​ซึ่งมาตรการนี้จะจบสิ้นราวเดือนสิบของปีนี้​ หากแต่ธนาคารของรัฐได้ขยายเวลาไปจนถึงสิ้นปี​ 2563 นี้​ พร้อมไปกับมาตรการเปิดเมืองแบบผ่อนคลายเป็นระยะๆ ตั้งแต่​ระยะ​ 1 ถึงระยะ​ 5 ในปัจจุบันก่อนมีเหตุกระตุกเรื่อง​ทหารอียิปต์​

คำถามคือ​ เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปใช้เกณฑ์​เดิมก่อน​เมษายน​ 2563​ คนที่มีหนี้แต่รายได้ไม่เหมือนเดิมจะมีใครบ้างที่ไปต่อไม่ได้​ ไปต่ออย่างทุลักทุเล​ ไปต่อได้อย่างหืดขึ้นคอ​ หรือไปต่อไม่ได้เพราะตกงานถาวร​ เป็นต้น​ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกำลังประเมินความรุนแรงของปัญหา

คำตอบคือ​ ยังไม่มีใครรู้​ แต่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจในปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น​ ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่ามันมีหลักเกณฑ์​ดังนี้
1.บัญชีสินเชื่อใดมีการค้างชำระเกิน​ 90 วัน​ จะถือว่าเป็นหนี้เสียในภาษาชาวบ้านหรือภาษาทั่วไปคือ​ NPL
2.บัญชีสินเชื่อใดมีการค้างชำระแต่ยังไม่เกิน​ 90 วันจะถือว่าเป็นหนี้ที่ต้องติดตามใกล้ชิด​ ราชการเรียกว่าหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ​ SM (Special Mention)

ทีนี้พิจารณาต่อตามตัวอย่าง​ นาย​ A. มีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลบัญชีหนึ่ง​ มียอดผ่อนต่องวด​ 1,000 บาท​ นาย​ A. ค้างมาแล้วนับวันได้​ 89 วัน​ จนถึงวันที่เขามีมาตรการแช่แข็งหนี้ คิดง่ายๆ คือค้างมาจะครบสามงวดแล้ว​และกำลังจะค้างต่อเป็นงวดที่สี่ พอดีมีมาตรการแช่แข็ง​หนี้เข้ามาทำให้ทุกอย่างไม่มีการขยับ​ วันที่จะนับว่าค้างต่อไปก็สะดุดหยุดลงไว้ก่อน​ วันเวลาก็ลากยาวมาจนสิ้นสุดโครงการถึงสมมุติ​ว่า​ 31​ ธันวาคม​ 2563 พอเปิดปีใหม่มาถ้านาย​ A. และเจ้าหนี้นาย​ A. ไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันหรือ​ DR (Debt Restructuring) เวลาก็จะเริ่มเดินต่อไป​ วันค้างชำระก็จะเริ่มนับอีกครั้งหนึ่ง​ ดังนั้นวันที่​ 1 มกราคม​ 2564 ก็จะเป็นวันที่​ 90 ของการค้างชำระ​ วันที่​ 2 มกราคม​ 2564 ก็จะเป็นวันที่​ 91​ ของการค้างชำระ​ บัญชีสินเชื่อนี้ของนาย​ A. ก็จะถูกกำหนดให้เป็นหนี้เสีย​ ตัวของนาย​ A.​ ก็จะกลายเป็นลูกหนี้ที่ถือว่าไม่ดี​ เป็นลูกหนี้ที่มีอย่างน้อยหนึ่งบัญชีค้างชำระเกิน​ 90 วัน​ นาย​ A. จะตกหน้าผาหนี้ที่ตนเองก่อ​ด้วยเหตุนี้เอง​

ประเด็นเทคนิคดังกล่าวไม่ยากที่จะทำความเข้าใจนะครับ​ แต่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน​ ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างต้องเร่งสำรวจ​ บัญชีสินเชื่อของลูกหนี้ตนที่มา​อยู่​ตรงอีก​ 1-2 วันก็จะตกหน้าผา​ ย้อนถอยไปว่ามีอีกกี่บัญชีสินเชื่อที่มีเวลามากกว่า​ 10 วัน 20 วัน 30 วัน 60 วันก่อนตกหน้าผา​ แล้วก็ต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามขีดความสามารถการจ่ายหนี้ได้จริงๆ ของลูกหนี้​ เพื่อให้เป็นสะพานไม้ก้าวข้ามผ่านหน้าผานี้ไปต่อได้​

ในส่วนของคนที่ตกหน้าผาคือกลายไปเป็นหนี้เสีย​ ตัวลูกหนี้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาหรือ​ TDR (Trouble Debt Restructuring )​ ความต่างจาก​ DR คือมันมีคำว่าปัญหามาต่อท้าย​ แสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงครับ​ ลูกหนี้อาจเดินต่อไปเข้าคลินิกแก้หนี้ถ้าตนเองมีคุณสมบัติครบ​ ซึ่งผู้เขียนสนับสนุนให้เข้าโครงการ​ หรือถ้าลูกหนี้เพิกเฉย​ ไม่ยอมทำอะไรเลย​ เจ้าหนี้ก็คงใช้สิทธิ​เรียกร้องเอาหนี้คืนตามสัญญา​และตามที่กฎหมายกำหนด​ สิ่งสำคัญในเวลานี้คือ​ บัญชีสินเชื่อและจำนวนลูกหนี้ที่อยู่แถวๆ หน้าผาหนี้ครัวเรือนมีจำนวนเท่าใด​ การปรับโครงสร้างหนี้จะทำได้มากและเร็วขนาดไหน​ ตัวลูกหนี้จะมีขีดความสามารถ​ในการชำระหนี้ได้ขนาดไหน​ และการแพร่ระบาดจะรุนแรงซ้ำเติมอีกหรือไม่​
จากวิกฤติ​ทางสาธารณสุข​ สู่วิกฤติ​ทางธุรกิจ​ ต่อไปยังวิกฤติ​ทางเศรษฐกิจ​ มันจะวนมาที่วิกฤติ​สถานบันการเงิน​ วนๆกันไปจนกว่าจะพบคำตอบทางการแพทย์​ ซึ่งก็ยังไม่ทราบวันเวลาที่แน่นอน​

เดินทีละก้าว
ทานข้าวที่ละคำ
ย้ำเตือนตนเองเสมอและ
ให้ละเมอทุกครั้งว่า​ “สงครามยังไม่จบ”
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจติดตามอ่าน

เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) : สถานการณ์ธุรกิจตอนนี้ กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง โรคซ้ำกรรมซัด : วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2563

สถานการณ์ธุรกิจตอนนี้ กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง โรคซ้ำกรรมซัด

บทความวันนี้เกิดขึ้นจากการนั่งใคร่ครวญ​ 2 ประการ​คือ

1.เราได้ผ่านการอยู่กับไวรัส COVID-19 ที่ระบาดมาได้ครึ่งปีแล้ว​ หนทางข้างหน้ายังไม่รู้จะเป็นไปอย่างไร​ การปลอบใจ​ตัวเองว่า​ อึดอีกนิด​ เดี๋ยว​พอได้วัคซีน​แล้ว​ อะไรๆ ก็คงจะทยอย​กลับคืนมา​ ต้องยืนอยู่ให้ถึง​วันนั้นทั้งนี้ทั้งนั้น​ก็เพื่อกำหนดการก้าวเดินต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ในระยะสั้น

2.เรายังจะพึ่งพาและเชื่อในมาตรการต่างๆ ของทุกภาคส่วนที่ลงมาในระบบเศรษฐกิจ​ได้มากน้อยเพียงใด​ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสภาพคล่อง​ ที่ควรต้องมีการจัดสรร​ เติมเต็มและจัดให้มีการกระจายให้ทั่วถึง​ หรือต้องมีกลไกที่ทำให้คนที่อ่อนกำลัง (ไม่ใช่อ่อนแอ​ สู้ไม่ไหว)​ ได้เดินไปต่อ​ คล้ายกับน้ำบ่อน้อยข้างศาลาริมทางยามเดินทางในหน้าร้อนจากเมืองน้อยสู่เมืองใหญ่​ เพราะที่เราๆ ท่านๆ เห็นอยู่ในเวลานี้​ ธุรกิจมันมีลักษณะเป็นปลาหมอแถกเหงือกในโคลนเลนเพื่อตะกายไปให้ถึงน้ำบ่อน้อยก่อนถูกพระอาทิตย์​เผาไหม้จนหมดแรงสิ้นใจ

จากสองประเด็นข้างต้น​ ก็มีคนส่งภาพหอยทากที่ดันไปเดินบนใบมีด จะเดินหน้าก็จะถูกบาด​ จะถอยหลังก็ถูกบาด​ ยิ่งถ้าไปแบบเร็วๆ แผลอาจจะลึกจนเจ็บสาหัส​ แต่ถ้าไม่รีบหลุดออกจากการที่ท้องอยู่บนใบมีด​ ก็จะยิ่งเสี่ยงเช่นกัน​ อาการกลับก็ไม่ได้​ ไปก็ไม่ถึง​ โรคซ้ำกรรมซัด​ วิบัติ​เป็น​ มิเห็นที่พึ่งพาจะอาศัย​

มีนักคิดหลายท่าน​ หลายคนกล่าวไว้ว่า​ ถ้าเศรษฐกิจหรือธุรกิจคิดแบบเก่าคือพยายามเดินหน้าบนใบมีดแบบตัวเบาที่สุด​ ซึ่งก็เหมือนกับการใช้นโยบายหรือการออกมาตรการแบบเดิมๆ​ ตามแนวคิดเดิม​เช่น​ เติมเงินผ่านระบบธนาคารเพื่อไปสู่ภาคธุรกิจจริงในยามที่​ ซัพพลาย​ถูกบังคับให้งดบริการ/งดการเสนอขายด้วยเหตุผลทางสาธารณสุข​ ขณะที่ดีมานด์​ก็ลดลงเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ​หายไป​ รายได้ก็หายไป​ หนี้ยังเท่าเดิม​ เงินที่จะเอามาจับจ่ายใช้สอยก็ลดลงไป​ เงินที่หลวงท่านส่งให้มาก็ไม่พอใช้ในการดำรงชีพเมื่อเทียบกับภาระต่างๆ ที่ไปก่อมาในอดีต​ ดังนั้นนักคิดหลายท่านจึงบอกว่า​ ถ้าหอยทากหรือธุรกิจยอมเสี่ยงเกาะด้านข้างใบมีด​ แล้วพยายามพยุงตัวไปข้างหน้าจะพอได้ไหม ซึ่งก็เปรียบเหมือนการตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ​ ทำในสิ่งที่เวลาปกติไม่มีใครเขาทำกัน​ เพราะอะไร​ ก็เพราะปัญหามันต่างจากเดิมที่เคยมีประสบการณ์​และทฤษฎี​เก่าๆ รองรับ​ อีกประการหนึ่งคือใครๆ ก็ทราบว่าถ้าเราทำแบบเดิมๆ​ แล้วจะให้เกิดผลใหม่ๆ​ มันไม่น่าจะเป็นไปได้​

แนวคิดแนวทาง​ รูปแบบมาตรการที่จะทำเช่น​
1.ตั้งกองทุนมาปล่อยเงินทั้งให้เปล่าและสินเชื่อดอกเบี้ยถูกมาก​ ระยะคืน​ 7-10 ปี​ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำ​ และรัฐต้องรับความเสียหายแน่ๆสัก​ 30-40% ขึ้นไป​ ใครจะตำหนิว่าเดี๋ยวก็จะเหมือนหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในอดีตหรือไม่ก็ไม่ต้องสนใจ​ ตอนนี้ก็ดูเรื่องกฎหมายอย่าให้เข้าตัวว่าทำให้รัฐเสียหายด้วยความประมาทก็พอ​ เพื่อกันบรรดานักร้องต่างๆ

2.ตั้งกองทุนมาซื้อหนี้ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าต้องใช้เวลานานสักระยะหนึ่งถึงจะได้กลับมาทำธุรกิจเพื่อดึงเอาหลักประกันมาดูแลไม่ให้มันเสื่อมสภาพ​ แช่แข็ง​และเก็บบ่มไว้กับ​ บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) จากนั้นพอฟ้าเปิดก็ให้ตัวเจ้าของกิจการหรือลูกหนี้มาซื้อคืนหรือไปกู้มาซื้อกิจการกลับออกไปด้วยราคาบวกค่าเสียโอกาสพอสมน้ำสมเนื้อ​ เหตุเพราะถ้าแช่อยู่บนงบดุลธนาคารก็จะถูกแรงกดดันให้ต้องดำเนินการทางกฎหมาย​บังคับเอากับหลักประกัน

3.สร้างเส้นทางการฟื้นฟูกิจการรายย่อยหรือลูกหนี้ธุรกิจที่ดำเนินการในลักษณะบุคคลธรรมดา​ เพราะในต่างประเทศเขาไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้นจึงจะฟื้นฟูกิจการได้​ บุคคลธรรมดา​น่าจะทำได้​ แต่ต้องมีตัวบทดัดหลังว่าในกรณีที่​พบว่ามีการฉ้อฉล​ พฤติกรรม​โกงเจ้าหนี้ก็ให้มีโทษในทางอาญาหรือถูกพิทักษ์ทรัพย์​เด็ดขาดทันทีเป็นต้น​ เพื่อให้คนตัวเล็ก​ตัวน้อยที่ไปได้ยากเวลานี้มีระยะเวลา​ Automatic stay แก้ไขฐานะธุรกิจตน​ จนกลับมาชำระหนี้ได้​ มีเวลาหายใจจากการถูกเข่ากดคอโดยเจ้าหนี้ได้​ เหตุ​ผลอีกประการหนึ่งคือ​ การประนอมหนี้ก่อนพิจารณาคดี​ในศาล​ เวลานี้ก็มีจำนวนมากพอควรแล้ว​ อีกทั้งการประนอมหนี้นั้นเจ้าหนี้อาจมีอำนาจต่อรองเหนือลูกหนี้ระดับหนึ่งในโลกความเป็นจริง

4.สร้างโรงพยาบาลรักษาหนี้​ เพื่อให้การแก้ไขหนี้​ NPL​ ครอบคลุมสินเชื่อบ้าน​ สินเชื่อรถยนต์​ สินเชื่อส่วนบุคคล​และสินเชื่อบัตรเครดิต​แบบเบ็ดเสร็จ​ โดยแบ่งลักษณะเคสที่จะเข้ามาตามอาการคือ​ มีปัญหาปกติสามารถแก้ไขได้แต่ต้องใช้เวลานาน​ แบบต้องพบแพทย์​เฉพาะทาง​ แบบที่ต้องอยู่ห้อง​ CCU / ICU ที่ต้องมีการตัดสินใจในระดับเลิก/ไม่เลิกการดำเนินกิจการ​ เป็นต้น​ บรรดานักวางแผนกิจการ​ นักวางแผนทางการเงิน​ จะได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือมากขึ้น​ (มีเงื่อนไขห้ามทำธุรกิจขายประกัน​ เชียร์​ซื้อหน่วยลงทุน​ ถ้าใครทำก็ให้ถอดใบอนุญาต)​

5.สร้างงานล้านตำแหน่งที่เรียกว่า​ อาสาสมัคร (อสม.) ดิจิทัล คือให้จ้างงานน้องๆ ที่กำลังจบทั้งสายอาชีพและสายสามัญออกมาทำงานให้กับถิ่นเกิด​ ทำให้คนในท้องถิ่นตนทำงานด้วยความชาญฉลาดมากขึ้นจากเทคโนโลยี​ดิจิทัล​ เป็นคนช่วยทางการเมื่อต้องมีการลงทะเบียนแบบไม่พบเห็นต่อหน้า​ ออกสำรวจเพื่อเก็บข้อมูล​ด้านต่างๆ ส่ง​ War room ส่วนกลาง เป็นต้น

6.จัดงบประมาณ​ให้กับ หน่วยตาวิเศษเห็นนะ​ เพื่อสอดส่องดูแล​ คอยเตือน​ คอยติดตาม​ การลงทุนโครงการต่างๆ ในพื้นที่​ คล้ายๆ แหม่มโพธิ์​ดำในระดับตำบล​ แค่คอยส่งเสียงว่าใคร​ ทำอะไร​ กำลังคิดจะทำอะไร​ ในพื้นที่​ แบบมีประเด็น​ควรจะสงสัย​ ถ้าจะเปรียบเทียบคือ​ สำนักข่าวอิศราในระดับตำบล​นั่นเอง

ยังไม่นับรวมการออกพันธบัตรชั่วนิจ​นิรันดร์​ออกขายเพื่อรองรับความเสียหายโดยมีอายุ​ 100 ปี เป็นต้น​

แน่นอนว่าในแต่ละเรื่องมันมีประเด็นถกเถียง​ แต่ถามว่า​ เถียงกันแล้วไม่ทำ​ หรือไม่เถียงกันแต่ไม่ทำ​ หรือเถียงกันแล้วทำแบบเก่า​ ตอนนี้เรามีกี่ทางเลือก​ กำลังของหอยทากที่ต้องเดินหน้าแต่ด้วยวิธีการห้อยเกาะด้านข้างมีดแล้วเดินหน้าไปมันพอจะนำไปคิดต่อแล้วรีบตัดสินใจดีหรือไม่… เห็นตรงเห็นต่าง​ ล้วนไทยด้วยกัน​ครับ

เรื่องน่าอ่าน